ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย ม.ข. นำหุ่นยนต์ “มอดินแดง1” เปิดตัวสื่อมวลชนครั้งแรก หลังพัฒนาหุ่นยนต์ประดิษฐ์ เพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ถือกล้อง ในการผ่าตัดทางนรีเวชเป็นตัวแรกในประเทศ ซ้ำต้นทุนถูกกว่า อย่างไรก็ตาม รอขั้นตอนพิจารณาด้านจริยธรรม เพื่อใช้ทดลองกับสัตว์ทดลอง ก่อนใช้กับคนไข้จริง
วันนี้(26 มี.ค.)ที่สำนักงานอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยจาก 3คณะวิชา ประกอบด้วย รศ.นพ.โกวิท คำพิทักษ์ จากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ผศ.ดร.สิริวิชญ์ เตชะเจษฏารังษี จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอ.ทรงยศ พงศ์พิมล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยถือกล้องในการผ่าตัดทางนรีเวช สัญชาติไทยเครื่องแรก หรือที่เรียกว่า “มอดินแดง1” (มอดินแดงวัน) โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวมีการนำสมองกลบรรจุเข้าไว้ภายใน เพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ในการ
ผลงานประดิษฐ์กล่าวเป็นการนำองค์ความรู้จากศาสตร์แขนงต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาเป็นงานวิจัยและประดิษฐ์หุ่นยนต์ช่วยถือกล้อง ในการผ่าตัดสัญชาติไทยเครื่องแรกขึ้น เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบ มีลักษณะเป็นแขนกล ช่วยจับกล้องที่ใช้ในการผ่าตัดเคลื่อนไปในมุมต่างๆ ตามที่แพทย์ต้องการได้อย่างแม่นยำ
รศ.นพ.โกวิท คำพิทักษ์ จากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากการผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องช่วยผ่าตัด จะทำให้แพทย์ทำงานง่ายขึ้น แต่ที่ผ่านมา แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต้องสอดกล้องไปในรูเล็กๆ ที่เจาะบนช่องท้องผู้ป่วย แล้วเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ เพื่อการผ่าตัด โดยมองภาพทางจอมอนิเตอร์ แทนการผ่าตัดเปิดหน้าท้องที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและต้องรักษาตัวนานนับเดือน
อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้ช่วยต้องเคลื่อนกล้องด้วยมือ ซึ่งอาจไม่แม่นยำและกระทบกระเทือนผิวบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ผ่าตัดได้ อีกทั้งยังเกิดความเมื่อยล้าเมื่อต้องถือกล้องเป็นเวลานาน
ดังนั้น หุ่นยนต์ที่มีลักษณะเป็นแขนกลช่วยจับกล้อง จะช่วยให้การเคลื่อนกล้องและกำหนดทิศทางง่ายขึ้นการผ่าตัดก็จะสมบูรณ์ขึ้นด้วย
ผศ.ดร.สิริวิชญ์ เตชะเจษฏารังษี ผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ต้นแบบดังกล่าว ระบุถึงลักษณะเด่นของอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า ใช้ง่าย และมีกลไกไม่ซับซ้อนเกินไป ช่วยให้แพทย์ใช้งานได้สะดวก ไม่ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์หลายชิ้นพร้อมๆกันขณะผ่าตัด ซึ่งหากจะเทียบกับอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศแล้วแม้จะใช้งานได้หลากหมายมากกว่า แต่กลไกและวิธีการใช้ง่ายก็ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ไม่สะดวกในการใช้งาน
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ถือกล้องที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะหากซื้ออุปกรณ์ช่วยจับกล้องผ่าตัดจากต่างประเทศจะมีราคาประมาณ 5-10 ล้านบาท
“หุ่นยนต์ที่เราประดิษฐ์ขึ้นนี้ ได้รวมเอาคุณลักษณะเฉพาะที่จำเป็นในการผ่าตัดทางนรีเวชไว้แล้ว จึงสามารถใช้งานได้ดีไม่แพ้เครื่องมือจากต่างประเทศ ที่สำคัญกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน”
ทั้งนี้ ผลงานชิ้นนี้ ทางคณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายพัฒนา ให้สามารถใช้งานได้จริงในโรงพยาบาลทั่วไป โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาด้าน จริยธรรม เพื่อการใช้กับสัตว์ทดลอง และพัฒนาให้มีความเสถียรสูงสุด เนื่องจากเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่จะใช้กับมนุษย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากเครื่องมือสูงสุดต่อไป ซึ่งคาดว่าการทดลองกับสัตว์ทดลองน่าจะเริ่มได้ภายในปลายปีนี้