xs
xsm
sm
md
lg

แล็บอวกาศโคลัมบัสประเดิมงานแรก "ปลูกมัสตาร์ด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีซา/สเปซด็อทคอม -ห้องปฏิบัติการอวกาศ "โคลัมบัส" ประเดิมงานแรก ทดลองปลูกต้นมัสตาร์ด บนสถานีอวกาศนานาชาติ หมายศึกษาผลของแรงโน้มถ่วงต่อการเติบโตของระบบราก สานความหวังปลูกพืชไว้กินระหว่างการเดินทางข้ามหมู่ดาวในอนาคต

ลีโอโปลด์ เออาร์ต (Leopold Eyharts) นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ประเดิมการทดลองแรกหลังการเชื่อมต่อห้องปฏิบัติการอวกาศโคลัมบัส (Columbus) ของอีซา แล้วเสร็จเมื่อกลางดึกวันที่ 11 ก.พ.51 ด้วยการปลูกต้นอะราบิดอบซิส (Arabidopsis) ไว้ในส่วนปฏิบัติการชีววิทยาหรือ "ไบโอแล็บ"

"อะราบิดอบซิส" เป็นไม้ดอกขนาดเล็กสกุลหนึ่งในวงศ์บราสซิคาซิอี (Brassicaceae) เป็นพืชที่มีรสเผ็ดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับมัสตาร์ด และเกี่ยวข้องกับกะหล่ำ 

อีกทั้ง ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า อะราบิดอบซิส ธาเลียนา (Arabidopsis thaliana) หนึ่งในสายพันธุ์ของอะราบิดอบซิส ถือเป็นต้นแบบของการศึกษาด้านชีววิทยาของพืช เพราะสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นพืชชนิดแรกที่มีการถอดลำดับพันธุกรรมทั้งหมด (จีโนม) ได้สำเร็จแล้ว

การทดลองครั้งแรกของโคลัมบัสนี้มีชื่อว่า "การหยักและขมวดของรากอะราบิดอบซิสในระดับแรงโน้มถ่วงต่างๆ" (Waving and Coiling of Arabidopsis Roots at Different g-levels: WAICO) เพื่อดูการเจริญเติบโตของเมล็ดอะราบิดอบซิส 2 ชนิดคือ เมล็ดอะราบิดอบซิสป่าและเมล็ดอะราบิดอบซิสตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)

เมล็ดมัสตาร์ดทั้ง 2 ชุดถูกนำไปปลูกในสภาพที่มีระดับแรงโน้มถ่วงต่างกันคือ ที่สภาพไร้แรงโน้มถ่วง (0g) และที่สภาพแรงโน้มถ่วงโลก (1g) นาน 10-15 วัน พร้อมทั้งควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และสภาพที่มีแสงสว่างส่องถึง

นอกจากนั้น ยังจะบันทึกภาพวีดิโอติดตามการงอกของรากทุกวัน พร้อมส่งข้อมูลตามเวลาจริง (เรียลไทม์) ถึงพื้นโลกให้ ศ.กุนเธอร์ เชอเรอร์ (Guenther Scherer) หัวหน้าการทดลองที่มหาวิทยาลัยไลปนิซ เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี (Leibniz Universität Hannover) ศึกษาถึงผลของแรงโน้มถ่วงต่อการงอกของราก

"เรากำลังจะได้ชมว่าเมล็ดพืชพวกนี้จะเจริญเติบโตกันอย่างไรในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง" เออาร์ตบอกแก่นักเรียนราว 300 คนในเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 มี.ค.51 ผ่านระบบวิดิโอลิงค์จากอวกาศ

อีซาเชื่อว่า ผลการทดลองที่ได้จะทำให้เราเข้าใจกระบวนการเจริญเติบโตของพืชได้ดีขึ้น อีกทั้งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผลการเกษตรบนโลก

ส่วนเป้าหมายที่ไกลออกไปในการส่งคนไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร การทดลองนี้จะสนับสนุนความรู้เพื่อการปลูกพืชในอวกาศ ทำให้ผู้ที่อยู่ในอวกาศมีอาหารสดใหม่ไว้บริโภคระหว่างการเดินทางที่อาจต้องใช้เวลามากถึง 2 ปี

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการทดลอง ไบโอแล็บจะราดสารตรึงสภาพลงไปในกล่องเพาะพืชโดยอัตโนมัติ เพื่อเก็บรักษาต้นมัสตาร์ดให้อยู่ในภาวะการเติบโตขั้นสุดท้าย จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ต่อบนโลก โดยเออาร์ตจะบันทึกภาพไว้ด้วยกล้องความละเอียดสูง

อย่างไรก็ดี นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสผู้นี้จะเดินทางกลับโลกพร้อมผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกบนอวกาศด้วยยานอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา ที่มีกำหนดเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ไปยังไอเอสเอสในวันที่ 11 มี.ค.51 และกลับสู่โลกในช่วงปลายเดือน มี.ค.51.



กำลังโหลดความคิดเห็น