xs
xsm
sm
md
lg

ปี พ.ศ. 2555 "คนชรา" จะล้นเมือง !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อไม่นานมานี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่เรียกว่า "ล้นเมือง" แต่ล่าสุด มีการวิเคราะห์ว่า ความหวั่นวิตกต่อปัญหาวิกฤตผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้น จะย่นระยะเวลาใกล้เข้ามาเหลือเพียงอีก 4 ปีข้างหน้านี้เท่านั้น!!

ในปี 2537 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการวางแผนครอบครัว ทำให้อัตราเกิดลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องขณะที่ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้ประชากรตายช้าลง ต่อมาในปี 2545 ที่ทำการสำรวจอีกครั้งหนึ่งพบว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุของไทยได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 6 ล้านคน

จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2553 และ 2563 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 และร้อยละ 15 ตามลำดับ ขณะที่สังคมไทยขยับสู่สังคมของผู้สูงอายุทะลุหลัก 6,800,000 คนอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี ตัวเลขผู้สูงอายุซึ่งถูกทอดทิ้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลับมีจำนวนสูงถึงกว่า 4 แสนคน!

ล่าสุด จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าปัญหาของผู้สูงอายุแบ่งออกเป็นปัญหาหลักๆ ได้ 4 ข้อ ได้แก่ ร้อยละ 28.1 ของประชากรผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวนั้นปราศจากคนดูแล และมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 50.1 ที่ประสบกับความเหงา ส่วนร้อยละ 16 ต้องหาเลี้ยงชีพตนเองและมีปัญหาด้านการเงิน ขณะที่ร้อยละ 5.3 ไม่มีลูกหลานมาช่วยแบ่งเบาภาระภายในบ้าน ฯลฯ

ฟากผลสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุตัวเลขที่คาดประมาณจำนวนประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2550 ของไทยไว้ที่ 6,824,000 คน แบ่งเป็น ประชากรสูงอายุวัยต้น (60-79 ปี) 6,172,000 คน ประชากรสูงอายุวัยปลาย (80-99 ปี) 648,000 คน ขณะที่ประชากรสูงอายุกลุ่มที่เรียกว่า "ศตวรรษิกชน" ซึ่งมีอายุ 100 ปีขึ้นไปนั้น มีจำนวนกว่า 4,000 คน!

ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกต่างก็กำลังประสบกับสถานการณ์ผู้สูงอายุล้นเมืองเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสูงอย่างญี่ปุ่น ที่ประชากรสูงอายุของญี่ปุ่นจะมีจำนวนถึงร้อยละ 30 ในปี ค.ศ. 2035 ที่จะถึงนี้ ซึ่งในขณะนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็กำลังวางแผนจัดหาที่อยู่เพื่อรองรับประชากรสูงวัยกลุ่มใหญ่นี้ในอนาคต อาทิ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเดินทางไปพำนักระยะยาวในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับสังคมไทย ทางแก้ปัญหา มิใช่การ "ผลักไส" ผู้สูงอายุออกไปจากสังคม แต่หัวใจสำคัญคือ การอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายวัยอย่างสันติสุข พร้อมกันนั้น เหล่าผู้สูงอายุในสังคมไทยก็พากันออกมาตั้งคำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่า ได้เตรียมแผนนโยบายอะไรไว้รองรับหรือไม่ เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

จากยุคเบบี้บูมถึงวัยเกษียณ

"Baby Boom" เป็นปรากฎการณ์ด้านประชากรศาสตร์ซึ่งหมายถึงประชากรกลุ่มที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณปี พ.ศ.2489 - 2507 โดยที่ในยุคดังกล่าวหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศหลังเหตุการณ์สงคราม ด้วยเหตุผลดังกล่าวการเพิ่มจำนวนประชากรในยุค Baby Boom จึงมีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของโลก และเมื่อใดก็ตามที่คนกลุ่มนี้เคลื่อนตัวไปที่ไหนก็จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศตามไปด้วย

ปัจจุบันประชากรยุค Baby Boom จะมีอายุอยู่ระหว่าง 44 - 62 ปี เป็นวัยที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุและกำลังจะเกษียณอายุจากการทำงาน โดยข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ประเทศใดที่มีอัตราส่วนของผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป อยู่ในระหว่าง 7-14 % ถือว่าประเทศนั้นเป็นประเทศผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากมีอัตราส่วนเกิน 14 % หมายถึงประเทศนั้นเป็นประเทศผู้สูงอายุเต็มตัว ซึ่งผลพวงของปรากฎการณ์ประชากรศาสตร์ยุค Baby Boom ได้ส่งผลกระทบ ถึงการเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

โดยจากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรยุค Baby Boom สูงถึง 13.7 % และมีสัดส่วนการเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปสูงกว่า 7 % ประกอบกับแนวโน้มของการมีอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้นของคนไทยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าอายุขัยเฉลี่ยในเพศหญิงสูงขึ้นถึง 96.5 ปี และในเพศชายสูงขึ้นถึง 87 ปี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอีก 4 ปี ข้างหน้าหรือประมาณปี พ.ศ.2555 เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 30 ล้านคน และเมื่อเวลานั้นมาถึงโครงสร้างประขากรของประเทศไทยจะเคลื่อนเข้าสู่การเป็นประเทศผู้สูงอายุเต็มตัว

ผลกระทบจากการเข้าสู่วัยชราของคนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้จะทำให้เกิดภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ เกิดภาวะทุพพลภาพทางสังคมรวมทั้งปัญหาสุขภาพ ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แก่อย่างไรให้มีความสุข?

จากการคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกับปัญหา ภาคีสมัชชาสุขภาพภาคกลางจึงได้หยิบยกประเด็น "พลังเครือข่ายของผู้สูงอายุ สร้างสุขสูงวัยสง่างาม" ขึ้นมาพูดคุยกันในเวทีงานสร้างสุขภาคกลาง ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.สุพรรณบุรีโดยมีภาคีสมัชชาสุขภาพภาคกลาง ภาคตะวันออกและตะวันตก หน่วยงานและตัวแทนจากภาครัฐรวมทั้ง สสส.เป็นเจ้าภาพร่วม ทั้งนี้เพื่อเป็นการระดมความคิดและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะนำมากำหนดเป็นแนวทางและแผนงานสำหรับรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

ผ่องศรี ธาราภูมิ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า จากการศึกษาถึงปัญหาของผู้สูงอายุภาคกลางพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวไม่มีรายได้ และยังไม่ได้รับสวัสดิการจากทางรัฐบาล รวมถึงปัญหาช่องว่างระหว่างวัยและความห่างของวัย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนประชากรจนทำให้เกิดปรากฎการณ์ประชากรศาสตร์ "Baby Boom" ขึ้น

ทว่า หลังจากนั้นรัฐบาลกลับรณรงค์ให้มีการคุมกำเนิด ทำให้การเกิดใหม่ของประชากรในช่วงยุค Baby Boom มีจำนวนลดน้อยลงมากจนกลายเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความห่างของวัย และเกิดปัญหาการสืบสานงานต่อจากคนรุ่นก่อน และนอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากคนที่เกิดในยุค Baby Boom มีจำนวนมากเมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็จะทำให้มีจำนวนแรงงานเพิ่มมากขึ้นด้วย และยังเป็นแรงงานสำคัญของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อประชากรกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้นอกจากผลกระทบด้านจำนวนแรงงานแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ การไม่สามารถหาแรงงานในระดับผู้บริหารเพื่อมาทดแทนแรงงานที่เกษียณอายุไปแล้ว และคนกลุ่มนี้บางส่วนเมื่อเกษียณอายุการทำงานแล้วจำเป็นต้องพึ่งเงินจุนเจือและสวัสดิการจากรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากประชากรผู้สูงอายุจะเริ่มนำเงินออมตลอดช่วงวัยทำงานออกมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อความสุขบั้นปลายในชีวิต ประกอบกับประชากรรุ่นหลังมีแนวโน้มออมเงินน้อยกว่า ส่งผลให้เงินออมของประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย

ส่วนปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งเกิดจากความเสื่อมถอยของสมรรถภาพด้านร่างกายทำให้เกิดโรคประจำตัว ซึ่งส่วนมากเป็นโรคปวดเมื่อยตามร่างกาย ข้อเสื่อม นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ โรคสายตา และโรคช่องปาก รวมทั้งโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดความพิการได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง "การที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นนี้ทำให้เป็นภาระของท้องถิ่น จังหวัดและประเทศในการพัฒนาไปทางด้านต่างๆ ได้" ผ่องศรีกล่าว

