xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีวิทย์หนุนขยายศูนย์ฉายรังสี เพิ่มปริมาณผลไม้ไทยไปนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วุฒิพงศ์" หนุนสถาบันเทคโนฯ นิวเคลียร์ขยายโรงงานฉายรังสี หวังเพิ่มผลผลิตผลไม้ฉายรังสีไทยในตลาดโลก เหตุเพราะมีผลไม้รอฉายรังสีถึงวันละ 100 ตัน แต่ปัจจุบันทำได้แค่ 20 ตันต่อวัน ทำรายได้ประเทศสูญมหาศาล เล็งอาจขยายโรงงานสู่ภูมิภาคในอนาคต

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และรับทราบนโยบายการดำเนินงานของศูนย์ฯ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 ก.พ. 2551 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเยือนสถาบันมาตรวิทยา (มว.) ที่อยู่บริเวณเดียวกันในเทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

นายประเวทย์ แก้วช่วง ผู้จักการศูนย์ฉายรังสี นำเสนอประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของศูนย์ฯ นับตั้งแต่เปิดให้บริการฉายรังสีทางการค้าครั้งแรก ตั้งแต่ วันที่ 17 ส.ค. 2532

"ศูนย์ฉายรังสีได้ให้บริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในทางการค้าแก่ภาครัฐและเอกชนด้วยรังสีแกรมมา เช่น การถนอมอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร อุปกรณ์การแพย์ เป็นต้น และให้บริการฉายรังสีตามวัตถุประสงค์ เช่น ยับยั้งการงอก ควบคุมและกำจัดแมลง กำจัดเชื้อโรค เป็นต้น ตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคนิคการฉายรังสี ควบคุมคุณภาพและวัดปริมาณของรังสีในผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล" นายประเวทย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี นายประเวทย์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทางศูนย์ฉายรังสีเผชิญอยู่ขณะนี้คือไม่สามารถให้บริการฉายรังสีได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉายรังสีผลไม้สด ซึ่งโรงงานฉายรังสีของศูนย์ฉายรังสีได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture: USDA) ให้ฉายรังสีผลไม้ 3 ชนิด ส่งไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้ ได้แก่ ลำไย มะม่วง และมังคุด ซึ่งทางเรารองรับการฉายรังสีให้กับผลไม้ได้เพียง 20 ตันต่อวัน แต่มีความต้องการฉายรังสีมากถึง 100 ตันต่อวัน จึงไม่สามารถฉายรังสีสินค้าได้ทั้งหมดตามที่ต้องการ

ทางด้านนายวุฒิพงศ์ เห็นด้วยที่จะทำการปรับปรุงเพื่อขยายขนาดของโรงงานฉายรังสี เพื่อรองรับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศไทยที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ

“มีความต้องการฉายรังสีผลไม้ส่งออกถึง 100 ตันต่อวัน แต่ทางเราทำได้แค่เพียง 20 ตันต่อวันเท่านั้น ที่เหลืออีก 80 ตัน กลับทำไม่ได้ ตรงนี้ทำให้ไทยเราสูญเสียมูลค่าทางการค้าที่ควรจะได้ไปเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสินค้าไทยที่จะออกสู่ตลาดโลกในอนาคต ซึ่งยังมีผลไม้ไทยอีกจำนวนมากที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เช่น เงาะ ลิ้นจี่ และสับปะรด” นายวุฒิพงศ์ เผยแก่ผู้สื่อข่าว

รมว.วท. ยังเสริมอีกว่า การขยายโรงงานฉายรังสียังจะสามารถใช้ประโยชน์กับสินค้าส่งออกอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น เครื่องปรุงรสต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งนายวุฒิพงศ์จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง และอาจมีการขยายโรงงานฉายรังสีสู่ภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง โดยทางผู้จัดการศูนย์ฉายรังสีแจ้งว่างบประมาณที่ต้องการสำหรับขยายโรงงาน ณ เทคโนธานีเป็นจำนวน 800 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น