xs
xsm
sm
md
lg

“ชั่ง-ตวง-วัด” ใครว่าไม่สำคัญ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เด็กๆ นักเรียนอนุบาลกำลังนำผักชั่งบนตาชั่งเพื่ออ่านค่าที่วัดได้อย่างตั้งอกตั้งใจ (ภาพจากโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่)
ใครที่ไปจ่ายตลาดบ่อยๆ แต่ไม่เคยเจอปัญหาตาชั่ง "ชั่งขาด" เลยคงเป็นเรื่องแปลก แต่ใครจะแคร์กับ "ส้ม" ที่ชั่งขาดไปบ้าง-อย่างมากก็ไม่เกินขีด... แต่คงไม่มีใครยอมแน่ ถ้าสินค้าที่ว่าเป็น "ทองรูปพรรณ" ที่ตกหล่นไปแม้เพียงกรัมเดียวก็หมายถึงเงินนับพันที่ขาดหายไปด้วย!

ความสำคัญของการ “ชั่ง-ตวง-วัด” ที่ถูกต้องแม่นยำจึงเริ่มปรากฏให้เห็นรำไร เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพสินค้าและปริมาณเงินในกระเป๋าสตางค์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็อย่าเพิ่งด่วนเชื่อไป... ให้ลองมาสำรวจกันก่อนว่า “การชั่ง-ตวง-วัด” มีความสำคัญจริงดังอ้างหรือไม่?

"วัด" สำคัญไฉน?

ศัพท์แรกๆ ที่เห็นจะต้องรู้จักจึงไม่พ้น “การวัด” (Measurement) ที่หมายถึง “การกระทำเพื่อตัดสินค่าของปริมาณ” ที่ไม่ต้องบอกก็คงทราบกันดี โดยการวัดเป็นกิจกรรมที่มีประวัติยาวนานกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาลเมื่อครั้งกษัตริย์ฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณเกณฑ์คนมาสร้างพีรามิด แถม “การวัด” ยังได้คลุกคลีกับมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิดบนตาชั่งห้องคลอดของโรงพยาบาลจนถึงมือสัปเหร่อวัดหีบศพเมื่อเจ้าของเรือนร่างเสียชีวิต

แม่ค้าผลไม้ชั่งน้ำหนักส้มก่อนส่งให้ลูกค้า ครูวัดส่วนสูงของเด็กๆ ในการตรวจสุขภาพประจำปี แพทย์วัดปริมาณสารแปลกปลอมในเลือดผู้ป่วย ช่างฟิตวัดความดันยางรถลูกค้า ตำรวจจราจรบังคับนักซิ่งเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ นักวิทยาศาสตร์การอาหารตรวจวัดปริมาณแบคทีเรียในโยเกิร์ตเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ นักธรณีวิทยาวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเพื่อคาดการณ์ถึงอันตรายที่คืบคลานมาใกล้ในอนาคต ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียง “หยิบหนึ่ง” ของการวัดที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเท่านั้น

ศัพท์คำต่อมาที่ควรรู้จัก คือ “การสอบเทียบ” (Calibration) ที่พูดให้ง่ายก็คือ “การทำให้ค่าการวัดของเครื่องมือวัดที่ใช้งานจริง (อาทิ ไม้บรรทัด ตาชั่ง สายวัดตัว ฯลฯ) มีความแม่นยำตรงกับค่าการวัดที่ได้รับการยอมรับระดับสากล” ซึ่งพ่วงไปยังศัพท์คำที่สามคือ “ความสามารถในการสอบกลับได้” (Traceability) หรือก็คือ “การอ้างอิงการวัดไปสู่มาตรฐานแห่งชาติ

...พูดได้ว่า หากโลกไม่มีการสอบเทียบแล้ว ก็คงไม่ผิดอะไรที่ทุกคนบนโลกจะสถาปนาค่าของปริมาณของสิ่งของรอบตัวได้โดยไม่ต้องสนใจใคร แต่ค่าที่กำหนดขึ้นก็จะเป็น “ค่า” ของเขาเพียงผู้เดียว ไม่มีใครรู้เห็นด้วยหรือแม้แต่จะให้การยอมรับ “1 กิโลฯ” ของพ่อค้าขายปลาจึงอาจไม่เท่ากับ “1 กิโลฯ” ของแม่ค้าขายผัก... เรื่องนี้ผู้คนในแวดวงการค้าและอุตสาหกรรมต่างทราบกันดีถึงผลเสียที่เกิดขึ้น

เราโดนตีกลับเพราะมันสั้นไปมิลนึง!

