xs
xsm
sm
md
lg

หอตรวจวัด CO2 เครือข่ายเฝ้าระวังโลกร้อนของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอคอยตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
JGSEE - ตั้งหอตรวจวัด CO2 เหนือป่าราชบุรี หวังเก็บข้อมูลการแลกเปลี่ยน CO2 วัดความสามารถการเป็นแหล่งกักเก็บ CO2 ของผืนป่าเมืองไทย พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายประเทศไทยสู่เครือข่ายระดับภูมิภาค และระดับโลก

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน ดังที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกต่างออกมายืนยันว่าสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไปมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งนี้การศึกษาวงจรการปลดปล่อยและดูดกลับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการติดตามเฝ้าระวังภาวะโลกร้อน ซึ่งการศึกษาสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน และการตั้งหอคอยวัดการแลกเปลี่ยนก๊าซก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถเก็บข้อมูลการเข้าออกของระบบนิเวศโดยรวมได้

ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง อาจารย์ประจำสาขาวิชาสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การวัดอัตราการแลกเปลี่ยนหรือการปลดปล่อยและดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การหาความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ

พื้นที่ที่มีอัตราการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความสำคัญ คือป่าไม้ ที่ถือเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกหลักของโลก ทั้งนี้เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกดูดกลับมากักเก็บในต้นไม้ และดินในป่าไม้ ดังนั้นการศึกษาเฝ้าระวังปริมาณก๊าซที่ผ่านเข้าออกในระบบนิเวศป่าไม้จึงทำให้เราสามารถทราบถึงศักยภาพการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความอ่อนไหวของระบบนิเวศหากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อหาวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

สำหรับโครงการศึกษาการตั้งหอคอยเพื่อวัดธรรมชาติการแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเหนือระบบนิเวศป่าไม้ ที่มี ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง เป็นหัวหน้าโครงการนั้นได้รับการสนับสนุนจาก 3 หน่วยงานคคือ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการเสริมสร้างความรู้ระบบโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยทำการศึกษาในพื้นป่าภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี

“หอคอยที่ตั้งขึ้นนี้มีลักษณะเป็นเสาสูงขึ้นไปจากพื้นดิน 10 เมตร สามารถเก็บข้อมูลการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณป่าเต็งรังที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร และจะเก็บข้อมูลวินาทีละ 10 ครั้ง จึงทำให้ข้อมูลที่ได้มีความละเอียดมาก โดยสถานีตรวจวัดบนหอคอยจะเก็บข้อมูลการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบริเวณป่า อาทิ การสังเคราะห์แสงของต้นไม้ (การดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ) การหายใจของต้นไม้ (การปลดปล่อยสู่บรรยากาศ) รวมไปถึงการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ และการหายใจของจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ”

“ข้อมูลคาร์บอน (carbon flux) ที่ได้จะนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลจากหอคอยอื่นๆทั่วประเทศ กลายเป็นเครือข่ายข้อมูลคาร์บอนของระบบนิเวศในประเทศไทย หรือที่เรียกว่า ThaiFlux network รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูลคาร์บอนไปสู่ระดับภูมิภาค (Asia Flux network) และระดับโลก (Global Flux network) ต่อไป ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทั่วโลก และทราบว่าป่าไม้ทั้งโลกมีความอ่อนไหวอย่างไรเมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป” ผศ.ดร.อำนาจ

ทั้งนี้ ข้อมูลคาร์บอนจากระบบนิเวศป่าไม้ จะสามารถนำมาคำนวณเพื่อให้ทราบถึงศักยภาพการดูดกลับของป่าไม้ หากต้นไม้สังเคราะห์แสงมากและกักเก็บคาร์บอนไว้ในลำต้นในรูปของเนื้อไม้มาก แสดงว่าต้นไม้ในป่ามีศักยภาพในการช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มาก

นอกจากนี้ยังทำให้ทราบถึงความอ่อนไหวของระบบนิเวศหากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หากพบว่าภูมิอากาศ หรือความชื้นเปลี่ยนไปสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะมีการหายใจและการดูดคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้มากเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ รวมไปถึงนำไปใช้ในการทำนายความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากเครือข่ายหอคอยไปคำนวณในแบบจำลองพยากรณ์

ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ทราบได้ทันทีว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ระบบนิเวศป่าไม้จะมีความสามารถในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นหรือน้อยลง และปล่อยออกมาจากแหล่งใด นำไปสู่การทราบถึงความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่า (biomass) การเจริญเติบโตของพืชพรรณในป่า หากสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้จะมีการเจริญเติบโตแย่ลง หรืออาจจะสูญพันธุ์ได้

ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ การมีหอคอยจะช่วยเป็นตัวเฝ้าระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเป็นหลักฐานบอกถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ของประเทศ เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยนักวิจัยต่างชาติ นักวิจัยไทยไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ และไม่ได้พัฒนาศักยภาพของคนไทยด้วย

ดังนั้น การสร้างหอคอยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย จะทำให้ได้ข้อมูลที่นักวิจัยไทยสามารถนำมาใช้ได้ และได้พัฒนาศักยภาพนักวิจัยไทยด้วย นอกจากนี้ หอคอยยังเปิดรับความร่วมมือกับนักวิจัยท่านอื่นให้สามารถนำเครื่องมือตรวจจับชนิดต่างๆ ไปติดไว้ได้ เช่น เครื่องวัดการสะสมของซัลเฟอร์ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจนำไปใช้เชื่อมโยงกันกับเรื่องอื่นๆ ได้ และการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจะเป็นการเติมเต็มข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยให้ครบถ้วน” ผศ.ดร.อำนาจกล่าว.
เครื่องตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยอดหอคอย
กำลังโหลดความคิดเห็น