เพื่อเป็นการรำลึกถึงสุดยอดนักเขียนนิยายไซไฟแห่งยุคผู้ล่วงลับ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" ผู้เป็นที่เคารพนับถือ และได้รับยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์และคอนักอ่านแนวไซไฟทั่วโลก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงนำประวัติและผลงานบางส่วนของท่านมาฝากผู้อ่าน เพราะเชื่อแน่ว่ายังมีแฟนๆ นักอ่านอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากจะรู้จักท่านเซอร์อาร์เธอร์ให้มากกว่านี้
อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก (Arthur C. Clarke) เกิดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2460 ในเมืองซัมเมอร์เซท (Somerset)ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน บิดามารดามีอาชีพเกษตรกรรม
คลาร์กสนใจวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เขาประดิษฐ์กล้องดูดาวได้ด้วยตัวเองครั้งแรกเมื่ออายุได้ 13 ปี และพออายุ 14 ปี บิดาของเขาก็เสียชีวิต หลังจากนั้นมารดาก็เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว
ปี 2470 คลาร์กเข้าศึกษาชั้นประถมที่ฮิวซ์ส แกรมมาร์ สคูล (Huish's Grammar School) จนจบชั้นมัธยมในปี 2479 จากนั้นก็เริ่มต้นทำงานที่คณะกรรมการการคลังและการตรวจสอบงบประมาณในกรุงลอนดอน พร้อมกับเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมระหว่างดาวเคราะห์อังกฤษ (British Interplanetary Society: BIS)
คลาร์กเริ่มเขียนเรื่องราวที่มาจากจินตนาการตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน โดยอ่านผลงานของเอช จี เวลล์ และจูลส์ เวิร์น รวมทั้งเรื่องราวตื่นเต้นไซไฟในนิตยสารต่างๆ และในช่วงปี 2480 คลาร์กก็เริ่มมีผลงานเรื่องสั้นตีพิมพ์ในวารสารบ้างแล้ว
ช่วงระหว่างปี 2484-2489 คลาร์กเข้ารับราชการทหารเป็นผู้เชี่ยวชาญในระบบเรดาร์ของกองทัพอากาศ และเริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เล่มแรกในช่วงนั้น
ปี 2488 คลาร์กได้เขียนรายงานทางเทคนิคเกี่ยวกับดาวเทียมค้างฟ้า และถูกตีพิมพ์ในวารสาร ไวร์เลส เวิลด์ (Wireless World) ฉบับเดือน ต.ค. ปีเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นที่มาของดาวเทียมสื่อสารในเวลาต่อมา ที่โคจรอยู่ที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตร ซึ่งสมาพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union : IAU) เรียกวงโคจรของดาวเทียมนี้ว่า "วงโคจรคลาร์ก" (Clarke Orbit) หรือ "วงโคจรค้างฟ้า"
หลังสงครามสิ้นสุด คลาร์กเข้าเรียนต่อที่คิงส์คอลเลจ ลอนดอน และสำเร็จการศึกษาทางด้านปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ในปี 2491 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ผลงานนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรกของคลาร์ก "พรีลูด ทู สเปซ" (Prelude to Space) ได้รับการตีพิมพ์ จากการใช้เวลาเขียนเพียง 3 สัปดาห์ ในช่วงฤดูร้อนของปี 2490
ปี 2592 คลาร์กทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการให้กับวารสาร ไซน์ แอบสแทรคท์ (Science Abstracts) ก่อนจะผันตัวเองออกมาเป็นนักเขียนเต็มเวลาในปี 2493
ทั้งนี้ คลาร์กเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่างดาวเคราะห์อังกฤษ ระหว่างปี 2490-2493 และอีกวาระหนึ่งในปี 2496
ปี 2496 คลาร์กสมรสกับมาริลิน เมย์ฟิลด์ (Marilyn Mayfield) หญิงหม้ายชาวอเมริกันที่มีลูกติดอีก 1 คน แต่หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน ก็แยกทางกัน แต่หย่าขาดจากกันจริงๆ ในปี 2507 โดยที่คลาร์กไม่ได้แต่งงานใหม่อีกเลย
คลาร์กเริ่มสนใจการสำรวจใต้ทะและอพยพไปอยู่ที่ศรีลังการในปี 2499 เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับมหาสมุทรอินเดียอีกหลายเล่ม ทั้งที่เป็นเรื่องจริง นิยาย และบทความ และยังได้ร่วมกับไมค์ วิลสัน ถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับ เกรท แบริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง เดอะ ดีพ เรนจ์ (The Deep Range)
ปี 2505 คลาร์กประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะจนเป็นอัมพาต และสั่งลาท้องทะเลที่รักด้วยผลงานเรื่อง ดอลฟิน ไอส์แลนด์ (Dolphin Island) และหลังจากฟื้นตัวเขาก็เริ่มงานสแตนลีย์ คูบริก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 2001: อะ สเปซ โอดิสซีย์ (2001: A Space Odyssey)
ปี 2523 ชื่อเสียงของคลาร์กโด่งดังมากยิ่งขึ้นเขาหันมาทำรายการโทรทัศน์และเป็นพิธีกรด้วยตัวเองในรายการ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก มิสทีเรียส เวิลด์" (Arthur C. Clarke's Mysterious World) และในปี 2525 กับรายการ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก เวิลด์ ออฟ สเตรนจ์ เพาเวอร์" (Arthur C. Clarke's World of Strange Powers) ระหว่างนั้นก็เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และอินเดีย