เราเคยส่งชิ้นส่วนรถยนต์ไปประเทศตุรกี แล้วถูกตีกลับมาเพราะว่ามันสั้นไปมิลนึง กรณีที่จะกลัวกันมากในวงการคือการรีคอลล์รถที่ส่งไปขายทั่วโลกกลับมาเมื่อพบความผิดพลาด บางทีก็เสียหายเป็นร้อยๆ ล้าน” เด่นศักดิ์ นวรัตนไพบูลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกวางแผนองค์กร บ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ส่ายหน้าเป็นเชิงย้ำถึงความสำคัญของการชั่ง-ตวง-วัด หรือ “ระบบมาตรวิทยา” (Metrology) ของประเทศ

สำหรับ บ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด แล้ว ถือเป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์ให้แก่ค่ายรถชั้นนำรายสำคัญ เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2529 จนปัจจุบันก็ย่างเข้าปีที่ 22

ความสำคัญของ “การวัด” จึงมีผลต่อชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีมิติความกว้าง ยาว และหนา ได้ขนาดตามที่ลูกค้าต้องการ ชนิดที่ว่าการทำแม่พิมพ์แต่ละชิ้นจำเป็นต้องได้ขนาด “เป๊ะ” หากขาดหรือเกินไปเพียงเล็กน้อย บทเรียนข้างต้นก็เป็น “ประจักษ์พยาน” ให้เห็น

ไม่แปลกถ้าจะบอกว่า บ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด จึงเป็นหนึ่งในเอกชนกว่า 130 แห่งทั่วประเทศที่เปิดห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัดเป็นของตัวเอง เพื่อลดต้นทุนนับล้านบาทต่อการสอบเทียบเครื่องมือวัดทั้งหมดในแต่ละครั้ง และเป็นที่น่ายินดีที่กำลังยื่นเรื่องขอใบรับรองสอบเทียบมาตรฐาน ISO 17025 เร็วๆ นี้ด้วย

เครื่องจักรที่ใช้ผลิตทุกเครื่องทุกจุดมันจะต้องเป็นเครื่องวัดไปในตัว เรามีเครื่องจักรขนาดเล็กประมาณ 2,000 เครื่อง การทำแล็บสอบเทียบเองจึงคุ้ม ลดต้นทุนได้มากเมื่อเทียบกับส่งไปสอบเทียบที่อื่น” รัตศิรินทร์ เสาสวย ผู้จัดการฝ่ายคุณภาพ แผนกบริการสอบเทียบของบริษัทเผย

มาถึงจุดนี้ หลายคนคงรู้สึกว่าการวัดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนขึ้นมาทันใด เพราะเริ่มเห็นว่าความคลาดเคลื่อนที่ปริ่มๆ ขีดความสามารถของประสาทสัมผัสมนุษย์จะสัมผัสได้ชักจะมีผลเสียเกินคาด แต่ตัวอย่างของ บ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ก็เป็นเพียงน้ำจิ้มเมื่อเทียบกับห้องปฏิบัติการสอบเทียบของ บ.ไดเมนชั่น แคลิเบรชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ที่เข้าขั้น “เฮี้ยบสุดๆ”

แค่อุณหภูมิเปลี่ยน การวัดก็เปลี่ยนตาม!

