xs
xsm
sm
md
lg

Earth Hour "ชั่วโมงปิดไฟ" เมืองใหญ่ทั่วโลกช่วยลดพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงทยอยเกิดขึ้นแล้วตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมถึงในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา 2-3 ทุ่ม แม้ปริมาณการลดใช้ไฟฟ้าไม่ได้ลดลงอย่างมากมาย แต่หวังว่าจะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้นำไปสู่พฤติกรรมการลดใช้พลังงานระดับบุคคลในอนาคต



ชาวกรุงเทพฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม "ปิดไฟ 1 ชั่วโมง" ที่บริเวณเซ็นทรัลเวิล์ด


กิจกรรมเอิร์ธ อาวร์ (Earth Hour) หรือการร่วมปิดไฟพร้อมกันทั่วโลก มีกำหนดจัดร่วมกันในวันเสาร์ที่ 29 มี.ค.51 เวลา 20.00-21.00 น. ของแต่ละท้องถิ่น

ทันทีที่โอเปราเฮาส์และสะพานฮาร์เบอร์บริดจ์ สัญลักษณ์สำคัญของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มืดสนิทลง แสดงถึงการเดินหน้ากิจกรรมปิดไฟ เพื่อสร้างความตระหนักในการลดใช้ไฟฟ้าตามเมืองใหญ่ๆ ของโลก ซึ่งมีออสเตรเลียเป็นผู้ริเริ่ม



ภาพเปรียบเทียบโอเปราเฮาส์และฮาร์เบอร์บริดจ์แห่งมหานครซิดนีย์ที่เคยสว่างไสวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ก็มืดลงเมื่อเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เร็วกว่ากรุงเทพฯ 4 ชั่วโมง


ทั้งนี้ก่อนหน้าที่มหานครซิดนีย์จะมืดลง นิวซีแลนด์และฟิจิเป็น 2 ประเทศแรกที่เดินทางมาถึงเวลา 20.00 น.ก่อนใครเพื่อนในโลก โดยเมืองไครสต์เชิร์ช ของนิวซีแลนด์และซูวาของฟิจิ มีการปิดไฟตามบ้าน ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการรับประทานอาหารค่ำตามร้านอาหารต่างๆ ก็เลื่อนเวลาออกไปเป็น 21.00 น.แทน

ขณะที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองโอคแลนด์ก็ร่วมกิจกรรมด้วยการปิดหลอดไฟฟ้า และจุดเทียนไขแทน

ถัดจากออสเตรเลียก็มีเมืองใหญ่ๆ ในเอเชียร่วมปิดไฟ 1 ชั่วโมงตามมาอีกมากมาย อาทิ โตเกียว, มะนิลา, จาการ์ตา, สิงคโปร์, นิวเดลี บังกลอร์ รวมถึงกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นมีกิจกรรมหลักอยู่ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิลด์ และได้ขอความร่วมมือเจ้าของอาคารบนถนน 6 เส้นร่วมกันปิดไฟ คือ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ราชดำริ สีลม เยาวราช รัชดาภิเษก และถนนข้าวสาร ช่วยดับไฟดวงที่ไม่จำเป็นในอาคารที่อยู่ด้านข้าง ไม่รวมถึงไฟถนนซึ่งต้องไม่กระทบต่อการจราจร

หลังเวลา 20.00-21.00 น.ที่กรุงเทพฯ ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีการประเมินว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 5 หมื่นหน่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 1.5 แสนบาท

จากเมืองสุดท้ายในเอเชียจะส่งต่อถึงยุโรป ทั้งลอนดอน เอ็กซ์เตอร์ คาร์ดิฟฟ์ หลายเมืองในโรมาเนีย เดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน จากนั้นส่งต่อไปที่อเมริกาเหนือตามเวลาของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเมืองท้ายๆ จะเป็นโตรอนโตในแคนาดา และซานฟรานซิสโก ในสหรัฐอเมริกา และเมื่อนั่นจะได้เห็นแสงไฟที่สะพานโกลเดนเกตหรี่ลง

เว็บไซต์ www.earthhour.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักในการรณรงค์ครั้งนี้ก็ปิดเซิร์ฟเวอร์ลงชั่วคราว และแม้แต่กูเกิลเองก็ยังร่วมรณรงค์กิจกรรมการปิดไฟ ด้วยการปรับหน้าเว็บเพจเป็นสีดำพร้อมข้อความว่า "เราปิดไฟแล้ว ต่อไปตาคุณ" (We've turned the lights out. Now it's your turn.)

นอกจากนี้ ในกรุงเทล อาวิฟ ประเทศอิสราเอลได้จัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. เพราะวันที่ทั่วโลกจัดกันตรงกับพิธีซับบาธ ส่วนที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์เลือกปิดไฟในเวลา 21.00-22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพราะท้องฟ้าทางซีกโลกเหนือมืดช้า

ทั้งนี้กิจกรรม Earth Hour ปิดไฟลดการใช้พลังงาน มีขึ้นครั้งแรกที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.50 และในปีนี้มีเมืองที่เข้าร่วมกิจกรรมถึง 370 เมืองทั่วโลก ใน 37 ประเทศ และในจำนวนนั้นเป็น 26 เมืองสำคัญของโลก

อย่างไรก็ดี กิจกรรมการปิดไฟตามเมืองใหญ่เพียง 1 ชั่วโมงก็หาได้ช่วยลดการใช้พลังงานลงอย่างมากมายตามที่คาด เพราะยังมีอาคารบ้านเรือนอีกเป็นจำนวนมากไม่สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ ทางทีมงานผู้รณรงค์จึงเพียงแค่ต้องการแสดงออกในเชิงสัญญลักษณ์ เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญและเกิดความพยายามลดใช้พลังงานในระดับบุคคลต่อไป.











กำลังโหลดความคิดเห็น