ประธานสายพลังงาน บัณฑิตร่วมพลังงาน-สิ่งแวดล้อมชี้คนไทยถึงยุค "ต้อง" ประหยัดพลังงานแล้ว เหตุพลังงานไทยเข้าสู่ระดับค่อนข้างวิกฤติ เปรยไทยมีศักยภาพลดใช้พลังงานได้อีก 8% เทียบเท่าน้ำมันดิบ 6.85 ล้านตัน มองโลกในแง่ดีน้ำมันจะเข้าสู่สมดุลระยะสั้นใน 2 ปี ไม่ทะลุ 150 เหรียญต่อบาร์เรลแน่นอน
ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (เจจีซี-JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บรรยายพิเศษเรื่อง "สถานการณ์พลังงานไทย...พลังงานโลก" เมื่อวันที่ 25 เม.ย.51 ว่า แนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาพลังงานไทยคือการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้คนไทยหันมาใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพลดใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจด้วยการประหยัดพลังงานได้ถึง 8% หรือ 6.85 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 54 ขณะที่สิ่งสำคัญประการต่อมาคือการสรรหาแหล่งพลังงานใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การผลิตไฟฟ้าแบบความร้อนร่วม และการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานที่ช่วยให้อากาศภายในอาคารเย็นสบายแต่ใช้พลังงานน้อยที่สุด
ผศ.ดร.จำนง เผยต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการใช้น้ำมันสูงถึง 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยการคาดการณ์ราคาน้ำมันใน 5-10 ปีข้างหน้ายังทำได้ยาก ปัญหาหลักมาจากความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ขณะที่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบใหม่ๆ ลดลง เหลือเพียงน้ำมันดิบใต้ทะเลลึกที่เพิ่งมีการสำรวจอย่างจริงจังในช่วง 2-3 ปีมานี้
"คาดการณ์ได้ว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะยังคงแพงอยู่ ส่วนในปีหน้าหากแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่พบใต้ทะเลลึกของประเทศบราซิลและอ่าวเม็กซิโก สามารถผลิตออกมาได้ในช่วงปลายปีก็จะส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัวได้บ้าง แต่คงไม่มากนักหากไม่มีผลกระทบด้านอื่นๆ เรียกได้ว่ายุคราคาน้ำมันถูกคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว" นักวิจัยกล่าว
ผศ.ดร.จำนง วิเคราะห์สาเหตุของวิกฤติพลังงานในปัจจุบันด้วยว่ามีอยู่ 6 ประการคือ 1.ความต้องการน้ำมันที่มากกว่ากำลังการผลิต โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดียที่เติบโตทางเศรษฐกิจมาก 2.การอ่อนค่าลงของค่าเงินสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนตะกร้าเงินในการซื้อขายน้ำมันของประเทศอาหรับในกลุ่มโอเปคไปสู่เงินสกุลยูโรกว่าครึ่ง
3.กำลังการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกที่ตึงตัวและไม่ทันต่อความต้องการ แต่ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นแล้ว 4.การเปลี่ยนแปลงของความต้องการน้ำมันตามฤดูกาลที่ไม่คงที่ในประเทศเขตหนาว 5.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศผู้ผลิตน้ำมันในบางช่วงทำให้ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอเป็นครั้งคราว และ 6.การเก็งกำไรของนักค้าเงินที่ส่งผลให้มีความผันผวนของราคา มากขึ้น
"สาเหตุเหล่านี้ ผมได้คาดการณ์เพื่อเตือนให้ระวังแล้วเมื่อ 3 ปีก่อนซึ่งเราอยู่ในขั้นที่ต้องเตือนภัยแล้ว แต่ตอนนั้นไม่มีการตระหนักเท่าที่ควร โดยปัจจุบัน สาเหตุเหล่านี้ยังคงอยู่ บางปัจจัยมีระดับของปัญหาลดลง แต่ระดับของวิกฤติได้ขยับมาอยู่ในแถบสีส้มหรือค่อนข้างวิกฤติแล้ว เราจึงจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา" ประธานสายพลังงานเจจีซีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จำนง คาดการณ์ว่า ภายใน 2 ปีนี้ สมดุลราคาน้ำมันระยะสั้นจะเกิดขึ้น เพราะหากน้ำมันมีราคาสูงกว่า 130-150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง จำกัดให้ประเทศผู้ค้าน้ำมันไม่อาจเพิ่มราคาขายน้ำมันมากไปกว่านั้นได้
การบรรยายพิเศษของ ผศ.ดร.จำนง มีขึ้นในการแถลงข่าว "งานวิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม...กับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน" โดยเจจีซี ระหว่างวันที่ 25-26 เม.ย.51 ณ โรงแรมเอ-วัน จ.ชลบุรี ซึ่งรวมถึงการนำเสนอผลวิจัยของนักวิจัยอีก 9 ชิ้น เช่น การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวล การเปลี่ยนชีวมวลเป็นน้ำมัน และแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น.