ชัชพล จิโรจจาตุรนต์ กรรมการผู้จัดการ บ.ไดเมนชั่น แคลิเบรชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด และนายกสมาคมห้องปฏิบัติการสอบเทียบแห่งประเทศไทย บอกว่า ห้องแล็บสอบเทียบของบริษัทต้องควบคุมปัจจัยต่างๆ อย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้การวัดคลาดเคลื่อน

เช่น “อุณหภูมิห้อง” ที่หากเพิ่มขึ้นด้วย “อุณหภูมิร่างกาย” จากผู้ปฏิบัติงานที่มากเกินไปก็อาจทำให้ค่าความยาวของวัตถุที่วัดเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่งในพันล้านส่วนของเมตร หรือ “นาโนเมตร” การวัดแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องกระทำภายใต้การควบคุมอุณหภูมิห้องในระดับที่เหมาะสม

“อุณหภูมิห้อง” ที่ว่านี้อาจเพิ่มขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ มากมายตั้งแต่สภาพของอากาศภายนอก เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ความชื้นที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงอุณหภูมิจากร่างกายผู้ปฏิบัติงานภายในห้อง แล็บ การวัดเครื่องมือโดยเฉพาะด้านมิติที่มีความละเอียดสูงๆ และ/หรือที่มีความยาวมากๆ หากไม่มีการควบคุมอุณหภูมิที่ดีและมีความเสถียรแล้วจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าค่าที่อ่านได้จากเครื่องมือนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงหรือไม่

รวมถึงแรงสั่นสะเทือนเบาๆ จากยานยนต์บนท้องถนนก็อาจทำให้ผลการวัดคลาดเคลื่อนได้ ชัชพลเผยว่าห้องแล็บสอบเทียบที่มีมาตรฐานอย่างย่อมๆ ใกล้นิคมอุตสาหกรรม จ.ชลบุรีของเขาจึงจำเป็นต้องมีเสาเข็มแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของอาคาร และหล่อพื้นคอนกรีตหนา 1 เมตรเพื่อป้องกันแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก

ความสั่นสะเทือนเป็นอุปสรรคในการวัดเป็นอย่างยิ่งในเครื่องมือวัดที่มีความละเอียดสูง ซึ่งมีความไวในการอ่านค่าสูงมาก ความสั่นสะเทือนจากสิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถควบคุมได้จะทำให้มีความสั่นสะเทือนไปด้วย หากเกิดความสั่นสะเทือนขึ้นในระหว่างการวัดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่านั้นผิดพลาดไป” ชัชพลว่า

ไม่เพียงเท่านี้ กว่าจะได้ห้องปฏิบัติการดังกล่าว การออกแบบลักษณะของฐานรากยังได้มีการสำรวจลักษณะของพื้นที่และศึกษาคุณสมบัติของชั้นดินที่เจาะสำรวจไว้ล่วงหน้า การออกแบบทั้งหมดจึงทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมนั่นเอง

เพราะมิฉะนั้นแล้ว เครื่องมือสอบเทียบมูลค่า 4-5 ล้านบาทก็จะให้ค่าความแม่นยำน้อยลงจนไม่ต่างเครื่องมือวัดเครื่องละหมื่นกว่าบาทตามโรงงานทั่วๆ ไป

เราวัดอะไรกันบ้าง?

แต่การสอบเทียบก็ใช่จะมีแต่การสอบเทียบด้านมิติ คือ วัดขนาดความกว้าง ยาว และหนา เพื่อให้ได้ค่าออกมาเป็นความยาว (Length) ซึ่งมีหน่วยเป็นเมตร (metre, m) เท่านั้น เพราะตามระบบการวัดสากล หรือหน่วยเอสไอ ยังมีหน่วยวัดพื้นฐานอีก 6 หน่วยด้วยกันคือ มวล (Mass) มีหน่วยเป็นกิโลกรัม (kilogram, kg) เวลา (Time) มีหน่วยเป็นวินาที (second, s)

กระแสไฟฟ้า (Electric Current) มีหน่วยเป็นแอมแปร์ (ampere, A) อุณหภูมิ (Temperature) มีหน่วยเป็นเคลวิน (kelvin, K) ความเข้มของการส่องสว่าง (Luminous Intensity) มีหน่วยเป็นแคนเดลลา (candela, cd) และปริมาณของสาร (Amount of Substance) มีหน่วยเป็นโมล (mole, mol)

