xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านเพียบ! กทม.เร่งบริการพยาบาลต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านมีจำนวนมากขึ้นปี 2549-2550 พบผู้ป่วยถึง 211,140 คน โดย 42,228 คน ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้เลย ขณะที่ กทม.ตั้งเป้าให้บริการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านเพื่อให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.สร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมดูแลสุขภาวะของชาวกรุงให้ครบทุกบ้านตามทะเบียนราษฎรกว่า 4 ล้านคน

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทมว่า กทม.มีโครงการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน (Home Health Care) ให้บริการแก่ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ซึ่งมีความต้องการการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนเตียงในโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัดทำให้ต้องจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้น ดังนั้น กทม.จะให้บริการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านเป้าหมายครอบคลุมสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.สร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานจากบุคลากรที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านมีจำนวนมากขึ้น โดยในปี 2549 -2550 พบผู้ป่วย 211,140 คน โดย 42,228 คน เป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีอุปกรณ์การแพทย์ติดตัว เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต มีแผล กดทับ ใส่สายให้อาหาร ใส่สายปัสสาวะ ใส่เครื่องช่วยหายใจ เจาะคอ ใช้เครื่องดูดเสมหะ ฉีดอินซูลินที่บ้าน ฯลฯ ซึ่ง กทม.ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปดูแลที่บ้านทั้งหมด 4,839,384 คน คิดเป็น 84.96% ของประชากรตามทะเบียนราษฎรที่อาศัยใน กทม.

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการดำเนินการนั้น พยาบาลวิชาชีพจะเข้าไปสำรวจสุขภาพครอบครัวเพื่อรับการประเมินสุขภาวะ และรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพตามวัย ซึ่งสำรวจแล้ว 4,061,945 คน จาก 4,839,384 คน คิดเป็น 83.94% โดยความถี่การเยี่ยมขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สามารถเยี่ยมดูแลต่อเนื่องที่บ้านได้ 22,475 คน คิดเป็น 10.6% ของประชากรที่จำเป็นต้องดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการพยาบาลให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคต่างๆ และระบบการดูแลที่มีความต่อเนื่องและครบวงจร โดยมีทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาระบบส่งต่อที่บ้าน ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่มีความต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น