กรมอนามัยห่วงใยสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่หันมาพึ่งการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เตือนอันตรายถึงชีวิต สั่งเดินเครื่องเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศให้ความรู้เรื่องการป้องกัน ความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนครอบครัวและความพร้อมในการมีลูกที่ถูกต้อง-เหมาะสม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่นำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยว่า การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนและไม่พึงประสงค์เป็นปัญหาสาธารณสุขและสังคมที่สำคัญและนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งเกิดจากขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ถูกต้อง การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างไม่ถูกต้องและการเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด หากหญิงคนนั้นไม่ได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือที่เหมาะสม อาจตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางกาย จิตใจ ครอบครัวและสังคมตามมาได้ เช่น การพยายามทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงด้วยวิธีต่างๆ จนเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
ทั้งนี้ ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี นับเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีจำนวนถึง 16 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ แม้การแพทย์และสาธารณสุขของไทยจะเจริญก้าวหน้าไปมากทัดเทียมหรือนำหน้าประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในกลุ่ยรุ่น และเป็นปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพกาย จิตใจและคุณภาพชีวิตของหญิงวัยเจริญพันธุ์
จากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่า ร้อยละ 40 ของผู้หญิงหลังแท้งมีภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ติดเชื้อในกระแสโลหิต ไตวาย ตกเลือดและมดลูกทะลุ รวมทั้งพบว่า อัตราการตายของผู้หญิงจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัยในปี 2542 สูงถึง 300 ต่อ 100,000 รายของผู้หญิงที่ทำแท้ง ซึ่งสูงกว่าการตายของมารดาจากการคลอดเป็นหลายเท่า และข้อมูลปี 2547 พบผู้หญิงเข้ารับการรักษาหลังแท้งจำนวน 13,833 คน ในจำนวนนี้มีโรคแทรกซ้อนหลังแท้งร้อยละ 36.2 และเสียชีวิต 12คน (ข้อมูล สปสช.) ซึ่งตัวเลขนี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น
“ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน ขาดความรู้ ขาดความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของคู่รักที่อยู่ในวัยเรียน การท้องไม่มีพ่อ หรือความไม่พร้อมทางด้านครอบครัว เป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ถ้ารู้จักใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม และถ้าหากเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิดหรือไม่ได้คุมกำเนิด การทำแท้งก็ไม่ใช่วิธีการยุติปัญหา โดยเฉพาะการทำแท้งโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์หรือไม่ความรู้ ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้”
นพ.ณรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการป้องกันและหาแนวทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ในปี 2551 นี้ กรมอนามัยจึงได้เร่งรัดการดำเนินงานเรื่องการวางแผนครอบครัว โดยจัดอบรมฟื้นฟูความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน 36 จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานบริการทุกระดับในการให้บริการและความรู้แก่ประชาชน พร้อมทั้งยังมีการจัดอบรมแพทย์ พยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการในเรื่องการให้บริการหญิงหลังแท้ง การรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย การให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการแท้งซ้ำ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ปลดภัย ทันสมัย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องอนามัยการเจริญพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น ได้แก่ โครงการวัยเรียน วัยใส อนามัยดี๊ดี โครงการสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โครงการพัฒนาบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยร่น และโครงการประกวดผลงานด้านการจัดบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่น