ขณะเดียวกัน การสอบเทียบยังครอบคลุมไปถึงการวัดค่าอื่นๆ ที่แตกย่อยไปจากหน่วยวัดสากลทั้ง 7 ด้วย เช่น ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ความต่างศักย์ไฟฟ้าของระบบสายส่งไฟฟ้า และค่าความดังของเสียงจากท่อไอเสียรถยนต์ เป็นต้น

พล.อ.ต.ดร.เพียร โตท่าโรง ผอ.สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เผยว่า ทั้งหมดนี้มี มว.เป็นหน่วยงานผู้กุมบังเหียนระบบมาตรวิทยาของประเทศมาตั้งแต่ปี 2541 โดยการสอบเทียบและการทำให้มีความสามารถในการสอบกลับได้ เพื่อให้ประเทศไทยมีความแม่นยำของการวัดเทียบเท่ากับความแม่นยำของสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) ประเทศฝรั่งเศส-มุ้งใหญ่ที่สุดในเรื่องการวัดของโลก ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2418 หรือกว่า 100 ปีก่อน

ทั้งนี้เพื่อให้ มว.นำค่านั้นๆ ไปถ่ายทอดต่อตามลำดับห่วงโซ่ของการสอบเทียบแก่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบตามหน่วยงานรัฐและเอกชน ตลอดจนสำนักชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปใช้ในการวัดที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงซึ่งมีความแม่นยำน้อยกว่าต่อไป

เครื่องวัดบ้านเราแค่ 5% ที่ผ่านการสอบเทียบ

จากการที่เราสำรวจ พบว่าเรามีเครื่องมือวัดในประเทศประมาณ 8 ล้านชิ้น แต่มีที่ได้รับการสอบเทียบเพียง 4 แสนชิ้น หรือแค่ 5% ของเครื่องมือวัดทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้คุณภาพการผลิตในประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากเครื่องมือวัดไม่ได้รับการดูแลให้ได้มาตรฐาน” ผอ.มว.เผยถึงความสำคัญของมาตรวิทยาที่เขยิบเข้าใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ มากขึ้น

เราก่อตั้งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในปี 41 ด้วยงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท เพราะเห็นความสำคัญของระบบมาตรวิทยาซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เหมือนกับค่าเงินบาทของไทยที่เราต้องทำให้เป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ โดยมาตรวิทยามีประโยชน์เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าของประเทศอย่างมหาศาล” เขาย้ำ

แต่ก็หาใช่ว่าก่อนการก่อตั้ง มว.เมื่อปี 2541 บ้านเราจะไม่มีหน่วยงานด้านนี้อยู่เลย แต่มีความพยายามก่อร่างสร้างตัวเรื่อยมา เช่น การตราพระราชบัญญัติชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 การจัดตั้งศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยาภายในร่มสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในปี 2504 รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการมาตรวิทยาและการรับรองห้องปฏิบัติการในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ในอีก 5 ปีต่อมา

ถัดจากนั้นพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ.2540 ก็เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกับกระแสการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศที่เข้ามากดดันให้แต่ละประเทศเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานสินค้ามากขึ้น และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในร่มของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ถือกำเนิดขึ้นในที่สุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2541

มาตรวิทยาแก้โลกร้อน!

ถ้าจะดึงมาใกล้ตัวคนทั่วๆ ไปจริงๆ มาตรวิทยายังมีความสำคัญในแง่การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศด้วย ทั้งการควบคุมคุณภาพของอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยา ที่ได้มาตรฐานและมีความเป็นธรรมในการซื้อขาย

ที่คาดไม่ถึง มาตรวิทยายังมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการติดตามตรวจวัดคุณภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้ำจากภาคการเกษตร และน้ำจากภาคอุตสาหกรรม การตรวจวัดคุณภาพของดินและการปนเปื้อนจากสารเคมี และการตรวจวัดปริมาณมลพิษในอากาศ ฯลฯ

