"วุฒิพงศ์" เยือนสถานีรับสัญญาณดาวเทียม สทอภ.ในเขตลาดกระบัง พร้อมสั่งงานให้ผลิตข้อมูล 3 มิติของบริเวณลุ่มน้ำ 25 แห่งส่งต่อกระทรวงทรัพฯ-กระทรวงเกษตร
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าตรวจเยี่ยม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ณ สถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน ลาดกระบัง ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.51 โดยภายหลังรับฟังรายงานสรุปภารกิจและการดำเนินงานของสำนักงานแล้วได้ฝากให้ สทอภ.ผลิตภาพ 3 มิติในบริเวณต้นกำเนิดลุ่มน้ำ 25 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปข้อมูลไปบริหารจัดการ
"สถานีรับดาวเทียมของเราทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าสิงคโปร์ เวียดนามสู้เราไม่ได้ ที่จะนำไปเป็นประโยชน์คือ ต่อไปจะพัฒนาสู่ภาพ 3 มิติ รู้แหล่งน้ำ รู้ว่าน้ำไหลจากไหน เวลาสร้างแหล่งเก็บน้ำจะสร้างได้ เวลาน้ำท่วมรู้ว่ามาจากไหน สาเหตุเกิดจากอะไร ประโยชน์อื่นๆ เรื่องการเกษตรก็จะได้รู้ว่าปลูกอะไรแถวนี้ได้บ้าง และปลูกแล้วขาดปุ๋ยอะไรก็เช็คได้ ต่อไปเราจะรู้ข้อมูลว่าต้นไม้ชนิดนี้ขาดปุ๋ยอะไร ต้องใส่ปุ๋ยอะไร แล้วจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็น ช่วยประหยัดเงิน และเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงก็ช่วยได้เยอะมาก" นายวุฒิพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวรายงานว่าสำนักงานเกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2543 โดยเป็นการรวมกันของกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล (Remote Sensing) และฝ่ายประสานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สังกัดศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนดลยีและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีข้อมูลภูมิสารสนเทศ (จีไอเอส)
สำหรับที่ตั้งของ สทอภ.นั้นมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เขตจตุจักร กรุงเทพฯ และมีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมของแห่งคือ สถานีที่ตั้งในเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ซึ่งมีจานดาวเทียมรับสัญญาณจากดาวเทียม โนอา (NOAA) อิโคนอส (IKONOS) แลนด์แซท (LANDSAT) สปอต (SPOT) เรดาร์แซท (RADARSAT) เอลอส (ALOS) และสถานีที่ตั้งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับรัญญาณดาวเทียมธีออส (THEOS) ดาวเทียมที่ไทยว่าจ้างให้ฝรั่งเศสสร้างและกำลังอยู่ระหว่างการรอส่งขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว ไทยรับสัญญาณจากดาวเทียมหลายดวงกว่า