พ่ออัมพร ติตา ประธานเครือข่ายผู้สูงอายุบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี วัย 80 ปี ร่วมเสนอแนวทางออกของปัญหานี้โดยเสนอให้มี "การจัดตั้งเครือข่ายผู้สูงอายุ" ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกันได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเครือข่ายผู้สูงอายุเปรียบเหมือนตัวเชื่อมประสานของผู้สูงอายุทุกคนจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ตนเอง ปัญหาของผู้สูงอายุจะมีคล้ายๆ กันเกือบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ มีโรคประจำตัว โดยคุณพ่ออัมพรได้เล่าว่า

"การช่วยเหลือสมาชิกผู้สูงอายุนั้น ทางเครือข่ายผู้สูงอายุที่บางปลาม้าได้จัดทำโครงการต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น การประกอบอาชีพเสริมของผู้สูงอายุ การจัดตั้งออมทรัพย์ผู้สูงอายุ การลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนศึกษาดูงาน เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้มีเงินออมใช้ในยามฉุกเฉิน และได้ความรู้ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเครือข่ายผู้สูงอายุจากจังหวัดต่างๆ และการที่ผู้สูงอายุได้มาอยู่ร่วมกันได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อให้เกิดสังคมและขยายเป็นเครือข่ายที่มีพลังเข้มแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้ ผู้สูงอายุภูมิใจในตนเอง"

สูงวัยอย่างสูงค่า

ด้านประธานชมรมกีฬาผู้สูงอายุ จังหวัดสุพรรณบุรี พ่อมนัส อยู่สุข กล่าวว่า ในอดีตผู้สูงอายุเป็นที่เคารพนับถือและเป็นเสาหลักของชุมชน ได้รับการยกย่องให้เป็น "ปูชนียบุคคล" แต่ในปัจจุบันผู้สูงอายุถูกลดบทบาททางสังคมลง อาจจะมาจากกระแสการแข่งขันจึงทำให้ผู้สูงอายุด้อยศักยภาพในสายตาของสังคม คำว่า "ปูชนียบุคคล" จึงถูกเปลี่ยนเป็น "ปู ชะนี ยักษ์ บุคคล" หรือ "ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี" จากอดีตผู้สูงอายุเคยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันกลับถูกมองว่าเป็นภาระให้ลูกหลานและสังคม

ดังนั้น การสร้างวัยสูงค่าในวัยผู้สูงอายุนั้นต้องเริ่มจากการกระทำตัวเองก่อน ความรู้ความสามารถที่เคยมีอย่าให้แก่ตามวัย ควรนำมาสร้างให้เกิดคุณค่า ซึ่งการตั้งชมรมผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้สูงอายุนั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุเองก็ไม่ได้รอความช่วยเหลือจากสังคม หรือรัฐบาลอย่างเดียว

"เครือข่ายฯ จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุเพราะการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน อยากให้ลูกหลานนับถือ อยากเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน ต้องทำตัวให้มีคุณค่า ไม่อยู่นิ่งดูดายกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่ารอให้ลูกหลานต้องเป็นฝ่ายมาหา เราพูดคุยกับลูกหลานวางแผนงาน คุยเรื่องต่างๆ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกัน และการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุให้เข้มแข็งขึ้นนั้นก็นับว่าเป็นการเตรียมการณ์ให้ลูกหลานในอนาคตได้สร้างสุขด้วย เช่นกัน"

เมื่อปี พ.ศ.2555 มาถึงซึ่งเป็นยุคที่มีคนชราล้นเมือง การวางแผนรองรับคนกลุ่มนี้จึงต้องเริ่มที่จะทำเพื่อหาหนทางร่วมกันไม่ใช่เฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่จะเป็นคนวางโครงการต่างๆ ไว้ให้ลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนแก่คนเฒ่าในรุ่นต่อๆ ไป เพราะการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้ทำได้แค่คนเดียวแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้คนหลายฝ่าย จากหลายหน่วยงานร่วมกัน

ดังเช่นในวงเสวนาผู้สูงอายุที่สมัชชาสุขภาพภาคกลาง 26 จังหวัดร่วมกับสสส. ช่วยกันผลักดันสร้างพลังเครือข่ายผู้สูงอายุให้เข้มแข็งทั่วประเทศ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มีสวัสดิการ มีรายได้และมีอาชีพเสริม รวมทั้งได้นำประสบการณ์อันดีงามนำมาถ่ายทอดให้อนุชนคนรุ่นหลังรับรู้ ทำให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจอย่าง "สูงวัยสง่างาม"
 
*ข้อมูลในการเขียนจากงานเสวนาในเวทีสมัชชาสร้างสุขภาคกลาง สสส.




กำลังโหลดความคิดเห็น