xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำปัญหาเดิม "อุซเบกิสถาน" ไม่ยอมเป็นเหตุส่ง "ธีออส" ล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวเทียมธีออสถูกส่งไปรออยู่ที่ฐานปล่อยจรวดเมือ่ปลาย พ.ย.ปีที่ผ่านมา แต่จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะถูกส่งขึ้นไปโคจรเสียที
"ธีออส" ยังคงจอดนิ่งอยู่ที่ฐานปล่อยจรวด ขณะที่ผู้บริหารบินไกลถึงรัสเซียเพื่อรับทราบปัญหาถึงความล่าช้าในการส่งดาวเทียมกลับมาย้ำเหตุผลเดิมว่ายังส่งดาวเทียมไม่ได้ เพราะ "อุซเบกิสถาน" ไม่ยอมกรณีจรวดท่อนแรกตกกลางทะเลทราย ด้านเอกชนไทยระบุเป็นปัญหาของผู้ส่งที่ต้องเจรจา แจงเจ้าของดาวเทียมเรียกค่าเสียหายได้แต่ไม่คุ้มเสียเพราะเป็นสัญญาแบบได้แค่ไหนแค่นั้น

ดาวเทียมธีออส (Theos) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยยังคงจอดนิ่ง ณ ฐานปล่อยจรวดยัสนี บริเวณชายแดนประเทศรัสเซีย หลังเลยกำหนดส่งตามสัญญาเมื่อวันที่ 19 ม.ค.มาได้อาทิตย์กว่าแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ผู้รับผิดชอบในการว่าจ้างฝรั่งเศสสร้างดาวเทียมระบุสาเหตุเนื่องจากรัสเซียซึ่งรับจ้างยิงจรวดส่งดาวเทียมไม่สามารถกลงกับอุซเบกิสถานได้ในกรณีที่จรวดท่อนแรกจะตกในอาณาเขต อีกทั้งคณะผู้บริหารจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ สทอภ.พร้อมด้วยวิศวกรร่วม 7 คนได้เดินทางไปกรุงมอสโคว รัสเซียรับทราบสาเหตุของปัญหาระหว่าง 23-26 ม.ค.ที่ผ่านมา

กลับจากการเดินทาง ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้เพื่อรับทราบจากรัสเซียว่าเกิดปัญหาขึ้นดังที่ฝรั่งเศสรายงานหรือไม่ ทั้งนี้ผู้บริหารทั้งจากบริษัทคอสโม พลัส (cosmo plus) ผู้ส่งจรวดจากรัสเซียและผู้บริหารจากบริษัทอีเอดีเอส เอสเตรียม (EADS Astrium) คู่สัญญาว่าจ้างผลิตดาวเทียมจากฝรั่งเศสก็ร่วมรายงานด้วย ซึ่งขณะนี้ฐานปล่อยจรวดพร้อมและจรวดนำส่งดาวเทียมธีออสก็รอเติมเชื้อเพลิงอยู่ที่ฐานปล่อย แต่ยังติดปัญหาที่ทางอุซเบกิสถานไม่ยอมในกรณีที่จรวดท่อนแรกจะตกในทะเลทรายของประเทศ โดยทางรัสเซียกำลังพยายามทำข้อตกลงแต่ยังบอกวันที่แน่นอนไม่ได้ว่าจะส่งดาวเทียมได้เมื่อไหร่

"ปัญหาอยู่ที่อุซเบกิสถาน ถ้าอุซเบกิสถานโอเคก็ส่งได้" ดร.ธงชัยกล่าว ทั้งนี้สัญญาว่าจ้างผลิตและส่งดาวเทียมธีออสนั้นเป็นแบบเหมารวมซึ่งทางฝรั่งเศสได้ว่าจ้างต่อให้ทางรัสเซียเป็นผู้ส่ง ซึ่งผู้บริหาร สทอภ.เผยว่าเดิมนั้นมีกำหนดส่งธีออสที่ฐานปล่อยจรวดในไบโคนัวร์ คาซัคสถาน ที่มีคิวปล่อยจรวดจำนวนมาก ต่อมาทางฝรั่งเศสได้เสนอให้ปล่อยดาวเทียมที่ฐานปล่อยในยัสนี โดยให้เหตุผลว่ามีจรวดเหมาะกับดาวเทียมธีออสขนาด 750 กิโลกรัม

สำหรับปัญหาในลักษณะนี้ นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดไอพีสตาร์ บริษัทชินแซทเทลไลท์ กล่าวว่าเป็นปัญหาของบริษัทผู้ส่งดาวเทียมซึ่งปกติจะมีวิธีในการแก้ปัญหาและลูกค้าไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วมเจรจา ทั้งนี้ปกติจรวดส่งดาวเทียมมี 3 ท่อนเมื่อส่งขึ้นแล้วเชื้อเพลิงของท่อนแรกหมดก็จะตกลงมา ส่วนตัวดาวเทียมจะติดอยู่ในจรวดท่อนสุดท้าย ซึ่งการส่งดาวเทียมของฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะจะส่งจรวดในเกาะใกล้ทะเล เมื่อมีชิ้นส่วนตกในทะเลก็จะประกาศให้เรืองดเขาใกล้บริเวณดังกล่าว ส่วนจีนและรัสเซียต้องยิงจรวดบนแผ่นดิน สำหรับอุซเบกิสถานนั้นเป็นทะเลทรายซึ่งเดิมใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ดีในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการส่งดาวเทียมนั้น นายยงสิทธิ์กล่าวว่าคงเรียกร้องความเสียได้ลำบากเนื่องจากเป็นสัญญาแบบ "As is" คือเป็นสัญญาแบบได้แค่ไหนแค่นั้น เช่นรัสเซียให้ราคาในการส่งถูกแต่เมื่อมีปัญหาก็ช่วยไม่ได้ สำหรับบริษัทอีเอดีเอส เอสเตรียมก็นับเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเคยประมูลสร้างดาวเทียมของชินแซทด้วยหากแต่ทางบริษัทได้เลือกว่าจ้างบริษัทแอเรียนสเปซ (Ariane Space)

สำหรับธีออสนั้นเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร และมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น