มาตรวิทยายังช่วยให้เราลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย อย่างการประหยัดพลังงานในเตาเผาภาคอุตสาหกรรม หากมีการวัดอุณหภูมิหรือวัดความดันของแก๊สเชื้อเพลิงไม่ดี เราอาจต้องใช้เชื้อเพลิงมากเกินไป เป็นการเผาเงินทิ้งไม่รู้ตัว สินค้าที่ผลิตก็ไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อน แต่หากมีการวัดที่ดี ก็จะมีการใช้เชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็น ลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้”

ส่ง "วัด" เข้าโรงเรียน

และเพื่อทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรวิทยาเป็นที่รู้จักของสังคมมากยิ่งขึ้น พล.อ.ต.ดร.เพียร กล่าวว่า มว.ได้เดินหน้าจัดการอบรมครูทุกระดับในเรื่องมาตรวิทยาด้วย

อีกทั้งยังได้ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ เปิดสอนวิชามาตรวิทยา

นอกจากนั้น มว.ยังมีความพยายามขยายการเรียนมาตรวิทยาไปสู่บทเรียนของนักเรียนชั้นประถมฯ มัธยมฯ และอาชีวศึกษาเพื่อวางรากฐานความเข้าใจตั้งแต่เด็กๆ โดยนายใหญ่จากบ้าน “มาตรวิทยา” หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเตรียมบุคลากรสู่ภาคการผลิตของไทยในอนาคต 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้าต่อไป

สุดท้ายนี้ ความสำคัญของการชั่ง-ตวง-วัด คงได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นแล้ว และทำให้หลายคนเริ่มมั่นใจในสินค้าและบริการรอบตัวมากขึ้น...ต่อไป.

คลิกเพื่อรับชมวิดีโอตลอดจนสื่อประกอบเกี่ยวกับมาตรวิทยาแห่งชาติ
- หน้าเว็บเพจ "ศูนย์บริการความรู้"
- หน้าเว็บเพจ "สื่อประกอบเพื่อทำความรู้จักกับมาตรวิทยา"
หากเป็นทองคำ ใครจะยอมให้มีการวัดคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ (ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ)
เจ้าหน้าที่มาตรวิทยาขณะทำงานอย่างแข็งขัน
เด็กนักเรียนกำลังได้รับการวัดส่วนสูง (ภาพจาก www.w-nikro.com)
เจ้าหน้าที่อนามัยกำลังวัดความดันให้แก่ผู้มารับบริการสาธารณสุข (ภาพจาก www.tessabantak.go.th)
เด่นศักดิ์ นวรัตนไพบูลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกวางแผนองค์กร บ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด
รัตศิรินทร์ เสาสวย ผู้จัดการฝ่ายคุณภาพ แผนกบริการสอบเทียบ
ชัชพล จิโรจจาตุรนต์ กรรมการผู้จัดการ บ.ไดเมนชั่น แคลิเบรชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด และนายกสมาคมห้องปฏิบัติการสอบเทียบแห่งประเทศไทย
ระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ แสดงผังการสอบเทียบและการสอบกลับได้
พล.อ.ต.ดร.เพียร โตท่าโรง ผอ.สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
ห้องแล็บสอบเทียบเครื่องมือวัดของ บริษัท มาร์คส์ แมชชีน (ประเทศไทย) จำกัด
เวลามาตรฐานประเทศไทยที่สถาปนาโดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

การวัดมีผลโดยตรงต่อผู้บริโภคเพื่อให้ได้สินค้าที่มีปริมาณและคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากหัวจ่ายน้ำมันและมิเตอร์น้ำมันไม่ได้มาตรฐาน ผู้ขับขี่ยวดยานอาจต้องกุมขมับเมื่อต้องเข้าปั้มบางปั้ม เพราะวิกฤติพลังงานทำให้น้ำมันแต่ละหยดมีค่าไม่ต่างจากทองคำทีเดียว (ภาพจาก caronline.net)
มาตรวิทยาถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การวัดของไทยเปรียบได้ค่าเงินบาทที่ต้องทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น