xs
xsm
sm
md
lg

เลิกอาย "บั้นท้ายใหญ่" สะสมไขมันแถวนี้ลดเสี่ยงเบาหวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก้นใหญ่ใครว่าไม่ดี แถมเสี่ยงเป็นเบาหวานน้อยกว่า (ภาพจากรอยเตอร์ส)
เอเยนซี/ไซน์เดลี - หลายคนแอบอายที่บั้นท้ายของตัวเองใหญ่เทอะทะ แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละดีแล้ว งานวิจัยชิ้นใหม่จากฮาร์วาร์ดระบุ บรรดาคนที่ “ไว้ก้น” เป็นงานอดิเรก จะเสี่ยงเป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่มีบั้นท้ายเล็กกว่าและพุงโตกว่า ดังนั้นหากยอมให้มีไขมันสะสมทั้งทีขอมีที่ "ก้น" ดีกว่า "พุง"

ก่อนหน้านี้นักวิจัยต่างรู้กันว่าไขมันห่อหุ้มที่อวัยวะภายใน (visceral fat - วิสเซอเริล แฟต) โดยเฉพาะในช่องท้อง หรืออาการ "ลงพุง" ยิ่งมีมากจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานและหัวใจ ขณะที่ผู้มีรูปร่างเหมือนลูกแพร์ ซึ่งมีไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat - ซับคิวเทเนียส แฟต) สะสมที่บั้นท้ายและสะโพก ต้นขากลับเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวน้อยกว่า

อีกทั้งผลการวิจัยล่าสุดก็เผยอย่างแจ่มชัดว่า ไขมันใต้ผิวหนังช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคเกี่ยวเนื่องจากการเผาผลาญอาหาร โดย ดร.โรนัลด์ คาห์น (Ronald Kahn) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า ไขมันดังกล่าวช่วยให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานดีขึ้น โดยฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ทั้งนี้คาห์นได้ตั้งข้อสังเกตต่อไขมันทั้ง 2 ประเภท และเริ่มต้นศึกษาเพื่อหาคำตอบพื้นฐานว่า ไขมันวิสเซอเริล แฟต ที่สะสมในช่องท้องนั้นเป็นอันตราย เพราะตำแหน่งที่มันอยู่ หรือว่าเป็นเพราะลักษณะเฉพาะของไขมันชนิดนี้กันแน่

จากนั้นคาห์นและทีมได้แบ่งการทดลองออกเป็นชุดๆ โดยนำไขมันใต้ผิวหนังของหนูชุดหนึ่งไปปลูกถ่ายในช่องท้องของหนูอีกชุดหนึ่ง ซึ่งหนูกลุ่มนี้มีน้ำหนักลดลงภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยเซลล์ไขมันก็หดเล็กลง อีกทั้งรูปร่างของหนูยังเพรียวบางขึ้นด้วย ทั้งที่ไม่ได้มีการควบคุมอาหารหรือเปลี่ยนกิจกรรมของหนูแต่อย่างใด

ทว่าในทางกลับกัน เมื่อปลูกถ่ายไขมันที่สะสมอยู่บริเวณช่องท้องจากหนูชุดหนึ่ง เข้าไปทั้งในช่องท้อง และใต้ผิวหนังของหนูอีกชุด กลับไม่มีปฎิกิริยาตอบสนองใดๆ

“สิ่งที่เราพบคือเมื่อเราปลูกถ่ายไขมันใต้ผิวหนังเข้าไป การเผาผลาญอาหารของหนูก็ดีขึ้น” คาห์นเผย ซึ่งการค้นพบนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ใช่ไขมันทุกชนิดที่มีผลเสียไปทั้งหมด ซึ่งไขมันใต้ผิวหนังแตกต่างจากไขมันที่ห่อหุ้มอวัยวะภายใน

"ไม่ใช่ว่าไขมันในช่องท้องจะทำให้เกิดผลร้าย แต่ไขมันใต้ผิวหนังต่างหากที่ผลิตผลดี สัตว์ที่มีไขมันใต้ผิวหนังมากจะมีน้ำหนักเหมาะสมกับอายุ มีการตอบสนองต่ออินซูลินในระดับที่ดี และถ้าอินซูลินในร่างกายต่ำเมื่อใด ก็พร้อมที่จะปรับให้เกิดสมดุล" คาห์นอธิบาย

อย่างไรก็ดี จากข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับหลายๆ งานวิจัยก่อนหน้า ที่ระบุถึงการดูดไขมัน ซึ่งก็คือการนำเอาไขมันใต้ผิวหนังออก กลับไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงหรือรักษาอาการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบเผาผลาญเลย อีกทั้งยังเพิ่มอาการดื้ออินซูลิน จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกด้วย

กระนั้นก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่จับตาศึกษาผลดีของไขมันใต้ผิวหนังที่ถูกดูดออกไป ซึ่งคาห์นก็ได้ทำ และระบุข้อค้นพบนี้ลงในวารสารกระบวนการเผาผลาญอาหารระดับเซลล์ "เซลล์ เมตาบอลิซึม" (Cell Metabolism) ฉบับเดือน พ.ค.51

นอกจากนั้นเขายังเผยถึงความเป็นไปได้ว่า ไขมันใต้ผิวหนังน่าจะสร้างฮอร์โมนที่รู้จักกันดีว่า "อะดิโพไคน์" (adipokine) ซึ่งมีผลดีต่อกระบวนการเผาผลาญ โดยคาห์นคาดว่าน่าจะช่วยลดผลร้ายที่กระทำโดยไขมันที่สะสมในช่องท้อง

อย่างไรก็ดี นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดรายนี้ก็ยังคงมุ่งหน้าศึกษาต่อไป เพื่อระบุให้ได้ว่าไขมันใต้ผิวหนังสร้างสารที่เป็นผลดีต่อกระบวนการเผาผลาญได้อย่างไร และค้นหาสารดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นยาที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น