xs
xsm
sm
md
lg

หมั่นใช้สมองแต่ไม่ต้องคิดมาก ลดเสี่ยง "อัลไซเมอร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์ประสาทเตือนคนไทยเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มเป็น 4 เท่า ซ้ำกำลังคุกคามคนหนุ่มสาว แต่ป้องกันได้ถ้าไม่หาเรื่องใส่ตัว ส่วนผู้สูงอายุต้องหมั่นใช้สมอง แต่ไม่คิดมาก ช่วยยืดอายุเซลล์สมองได้

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ประธานวิชาการสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการครั้งแรกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (The First National Conference on Neuroscience) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.51 ว่า ปัจจุบันเมื่อประชาชนมีอายุยืนมากขึ้น ผลเสียที่ตามมาคือมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคทางสมองและระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ที่พบบ่อยคือโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ได้เกิดผลเสียเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ที่อาจต้องสูญเสียบุคคลากรผู้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศเพราะเหตุนี้อีกมาก และจำนวนผู้ป่วยก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต, สมองเสื่อมอัลไซเมอร์, อุบัติเหตุทางสมอง และอุบัติเหตุบนใบหน้า

"จากสถิติในปี 2526 มีความชุกของประชากรไทยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 7 คนใน 1,000 คน ต่อมาในปี 2541 เพิ่มขึ้นเป็น 11 คนใน 1,000 คน และล่าสุดในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 25 คนใน 1,000 คน จะเห็นได้ว่าเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า"

"ในปี 2545 มีการสำรวจประชากรในกรุงเทพฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 100 คน พบว่าเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ถึง 10 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การบริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรค นอกเหนือจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อสมองถูกทำลายหรือเสื่อมลงไปแล้ว การจะทำให้ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกตินั้นทำได้ยาก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ที่น่าตกใจกว่านั้น รศ.นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่ามีอัตราของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมอาจเกิดจากเซลล์สมองเสื่อมไปเองตามธรรมชาติ แต่อาจเกิดเร็วกว่ากำหนด ซึ่งเรียกว่าอัลไซเมอร์ และยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้ เช่น อุบัติเหตุ การสูบบุหรี่ กินอาหารที่มีไขมันสูง ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวานโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมองเสื่อมเกิดในคนอายุน้อยๆ

"สมองเสื่อมต่างกับอาการหลงลืม ทั้งนี้เพราะความจำเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหน้าที่สมอง แต่ภาวะสมองเสื่อมนั้นเกิดจากสมองสูญเสียหน้าที่หลายส่วน เช่น การคิด การแก้ปัญหา การควบคุมการทำงานของร่างกาย" รศ.นพ.สมศักดิ์ชี้แจง และบอกอีกว่าโรคพาร์กินสันซึ่งเกิดจากเซลล์สมองที่ทำหน้าที่สร้างสารสื่อประสาทเสื่อม ก็เป็นโรคทางสมองอีกโรคหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ นายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เสริมว่า โรคทางสมองและระบบประสาทในคนอายุน้อยส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ป่วยชักนำเหตุปัจจัยเข้ามา ทั้งการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารมันจัด หวานจัด เค็มจัด เป็นต้น

แต่ทั้งหมดนี้สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคทางสมองมาก่อน โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวมาพร้อมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการเดินวันละ 10,000 ก้าว ไปพร้อมกับกิจวัตรอื่นๆ เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์

"สำหรับผู้สูงอายุนั้น การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอจะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานได้ดี เช่น เล่นดนตรี คอสเวิร์ด อ่านหนังสือ พูดคุยกัน ซึ่งชมรมผู้สูงอายุจะมีส่วนช่วยตรงนี้ได้" ศ.นพ.สุทธิพันธ์กล่าวเสริม

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการระดับชาติครั้งแรกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค.51 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ไซน์ปาร์ก) จ.ปทุมธานี ผู้สนใจติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ http://neurosci.kku.ac.th หรือ http://www.biotec.or.th

กำลังโหลดความคิดเห็น