โจทย์ง่ายๆ แค่เรียงสีแต่ละหน้าให้ได้สีเดียวกัน บางคนอาจใช้เวลาร่วมเดือน ขณะที่บางคนสามารถคืนสภาพเดิมให้กับลูกบาศก์ "รูบิก" ได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่ก็มีบางคนที่ทิ้งความยุ่งเหยิงค้างปีโดยไม่หันกลับไปเหลียวแลอีกเลย ความท้าทายที่จะสลับสีให้กลับไปเรียบร้อยเหมือนเดิมนี้เองได้ทำให้เด็กตลอดจนผู้ใหญ่ทั่วโลกหลงรักในของเล่นฝึกสมองนี้มากว่า 30 ปีแล้ว สำหรับคนไทยก็มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งหลงใหลในลูกบิดนี้ไม่ต่างกัน
เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ชัชวาลย์ จารุวัฒนกุลซึ่งขณะนั้นเป็นเด็กชายวัยกว่า 10 ขวบที่อาศัยอยู่ในจังหวัดลำปางได้รู้จักกับลูกบาศก์รูบิก (Rubik's Cube) ผ่านรายการโทรทัศน์และเรียนรู้สูตรที่จะแก้เกมลูกบาศก์ได้ภายใน 3-5 นาที แม้ของเล่นที่เขาเคยหลงใหลได้เลือนหายไปกับกาลเวลาของการเติบโดเป็นผู้ใหญ่ แต่ล่าสุดเขากลายเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ thailandcube อันเป็นแหล่งชุมนุมของผู้เล่นรูบิกที่มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการเผยเคล็ดลับวิธีเล่น เทคนิคพิชิตเกมให้เร็ว การรวมกลุ่มกันเพื่อล่ารางวัลในเวทีแข่งขันต่างๆ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางซื้อ-ขายรูบิกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหลังการเปิดตัวเว็บไซต์ได้เพียงครึ่งปีกลุ่มผู้หลงรักรูบิกก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
การแข่งขัน "รูบิก อพวช." ที่จัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ภายในงาน "ถนนสายวิทยาศาสตร์ 2551" ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานับเป็นเวทีการแข่งขันรูบิกระดับประเทศที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐเป็นครั้งแรก ซึ่งการแข่งขันจะเฟ้นหาผู้สามารถแก้เกมรูบิกได้รวดเร็วที่สุด และภายในงานนี้ลูกชายหัวแก้ววัย 7 ขวบของชัชวาลย์ก็คว้าชัยในระดับประถมศึกษา ส่วนผู้เป็นแชมป์ของระดับมัธยมและประชาชนทั่วไปก็มาจากสมาชิกของเว็บไซต์นั่นเอง
ทั้งนี้เมื่อครั้งทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในเมืองหลวงชัชวาลย์ได้รู้จักลูกบิดคล้ายๆ รูบิกที่เขารู้จัก จนกระทั่งกลับไปเปิดกิจการส่วนตัวที่บ้านเกิดและได้เห็นของเล่นในวัยเด็กวางขายตามตลาดนัดเขาก็อยากจะรื้อฟื้นความหลังอีกครั้งจึงซื้อมาเล่น แล้วเริ่มสนใจในการเล่นรูบิกแบบ "สปีด" (Speedcubing) คือแก้รูบิกให้เร็วที่สุดนั้นเมื่อได้รู้จักกับเพื่อนที่บราซิล จากนั้นเขาจึงได้ศึกษาข้อมูลวิธีการเล่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แล้วเปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าวโดยความช่วยเหลือของเพื่อนรุ่นน้องที่เปิดบล็อก (Blog) สอนการเล่นอย่างไม่เป็นทางการ โดยสมาชิกจะรวมตัวกันทุก 1-2 เดือนหรือตามสนามแข่งขัน