ปี 2529 สมาคมนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Science Fiction Writers of America) ยกย่องคลาร์กให้เป็น "แกรนด์ มาสเตอร์" (Grand Master) ทางด้านนิยายไซไฟ
ปี 2541 คลาร์กได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน (Knighthood) จากสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และมีบรรดาศักดิ์เป็นท่านเซอร์
คลาร์กใช้ชีวิตอยู่ในศรีลังกามากว่าครึ่งชีวิตจนได้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของศรีลังกาไปแล้ว ซึ่งสามารถอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องต่อวีซ่า และเขาก็ได้รับการยกย่องจากชาวศรีลังกาอย่างมากและยกให้เป็น "ความภูมิใจของศรีลังกา" พร้อมกับมอบรางวัล The Lankabhimanaya award (Pride of Lanka) ให้เป็นเกียรติ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2548
ในช่วงบั้นปลายชีวิต อาการป่วยด้วยโรคโปลิโอทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมาระยะหลังคลาร์กต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นตลอดเวลา และในวันที่ 16 ธ.ค.50 คลาร์กก็ได้ฉลองวันเกิดและการเดินทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ของเขาในวาระครบ 90 ปี ซึ่งมีเพื่อนพ้องมาร่วมยินดีมากมาย
กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 19 มี.ค. 2551 ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา คลาร์กจากไปอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ตำนานชีวิตของวีรบุรุษแห่งวงการวิทยาศาสตร์ และปรมาจารย์นิยายไซไฟก็ได้ปิดฉากลงไปพร้อมกัน
********
ส่วนผลงานนวนิยายของอาร์เธอร์ ซี คลาร์ก มีดังต่อไปนี้ ซึ่งจะมีบางเรื่องได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้วเมื่อหลายปีก่อน และค่อนข้างหายากทีเดียว โดยจะระบุชื่อหนังสือในภาษาไทยไว้ด้วย ได้แก่
- Prelude to Space (1951)
- The Sands of Mars (1951)
- Islands in the Sky (1952)
- Against the Fall of Night (1953) : ประหนึ่งจะเย้ยรัตติกาล แปลโดย ยรรยง เต็งอำนวย สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ปี 2539
- Childhood's End (1953) : สุดสิ้นกลิ่นน้ำนม แปลโดย ภาพรรณ ตีพิมพ์เป็นนิตยสารสเปคตรัมฉบับที่ 9 ปี 2518 โดยบริษัท คอลเลจ บุคส์
- Earthlight (1955) : แสงโลก แปลโดย ชัยคุปต์
- The City and the Stars (1956)
- The Deep Range (1957)
- A Fall of Moondust (1961) : นรกใต้ทะเลฝุ่น แปลโดย บรรยงก์ สำนักพิมพ์ออบิท ปี 2523
- Dolphin Island (1963)
- Glide Path (1963)
- 2001: A Space Odyssey (1968) : จอมจักรวาล แปลโดย ดาวเกษ สำนักพิมพ์หนังสือกันยา ปี 2524 หรือ จอมจักรวาล 1 แปลโดย ระเริงชัย สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า ปี 2537
- Rendezvous with Rama (1972) : ดุจดั่งอวตาร แปลโดย กลุ่มออบิท สำนักพิมพ์ ออบิท, บริษัท โปรวิชั่น จำกัด
- Imperial Earth (1975)
- The Fountains of Paradise (1979) : พาราไดซ์ แปลโดย ญาฎา สำนักพิมพ์ จินตนาการ ปี 2528 หรือ สู่สวรรค์ สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า
- 2010: Odyssey Two (1982) : จอมจักรวาล 2 แปลโดย ฤดีดวง และ ณัฐ ศาสตร์ส่องวิทย์ สำนักพิมพ์ ซีเอ็ดยูเคชัน ปี 2526
- The Songs of Distant Earth (1986)
- 2061: Odyssey Three (1988) : จอมจักรวาล 3 แปลโดย พันธุ์ อรรณพ
- A Meeting with Medusa (1988)
- Cradle (1988) (แต่งร่วมกับ Gentry Lee)
- Rama II (1989) (แต่งร่วมกับ Gentry Lee)
- Beyond the Fall of Night (1990) (แต่งร่วมกับ Gregory Benford)
- The Ghost from the Grand Banks (1990)
- The Garden of Rama (1991) (แต่งร่วมกับ Gentry Lee)
- Rama Revealed (1993) (แต่งร่วมกับ Gentry Lee)
- The Hammer of God (1993)
- Richter 10 (1996) (แต่งร่วมกับ Mike McQuay)
- 3001: The Final Odyssey (1997) : จอมจักรวาล (ภาคอวสาน) แปลโดย ลักษณรงค์
- The Trigger (1999) (แต่งร่วมกับ Michael P. Kube-McDowell)
- The Light of Other Days (2000) (แต่งร่วมกับ Stephen Baxter)
- Time's Eye (2003) (แต่งร่วมกับ Stephen Baxter)
- Sunstorm (2005) (แต่งร่วมกับ Stephen Baxter)
- Firstborn (2007) (แต่งร่วมกับ Stephen Baxter)
**หมายเหตุ สำนักพิมพ์ดอกหญ้าได้จัดพิมพ์หนังสือชุด "จอมจักรวาล" และ สู่สวรรค์ เมื่อราวปี 2537 ซึ่งน่าจะยังพอหาซื้อได้ หรืออาจติดต่อกับทางสำนักพิมพ์ได้โดยตรง