กว่าจะมาเป็นก๊าซ “เอ็นจีวี” ที่ใช้งานในยานยนต์ได้ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากมายเพื่อขุดเจาะเอา “ก๊าซธรรมชาติ” ที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นทะเล ลำเลียงขนส่งเข้าสู่ฝั่ง และผ่านกระบวนการต่างๆ จนนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงอาสาพาคุณไปรู้จักกับก๊าซธรรมชาติและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ ในงาน “GASTECH 2008”
“GASTECH 2008” (ก๊าซเทค 2008) เป็นงานประชุมและแสดงนิทรรศการระดับโลกด้านอุตสาหกรรมก๊าซแอลเอ็นจี แอลพีจี และก๊าซธรรมชาติ ครั้งที่ 23 และเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติไบเทค บางนา ตั้งแต่วันที่ 10-13 มี.ค. 2551 โดยมีกลุ่ม ปตท. เป็นแม่งานใหญ่ มีผู้ร่วมแสดงนิทรรศการกว่า 300 ราย จาก 36 ประเทศทั่วโลก ณ ศูนย์แสดงสินค้า ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เลยถือโอกาสนี้ไปเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาฝากกัน
ก๊าซธรรมชาติ (Natural gas) เกิดจากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตนับล้านปี ที่ถูกแปรสภาพโดยความร้อนและความกดดันของผิวโลกจนกลายเป็นก๊าซไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดสะสมอยู่รวมกันใต้ผิวโลก โดยมีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักประมาณ 75-90% และอาจมีส่วนที่เป็นของเหลวหรือคอนเดนเสทรวมอยู่ด้วย
เมื่อราว 30 ปีก่อน ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี (Liquefied Natural Gas: LNG) จากสหรัฐฯ มาใช้หลังจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก กระทั่งปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากที่สุดในโลก คิดเป็น 50% ของความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลวทั่วโลก ส่วนประเทศไทยแม้จะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่ในอ่าวไทย แต่ก็ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของโลกส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน การ์ตา เยเมน และยังมี อัลจีเรีย ออสเตรเลีย บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
นับวันก๊าซธรรมชาติยิ่งมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้นเพราะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่า และส่งผลกรทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเชื้อเพลิงจากถ่านหิน, ลิกไนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปกติการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตไปใช้จะขนส่งด้วยระบบท่อ แต่หรือหากระยะทางไกลเกินกว่า 2,000 กิโลเมตร หรือในกรณีนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ การขนส่งผ่านท่อทำได้ยากและลงทุนสูงมาก จึงต้องขนส่งทางเรือและต้องทำให้อยู่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อลดปริมาตรและเพิ่มความสะดวก
ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งกำเนิดใต้พื้นทะเลจะถูกลำเลียงผ่านท่อไปยังโรงงานบนฝั่ง ผ่านกระบวนการแยกสิ่งเจือปนต่างๆ ออกไป ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถัน จากนั้นลดอุณหภูมิให้ต่ำลงเหลือเพียง -160 องศาเซลเซียส เพื่อให้ก๊าซธรรมชาติเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว และกักเก็บไว้ในแทงก์เก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งปริมาตรจะลดลงจากเดิมถึง 600 เท่า ทำให้ง่ายต่อการขนส่งทางเรือ และต้องรักษาอุณหภูมิของก๊าซธรรมชาติเหลวที่ -160 องศาเซลเซียส ตลอดการเดินทาง เมื่อถึงที่หมายและก่อนนำไปใช้งานจึงค่อยผ่านกระบวนการเปลี่ยนกลับให้อยู่ในสถานะก๊าซเช่นเดิม
ยกตัวอย่างการนำเอาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาใช้งานที่ดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหลายโครงการ เฉพาะโครงการบงกชที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยด้วยกำลังการผลิต 630 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งผ่านท่อมายังโรงงานแยกก๊าซที่มาบตาพุด จ.ระยอง ผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือเอ็นจีวี (Natural Gas for Vehicles: NGV), ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas: LPG) และใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่างๆ
สำหรับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตก๊าซธรรมชาตินั้นมีมาก และก่อเกิดอุตสาหกรรมหนักมากมายทั้งผลิตแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ เรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว ถึงกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ระบบท่อขนส่งก๊าซ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติหรือควบคุมการผลิต, การก่อสร้าง เช่น เครื่องวัดปริมาณสนิมในท่อส่งก๊าซ, อุปกรณ์กันสนิมและป้องกันการผุกร่อนของท่อส่งก๊าซ, เครื่องตรวจรอยเชื่อมต่อของถังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวด้วยระบบอัลตราโซนิค เป็นต้น