"ช่วงนี้คนนิยมรูบิกมากขึ้น คิดว่าอีก 4-5 เดือนจะมีความนิยมมากกว่านี้ การเล่นรูบิกช่วยพัฒนาสมองทั้ง 2 ด้านจากการใช้ทั้งมือและสายตามอง พร้อมการวางแผนล่วงหน้าซึ่งเป็นการคิดต่อแบบไม่สิ้นสุด" ชัชวาลย์กล่าว พร้อมเผยว่าทางเว็บไซต์ได้จัดการแข่งขันขึ้นภายในกลุ่มสมาชิกเพื่อซักซ้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีใหญ่ที่เริ่มมีการจัดแข่งขันมากขึ้น ซึ่งอนาคตเขาตั้งใจจะนำเว็บไซต์เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมรูบิกระดับโลก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาแข่งขันให้ได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้มีการแข่งขันระดับโลกทุกๆ 2 ปี โดยแข่งมาแล้ว 4 ครั้งซึ่งล่าสุดจัดขึ้นที่ฮังการีเมื่อ ส.ค.ปีที่ผ่านมา ส่วนการแข่งขันครั้งต่อไปยังไม่กำหนดประเทศเจ้าภาพ
เจ้าลูกบาศก์หกหน้าบิดได้นี้เกิดจากความคิดของเออร์โน รูบิก (Erno Rubik) ประติมากรและอาจารย์สถาปัตย์ของสถาบันประยุกต์ศิลป์และหัตถกรรม (Academy of Applied Arts and Crafts) ในกรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ซึ่งปัจจุบันมีอายุร่วม 63 ปีแล้ว เขาเป็นผู้ลุ่มหลงในรูปทรงเรขาคณิต รูปทรงสามมิติ โครงสร้างและความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ในการผสมของรูปทรงและวัสดุทั้งในทฤษฎีและการปฏิบัติ โดยเขาได้สร้างต้นแบบเมื่อปี 2517 และปีถัดมาได้จดสิทธิบัตรผลงานในบ้านเกิดด้วยชื่อว่า "เมจิกคิวบ์" (Magic Cube) หากเป็นที่รู้จักในชื่อเดียวกับผู้ประดิษฐ์ เมื่อบริษัทไอเดียลทอยส์ (Ideal Toys) ผู้จัดจำหน่ายของเล่นชิ้นนี้เปลี่ยนชื่อลูกบาศก์ใหม่ว่า "ลูกบาศก์รูบิก" (Rubik's Cube) และส่งจำหน่ายออกนอกฮังการี
เราอาจจะคุ้นเคยกับรูบิกราคา 20-30 บาทที่แบขายตามพื้นข้างริมบาทวิถี สะพานลอยหรือตลาดนัดทั่วไป แต่หลายคนคงไม่ทราบว่ายังมีรูบิกอีกหลายเกรดและราคาก็อยุ่ที่หลักร้อยถึงหลักพัน ซึ่งเรื่องนี้พิษณุ มุกดาประกร ทีมงานเว็บไซต์เดียวกับชัชวาลย์ระบุว่ามีหลายบริษัทที่ผลิตรูบิก ทั้งนี้หากซื้อจากสหรัฐฯ จะเป็นของที่ได้รับลิขสิทธิ์ถูกต้องจากรูบิก สำหรับเมืองไทยมีตัวแทนจำหน่ายคือบริษัท Toy r Us อย่างไรก็ดียังมีรูบิกที่ใช้งานได้เหมือนกันแต่มีองค์ประกอบของลูกบาศก์ที่แตกต่างไปเล็กน้อย
รูบิกที่วางขายตามแผงรอยมีด้านสีทำจากพลาสติกซึ่งบางครั้งอาจทำให้มือผู้เล่นบาดเจ็บได้ ขณะที่รูบิกที่บรรดาเซียนนิยมใช้จะแปะสีด้วยแผ่นสติ๊กเกอร์ที่สามารถนำแผ่นใหม่มาแปะติดได้ อีกทั้งยังไม่ฝืดซึ่งช่วยให้ผู้เล่นทำเวลาได้ดีขึ้น โดยพิษณุเผยว่าเขาเริ่มเล่นรูบิกจากที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่เมื่อเล่นไปถึงจุดหนึ่งเขาไม่สามารถทำเวลาได้ดีกว่า 50 วินาที จึงได้สั่งซื้อรูบิกจากสหรัฐฯ ซึ่งราคาประมาณ 500 บาท นอกจากนี้ยังรูบิกยี่ห้อ DIY ที่ผู้เล่นต้องประกอบขึ้นเองจากส่วนประกอบทั้งหมด 27 ชิ้น ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่เซียนจำนวนหนึ่ง
ในการแข่งขันระดับโลกนั้น กิตติกร ตั้งสุจริตธรรม นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนหอวัง และแชมป์รูบิกหลายสนามและเป็นแชมป์ระดับระดับมัธยมของการแข่งขันรูบิกในถนนสายวิทยาศาสตร์เผยว่า การแข่งขันระดับโลกจะให้ผู้เล่นมีโอกาสแก้รูบิกทั้งหมด 5 ครั้งต่อหน้ากรรมการโดยที่ไม่ต้องแข่งพร้อมกันกับผู้เล่นคนอื่น จากนั้นจะตัดเวลาดีที่สุดและแย่ที่สุดแล้วนำเวลาที่เหลือมาเฉลี่ย ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ทำให้ตื่นเต้นน้อยกว่าการแข่งขันพร้อมกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ
