xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นปีมี "คอลลาเจนวัว" วางตลาดทดแทน "ซุปหูฉลาม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาหารการกินที่อวดอ้างว่าเป็น "ยาปลุกเซกส์"นั้น ต่อให้ต้องยากลำบากหรือดั้นด้นหาด้วยวิธีพิศดารแค่ไหนก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่มนุษย์จะสรรหามาสนองความกระสัน แม้ว่าจะต้องได้มาด้วยการเข่นฆ่าหรือทารุณสิ่งมีชีวิตร่วมโลกก็ตาม สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจึงตกเป็นจำเลยที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับค่านิยมเปิบพิศดาร กระทั่งนักล่าใต้น้ำอย่าง "ฉลาม" ยังหนีไม่พ้นการไล่ล่า

"ความเชื่อเกี่ยวกับหูฉลามซึ่งเป็นสิ่งหายาก กินแล้วชูกำลัง เพิ่มกำลังทางเพศนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นแค่การเพิ่มค่า เพิ่มราคา และค่านิยม" ความเห็นของ ผศ.ดร.มาริสา จาตุพรพิพัฒน์ จากภาควิชาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักวิจัยผู้พัฒนา "หูฉลามไบโอ" ที่ไม่ต้องได้มาจากการล่าฉลามโดยตรง ซึ่งนวัตกรรมอาหารดังกล่าวได้ออกมาทดแทนหูฉลามในท้องตลาดได้ 2-3 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.มาริสากำลังลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนเพื่อขยายกำลังการผลิตหูฉลามไบโอสู่ตลาดได้มากขึ้น อันจะเป็นทางหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ฉลาม โดยจะออกสู่เชิงพาณิชย์ในสิ้นปีนี้ ซึ่งเหตุผลที่เธอพัฒนาเมนูอาหารเพื่อลดการล่านักล่าแห่งท้องทะเลก็เนื่องจากเมื่อครั้งเป็นเด็กนั้นทางบ้านของเธอซึ่งอยู่ใน จ.ตรังนั้นมีกิจการขายหูฉลาม และเธอได้มีโอกาสเห็นหูฉลามขนาดใหญ่แต่เมื่อโตขึ้นก็พบว่าหูฉลามขนาดใหญ่นั้นหาได้ยากและไม่มีให้เห็นแล้ว จึงทำให้เธอตระหนักถึงภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ปลากระดูกชนิดนี้

จากการวิเคราะห์เส้นเอนหูฉลามของ ผศ.ดร.มาริสาพบว่าเป็นเจลาตินและคอลลาเจน ดังนั้นวัตถุดิบในการผลิตหูฉลามไบโอคือคอลลาเจนและเจลาตินที่ได้จากวัว หมูและปลาซึ่งหาได้จากโรงฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์อยู่แล้ว จากนั้นพัฒนารูปร่างให้ใกล้เคียงกับหูฉลามธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้กระบวนการทางเคมีเพือ่ให้เกิดการก่อตัวที่ให้รูปร่างเหมือนกัน หูฉลามในธรรมชาติจะให้เส้นใยใสๆ ที่หัวมนแต่ปลายแหลมและยาวประมาณ 3 เซนติเมตร อย่างไรก็ดีลักษณะดังกล่าวขึ้นอยู่กับชนิดของฉลามด้วย

เมื่อได้วัตถุที่ใช้ผลิตหูฉลามเทียมแล้วก็จำเป็นต้องเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้พิเศษกว่าหูฉลามในธรรมชาติ นักพัฒนานวัตกรรมอาหารจากลาดกระบังจึงได้เสริมโอเมกา-3 (Omega-3) จากน้ำมันปลาลงไป ส่วนการทำสีให้เหมือนในธรรมชาติก็ได้จากน้ำผลไม้ที่เรียกว่า "ลูกอรหันต์" ซึ่งมีความหวานในตัวเองและมีคุณสมบัติทำให้ชุ่มคอ และชาวจีนนิยมใช้เป็นยารักษาโรคหลอดลม

"เป้าหมายที่ตั้งไว้คือช่วยอนุรักษ์ปลาฉลามทั่วโลกให้ได้แต่ลำพังตัวเองคนเดียวทำไม่ได้ การมีผู้ประกอบการเข้ามาจะช่วยขยายวงได้กว้างขึ้น ถ้าหูฉลามไบโอออกสู่เชิงพาณิชย์แล้วก็จะมีราคาถูกกว่าหูฉลามจริงแต่มีคุณค่าอาหารมากกว่า อีกทั้งยังสร้างเมนูได้หลากหลายกว่าเพราะราคาถูก จึงนำไปพัฒนาเป็นเมนูอะไรก็ได้" ผศ.ดร.มามริสากล่าว

ล่าสุดเจ้าของนวัตกรรมหูฉลามเทียมที่ได้รางวัลเหรียญทองการประกวดนวัตกรรม สาขาสิ่งแวดล้อมจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้เข้าครัวเพื่อลงมือปรุงซุปหูฉลามไบโอสำหรับเสิร์ฟผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในกิจกรรมฉายสารคดีเกี่ยวกับเรื่องฉลามของ "แอนิมอล แพลนเนต" (Animal Planet) ชุด "คราม ซีน ไวล์ด" (Crime Scene Wild) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อนป่าและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เมื่อคืนวันที่ 27 ก.พ.51 ที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น