เอพี/เอเอฟพี - ตะลึง “หมึกยักษ์” นักล่าจากโลกใต้ทะเลลึก มีดวงตาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดเท่าลูกบอลชายหาด ส่วนขนาดตัวก็ใหญ่เกินคาด แค่ที่จับได้ก็ใหญ่กว่า 8 เมตรแล้ว นักวิทย์เชื่อยังมีที่มหึมากว่านี้หลายเท่าซุ่มซ่อนอยู่ใต้มหาสมุทรแอนตาร์กติก ทีมวิจัยมุ่งพิสูจน์ซาก ค้นหาอาหารมื้อสุดท้ายที่โดนเขมือบเข้าท้องหมึกยักษ์ตัวนี้
ทีมนักวิทยาศาสตร์หลายชาติร่วมปฏิบัติการไขความลับของ “หมึกยักษ์” (colossal squid) ขนาด 8 เมตร ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ (Museum of New Zealand) กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ หลังถูกจับได้โดยบังเอิญในทะเลแอนตาร์กติกตั้งแต่เมื่อต้นปีที่แล้ว และถูกแช่แข็งเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์มาปีกว่า พบดวงตาขนาดมหึมายังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แบบ นับเป็นดวงตาของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก
เมื่อเดือน ก.พ.50 ที่ผ่านมา ชาวประมงนิวซีแลนด์ถึงกับตื่นตะลึงเมื่อออกทะเลหาปลาเขตมหาสมุทรแอนตาร์กติก แต่กลับจับหมึกยักษ์ขนาดมหึมาได้เป็นของแถม ซึ่งหมึกยักษ์ตัวนี้ถูกนำเป็นเก็บรักษาโดยการแช่แข็งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์นิวซีแลนด์ และนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะได้ฤกษ์นำมาศึกษาหาความลับของสัตว์โลกใต้ทะเลลึกขนาดมหึมาตัวนี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.51 ที่ผ่านมา
หมึกยักษ์ตัวดังกล่าวอยู่ในสปีชีส์ มีโซนิคอทูธิส ฮามิลโทนิ (Mesonychoteuthis hamiltoni) หนักประมาณ 495 กิโลกรัม ความยาวขณะถูกจับได้วัดได้ราว 8 เมตร แต่เมื่อถูกแช่แข็งกลับหดสั้นลงเหลือเพียง 4.2 เมตรเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหมึกยักษ์ชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตและมีขนาดใหญ่ยาวได้มากถึง 14 เมตร และหนักถึง 750 กิโลกรัม
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ชาวประมงเคยจับหมึกยักษ์ชนิดเดียวกันได้ในปี 2546 แต่หมึกยักษ์ตัวนั้นมีน้ำหนักราว 300 กิโลกรัม ซึ่งในครั้งนั้นสตีฟ โอเชีย (Steve O'Shea) นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโอกแลนด์ (Auckland University of Technology) เคยคาดการณ์ไว้ว่า หมึกยักษ์สามารถเติบโตจนมีน้ำหนักได้มากถึง 500 กิโลกรัม แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครเชื่อเขา ซ้ำบางคนยังหัวเราะเยาะด้วย และในครั้งนี้เขาก็อยู่ในทีมพิสูจน์หมึกยักษ์ตัวล่าสุดนี้ด้วย
ส่วนดวงตาของหมึกยักษ์ตัวนี้ก็สร้างความตื่นเต้นให้นักวิทยาศาสตร์ไม่แพ้ขนาดลำตัวของมัน เพราะมีดวงตาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 27 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์ตามีขนาด 10-12 เซนติเมตร แต่นี่เป็นขนาดที่หดเล็กลงแล้วจากการถูกแช่แข็ง แต่ขณะมีชีวิตอยู่ สัตว์ลึกลับจากใต้ทะเลลึกตัวนี้มีดวงตาขนาดใหญ่ถึง 40 เซนติเมตร ใหญ่พอๆ กับลูกบอลชายหาดเลยทีเดียว
ศาสตราจารย์อีริก วอร์แรนต์ (Eric Warrant) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ (University of Lund) ประเทศสวีเดน หนึ่งในทีมพิสูจน์ซากหมึกยักษ์ เผยว่า ดวงตาขนาดนี้เป็นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ และด้วยดวงตาขนาดมหึมานี้จะช่วยให้หมึกยักษ์ล่าเหยื่อได้ดีในถิ่นที่อยู่ใต้ทะเลที่มืดมิดและลึกกว่า 1,000 เมตร ใต้มหาสมุทรแอนตาร์กติก
เมื่อทีมศึกษาวิจัยใช้เอนโดสโคป (endoscope) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสำรวจอวัยวะภายในร่างกาย ก็พบว่าหมึกยักษ์ตัวดังกล่าวเป็นเพศเมีย และพบรังไข่ที่ภายในมีใข่อยู่มากมายนับพันๆ ฟอง
หนวดหมึกเส้นยาว (tentacle) 2 เส้น แต่ละเส้นมีอวัยวะที่เหมือนขอเกี่ยว (hook) อยู่ 25 ขอ ส่วนแขนหมึกหรือหนวดเส้นสั้นจำนวน 8 เส้น แต่ละเส้นก็จะมีขอเกี่ยวอยู่ 19 ขอ ทำหน้าที่จับเหยื่อเข้าสู่ปาก ซึ่งจงอยปาก (beak) ล่างวัดได้ 40 เซนติเมตร ส่วนจงอยปากบนนั้นไม่พบ แต่โดยทั่วไปที่พบในท้องของวาฬหัวทุย (sperm whale) ซึ่งกินหมึกยักษ์เป็นอาหาร มีขนาดใหญ่ถึง 49 เซนติเมตร
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาทางพิสูจน์อยู่ว่าอาหารมื้อสุดท้ายที่เจ้าหมึกยักษ์ตัวนี้เขมือบเข้าไปคืออะไรกันแน่ ส่วนปฏิบัติการไขปริศนานักล่าแห่งท้องทะเลลึกตัวนี้ทางทีมงานจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.tepapa.govt.nz