อย่างไรก็ดียังมีการแข่งขันรูบิกอีกประเภทที่ไม่เน้นความเร็วแต่เน้นแข่งจำนวนครั้งในการบิดให้น้อยที่สุดเพื่อให้รูบิกกลับสู่สภาพเดิม ทั้งนี้ผู้เขาแข่งขันมีเวลา 1 ชั่วโมงที่จะแก้รูบิก แล้วเขียนวิธีการหมุนลงกระดาษเพื่อส่งให้กรรมการตรวจ โดยมีรูบิกให้ทดลองแก้ 3 ลูก ซึ่งตามทฤษฎีสามารถหมุนได้ต่ำสุด 24 ครั้ง แต่เท่าที่ผ่านมามีคนทำได้น้อยสุด 26 ครั้ง การแข่งขันรูปแบบนี้กิตติกรกล่าวว่าค่อนข้างยากเพราะบางครั้งแม้เขาจะสามารถแก้รูบิกได้แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าต้องหมุนอย่างไร
สำหรับเทคนิคการแก้ปัญหารูบิกนั้น ชลเทพ กิจสินธพชัย นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแชมป์การแข่งขันรูบิกระดับประชาชนในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าการแก้ปัญหาด้วยการทำหน้าสีขาวให้เป็นรูปกากบาทเครื่องหมายแล้วพยายามแก้ทีละชั้น โดยชั้นที่ 1 และ 2 นั้นสามารถใช้ความเข้าใจแก้ได้ และเมื่อถึงชั้นที่ 3 ซึ่งต้องทำให้หน้าสีเหลืองเต็มก่อนแก้ให้จบลูกนั้นต้องใช้สูตรที่เรียกว่า OLL (Orient Last Layer) ซึ่งฝั่งยุโรปนิยมเล่นลักษณะนี้คือให้ขาวอยู่ด้านล่างและสีเหลืองอยู่บน ขณะที่ทางญี่ปุ่นจะต่างออกไปคือให้สีน้ำเงินอยู่ข้างล่างและให้สีขาวอยู่ข้างบน
ชลเทพกล่าวว่าระบบแก้รูบิกมีด้วยกันหลายระบบแต่ที่นิยมแพร่หลายในการแข่งขันเนื่องจากเล่นได้ง่ายคือระบบ CFOP ของยุโรปซึ่งย่อมาจาก C-Cross, F-Fist 2 Layer, O- OLL (Orient Last Layer), และ P-PLL (Permute Last Layer) ส่วนระบบที่เร็วที่สุดในขณะนี้ระบบ ZB แต่ใช้งานจริงได้ยากเนื่องจากมีสูตรจำค่อนข้างเยอะคือประมาณ 700 สูตร โดยแต่ละสูตรนั้นจะฝึกนิ้วมือไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การคิดสูตรอาศัยทฤษฎีทางคณิตศาสตร์คือทฤษฎีกลุ่ม (Group Theory) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณแล้วเลือกสูตรมาใช้ พร้อมกันนี้เขาเผยอีกว่ากำลังนำสูตรแก้รูบิกที่ไม่มีใครใช้มาฝึก
"ถามว่าการเล่นรูบิกมีส่วนช่วยอะไรในการเรียนของผมบ้าง การเรียนนั้นต้องใช้จินตนาการเยอะ ซึ่งการเล่นรูบิกช่วยสร้างจินตนาการของภาพ 3 มิติได้ และต้องฝึกจำสูตรต่างๆ ทั้งยังมีเรื่องของจังหวะเข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนฝึกเล่นตามจังหวะเพลง ไม่ใช่เพียงแค่เล่นให้เร็วแต่ต้องเล่นให้เข้าจังหวะ ไม่ติดขัด ซึ่งการเล่นรูบิกต้องมีทั้งความจำและความเข้าใจ" ชลเทพกล่าว
ทั้งนี้ของเล่นทุกชนิดล้วนช่วยพัฒนาความคิดของผู้เล่นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และสำหรับรูบิกก็เป็นของเล่นอีกชิ้นที่ฝึกกระบวนการคิดของผู้เล่น ซึ่งเบื้องหลังความท้าทายจากการจัดเรียงหน้าอันยุ่งเหยิงให้กลับคืนสู่ความมีระเบียบนั้นล้วนมีหลักการที่ซ่อนอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่รูบิกจะกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเป็นแรงบันดาลให้เยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์
สำหรับผู้สนใจเรียนรู้เทคนิคการแก้รูบิกสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: แบไต๋วิธีไข "รูบิก" แบบเริ่มต้นกับแชมป์เด็กไทย
นำเสนอเทคนิคการแก้รูบิกสำหรับผู้เริ่มต้น โดย กิตติกร ตั้งสุจริตธรรม