xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยมะกันเผยจิ๊กซอว์ตัวใหม่ กลไกการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/มหาวิทยาลัยเปอร์ดิว - ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ พบกลไกสำคัญของการติดเชื้อของไวรัสโรคไข้เลือดออกจากเซลล์เดิมไปสู่เซลล์ใหม่ เผยนำไปสู่การรักษาและพัฒนายาใหม่ที่มีประสิทธิผลได้

วารสารไซน์ (Science) รายงานผลการวิจัยการพบกลไกสำคัญในกระบวนการพัฒนาตัวเองของเชื้อไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัส (flavivirus) ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเปร์ดิว (Purdue University) มลรัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งไวรัสดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ก่อโรคโดยมียุงเป็นพาหะ เช่น ไวรัสเดงกี่ (dengue), ไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile), ไวรัสโรคไข้เหลือง (yellow fever) และไวรัสโรคไข้สมองอักเสบ (encephalitis)

เดิมทีนักวิจัยรู้อยู่แล้วว่าวงจรไวรัสที่ก่อโรคนั้นเข้าสู่เซลล์ เพิ่มจำนวน และออกนอกเซลล์เดิมไปสู่เซลล์ไหม่ได้อย่างไรบ้าง แต่นักวิจัยเพิ่งพบว่าไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัสมีกลไกใดที่ทำให้ไวรัสตัวใหม่ที่ยังไม่สมบูรณ์ (immature) พัฒนาเป็นไวรัสตัวเต็มวัย (mature) ที่พร้อมจะออกนอกเซลล์เก่าไปสู่เซลล์ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ไมเคิล รอสส์แมนน์ (Michael Rossmann) หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่า เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ จะเข้าไปดำเนินการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมหรือจีโนมให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำการสังเคราะห์โปรตีนของไวรัสด้วยเพื่อให้ได้ไวรัสตัวใหม่ที่สมบูรณ์ โดยขณะที่ยังเป็นไวรัสตัวอ่อนอยู่นั้น ไวรัสจะไม่สามารถออกจากเซลล์เก่าเพื่อไปเข้าสู่เซลล์ใหม่ได้ ไวรัสจะต้องผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นไวตัวที่โตเต็มวัยเสียก่อน

นักวิจัยพบว่า โปรตีนที่ห่อหุ้มไวรัสตัวอ่อนนั้นประกอบด้วยโปรตีน 2 ส่วนเชื่อมกันอยู่ คือ ส่วนที่เป็นพรีเคอเซอร์เมมเบรนโปรตีน (precursor membrane protein) และเอนเวโลพโปรตีน (envelope protein) ซึ่งกระบวนการทำให้กลายเป็นไวรัสตัวเต็มวัยจะต้องอาศัยเอนไซม์ฟิวริน (furin) ที่อยู่ในเซลล์นั้นเป็นเครื่องมือตัดพรีเคอเซอร์เมมเบรนโปรตีน และเอนเวโลพโปรตีนให้แยกออกจากกัน จึงกลายเป็นไวรัสที่พร้อมออกจากเซลล์เดิมไปเข้าสู่เซลล์ใหม่เพื่อเข้าสู่วัฏจักรของไวรัสต่อไป

ทางผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง ศ.ดร.สุธี ยกส้าน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน ม.มหิดล และนักวิจัยผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกสำเร็จ ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า พรีเคอเซอร์เมมเบรนโปรตีนเป็นโปรตีนส่วนที่ห่อหุ้มอยู่นอกสุดของเชื้อไวรัสตัวใหม่ ห่อหุ้มเอนเวโลพโปรตีนที่ภายในมีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุอยู่ ซึ่งจะช่วยปกป้องเชื้อไวรัสนั้นให้ปลอดภัยจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ได้ จนกระทั่งส่งให้ไวรัสตัวใหม่เดินทางผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ออกไปนอกเซลล์เดิมได้อย่างปลอดภัย

ด้าน ศ.นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ ผอ.หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยว่า การค้นพบกลไกสำคัญของการพัฒนาเชื้อไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัสนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนายาต้านไวรัสได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อนักวิจัยรู้ว่าเอนไซม์ฟิวรีนมีส่วนช่วยให้พัฒนาจากไวรัสตัวอ่อนเป็นไวรัสตัวแก่ได้ ก็อาจหายาไปยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว หรือหาวิธียับยั้งกระบวนการนั้นเสีย เพื่อไม่ให้กลายเป็นตัวเต็มวัย จะได้ไม่สามารถออกไปสู่เซลล์อื่นได้อีกต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น