เอเอฟพี - สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "เซิร์น" เปิดบ้านรับประชาชนกว่า 63,000 คนเยี่ยมชมสุดยอดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในอุโมงค์ใต้เมืองสวิส-ฝรั่งเศส โดยเครื่องเร่งอนุภาคจะเดินเครื่องไขปริศนาจักรวาลในเดือน ก.ค.นี้
เมื่อวันเสาร์ที่ 5 เม.ย.51 ที่ผ่านมามีคนกว่า 23,000 คนเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) หรือ "เซิร์น" (CERN) ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ลึกลงไปกว่า 100 เมตรใต้เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์และชายแดนประเทศฝรั่งเศส ส่วนวันเปิดบ้าน (Open House) ที่ 6 เม.ย.มีคนไปเยือนห้องแล็บดังกล่าวถึง 40,000 คน
คนกว่า 63,000 คนได้เข้าไปเยี่ยมชมเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) อันเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมาด้วยเวลายาวนานถึง 19 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่าการทดลองซึ่งจะเกิดในเดือน ก.ค.นี้จะช่วยไขปริศนากำเนิดจักรวาลได้ แต่ทั้งนี้ผู้คนมากมายเหล่านั้นก็ต้องรอคอยเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนได้เข้าไปพบประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจกับเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์อันมหึมา
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการทดลองนี้จะช่วยเผยให้เห็น "ฮิกก์" (Higgs) ซึ่งเป็นองค์ประกอบย่อยของอนุภาคในอะตอม หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งคือ "อนุภาคพระเจ้า" (God Particle) และการทำงานส่วนอื่นของแอลเอชซียังอาจช่วยอธิบายถึงสสารมืดและพลังงานมืดซึ่งเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่มีอยู่ในเอกภพถึง 96% โดยเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีจะเร่งโปรตอนให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง 99.9999% โดยวิ่งเป็น 2 ลำขนานกันในท่อที่ขดเป็นวงแหวนเป็นระยะทาง 27 กิโลเมตรและอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 175 เมตร
ภายหลังจากเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมความยิ่งใหญ่ของเครื่องมือวิทยาศาสตร์แล้ว ต่อไปจะมีเพียงนักฟิสิกส์และช่างเทคนิคเท่านั้นที่ลงไปในอุโมงค์ของห้องปฏิบัติการนี้ได้
ทั้งนี้ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้รับภาพเผยแพร่บรรยากาศเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการจาก "เซิร์น" หากแต่ไม่มีคำบรรยายถึงเหตุการณ์ในภาพ จึงต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่าน และขอนำเสนอเพียงภาพบรรยากาศในวันดังกล่าว
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ "เซิร์น" เปิดบ้าน เพิ่มเติม