ประธานกรรมการบริหาร สอทภ. เคลียร์ปัญหาคาใจเหตุใด "ธีออส" ยังไม่โคจรรอบโลก ระบุเป็นเรื่องปกติของการส่งดาวเทียม โดยกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างประเทศในการต่อสัญญาข้อตกลงเรื่องชิ้นส่วนตกระหว่างรัสเซียและอุซเบกิสถาน
ยังคงมีความสงสัยว่าเหตุใด "ธีออส" ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยจึงยังไม่สามารถขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สักที แม้ว่า ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ซึ่งรับผิดชอบในการว่าจ้างบริษัทอีเอดีเอส เอสเตรียม (EADS Astrium) ของฝรั่งเศสเพื่อสร้างและส่งดาวเทียมด้วยมูลค่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทคอสโม พลัส (cosmo plus) ของรัสเซียเพื่อส่งดาวเทียมอีกต่อหนึ่ง
ขณะนี้ธีออสได้จอดรออยู่ที่ฐานปล่อยจรวดยัสนี ชายแดนรัสเซีย แต่ยังส่งดาวเทียมไม่ได้เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการเจรจาระหว่างรัสเซียกับอุซเบกิสถาน เพราะจรวดท่อนแรกจะตกในพื้นที่ของประเทศหลัง และแม้จะเดินทางไปถึงรัสเซียเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทาง สทอภ.ก็ยังให้คำตอบเรื่องกำหนดขึ้นของดาวเทียมที่ชัดเจนไม่ได้
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง พลโท ดร.วิชิต สาทรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. ที่ได้ร่วมเดินทางไปกรุงมอสโกว รัสเซียเพื่อรับทราบถึงปัญหา ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงว่าการปล่อยดาวเทียมทุกดวงก็เป็นเช่นนี้ ที่ต้องมีข้อตกลงเรื่องชิ้นส่วนที่จะตกในแต่ละประเทศ
ทั้งนี้พลโท ดร.วิชิตแจกแจงว่า การเจรจาระหว่างรัสเซียกับอุซเบกิสถานใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่ากลาง ก.พ.นี้น่าจะเรียบร้อย และต้องรอหลังจากนั้นอีก 5 สัปดาห์เพื่อเติมเชื้อเพลิงให้จรวดจึงจะส่งดาวเทียมได้ ซึ่งเป็นช่วงปลาย มี.ค.51
พลโท ดร.วิชิต กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องนอกเหนือความรับผิดชอบระหว่างบริษัท เนื่องจากเป็นเรื่องการตกลงระหว่างประเทศแล้ว โดยปกติรัสเซียได้ทำข้อตกลงเรื่องชิ้นส่วนตกกับอุซเบกิสถานอยู่แล้ว แต่สัญญาได้หมดลง และกำลังอยู่ระหว่างการตกลงเจรจาครั้งใหม่
ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. ได้ยกตัวอย่างดาวเทียมสเตลลาร์ (Stellar satellite) ของเอสเตรียมเองที่ส่งล่าช้ากว่ากำหนด 6-7 เดือน และเคยมีดาวเทียมที่ส่งล่าช้ากว่ากำหนดเป็นปี เนื่องจากเป็นดาวเทียมที่ต้องส่งไปพร้อมกับดาวเทียมดวงอื่นๆ ส่วนดาวเทียมธีออสนั้นจะส่งขึ้นไปดวงเดียว
"อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเสียหาย ในสัญญาก็มีเรื่องต้องรอการปล่อยดาวเทียมอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเลยกำหนดมาแล้วปรากฏว่ามีปัญหา การส่งดาวเทียมนั้นหากมีไฟแดงขึ้นแค่จุดเดียวก็ปล่อยไม่ได้แล้ว เราเสียเวลารอมา 3 ปี หากส่งขึ้นไปเสียหายแล้วต้องสร้างใหม่ ตายเลย ถามว่าถ้ายิงที่อื่นได้ไหมก็ต้องเริ่มขึ้นใหม่ ยืดยาวอีก ต้องเคลื่อนย้ายดาวเทียมใหม่" พลโท ดร.วิชิตกล่าว
อย่างไรก็ดี ประธานบอร์ด สทอภ.ย้ำว่า ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้หยุดนิ่งและได้จี้ไปยังฝรั่งเศส เนื่องจากอยากให้ดาวเทียมได้ขึ้นไปโคจรเสียที ซึ่งก็ได้รับการชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติและขอให้สบายใจเนื่องจากการเจรจาใกล้จะสำเร็จแล้ว.