xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่เติม "29 กุมภา" เดือนเมษาคงไม่ได้เล่นสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครที่เกิดวันที่ 29 กุมภาคงจะมีวันคล้ายวันเกิดทิ้งช่วงห่างกันสักหน่อย เพราะต้องรอถึง 4 ปีจึงจะได้ฉลองวันเกิดกันสักหน แต่ก็อย่าเพิ่งน้อยเนื้อต่ำใจไปว่าทำบุญมาน้อยกว่าคนอื่นหรืออย่างไรถึงได้เกิดตรงกับปี "อธิกสุรทิน" พอดี โดยหารู้ไม่ว่าวันๆ นี้ไม่ใช่วันธรรมดา แต่เป็นวันที่มีความหมายต่อ "แดดและฝน" มากที่สุดวันหนึ่งในรอบปี

รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มองว่า วันที่ 29 กุมภาพันธ์ถือเป็นวันสำคัญของโลกเราทีเดียว เพราะเป็นวันที่เพิ่มเข้ามาเพื่อทำให้ระบบเวลาที่ใช้บนโลกสอดคล้องกับวัฏจักรของธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและไม่เกิดความสับสนในฤดูกาล

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบใช้เวลา 365 วันกับอีก 1 ส่วน 4 วัน ดังนั้นในทุกๆ 4 ปี จะได้วันเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วัน ทำให้ปีนั้นมี 366 วันต่างจากอีก 3 ปีที่มีเพียง 365 วัน วันที่ 29 กุมภาจึงเกิดขึ้น และกำหนดเป็นปฏิทินสากล เรียกว่าปี "อธิกสุรทิน" โดยมีกำเนิดมาตั้งแต่ครั้ง "จูเลียส ซีซาร์" เมื่อ 46 ปีก่อนคริสตกาล

ทั้งยังมีเกร็ดความรู้น่ารักๆ มาแทรกให้คนเกิดวันนี้อดขำด้วยไม่ได้ว่า จากการที่โลกของเราหมุนช้าลงเรื่อยๆ ในอีก 5,000-10,000 ปี การฉลองวันเกิดในวันที่ 29 กุมภาของทุกปีก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป แต่กว่าจะรอถึงวันนั้นก็คงไม่ทันการณ์เท่าไรนัก

"แต่เอ๊ะ!!! หากตัดวันที่ 29 กุมภาออกไปจากสารบบให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลยล่ะจะเป็นอะไรไหม? จะได้ไม่มีใครโชคร้ายไปเกิดวันนี้อีก เพราะดูเหมือนความคลาดเคลื่อนนิดเดียวก็ไม่น่าจะเป็นผลอะไรมากนัก"

รศ.ดร.บุญรักษา อธิบายว่า ปฏิทินที่ดีที่สุดคือปฏิทินที่สอดคล้องกับฤดูกาลที่สุด และการกำหนดจำนวนวันในแต่ละเดือนก็เพื่อให้ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวจักราศีที่ถูกต้องสำหรับเดือนนั้นๆ เช่น เดือนกุมภาพันธ์ ดวงอาทิตย์ก็จะอยู่ในกลุ่มดาวราศีกุมภ์

ดังนั้นแล้ว หากเดือนกุมภาของทุกปีจะมีเพียง 28 วัน ก็ย่อมจะทำให้ปีปฏิทินสั้นกว่าปีฤดูกาล ผลก็คือฤดูกาลคลาดเคลื่อนได้เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี เนื่องจาก 1 ปีฤดูกาลจะมี 365 1/4 วัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่ม 1 วัน ทุกๆ 4 ปี และการเพิ่มวันในเดือนกุมภานั้นก็จะทำให้ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวจักราศีที่ถูกต้องในแต่ละเดือน

หรือแม้แต่คำถามกลับกัน ถ้าให้ทุกๆ ปีมีวันที่ 29 กุมภาไปซะเลย เผื่อใครบางคนจะฉลองวันเกิดได้เหมือนคนอื่นๆ โดยไม่ต้องรอนับพันๆ ปี? รศ.ดร.บุญรักษา อธิบายว่า ยิ่งถ้าหากโลกของเรามีวันที่ 29 ก.พ.ทุกๆ ปี ปีปฏิทินก็จะยาวกว่าปีฤดูกาล ทำให้ฤดูกาลคลาดเคลื่อนได้จนเห็นผลได้ในเวลาไม่นานนักเช่นกัน

ยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากเพิ่มวันเข้าไปอีกให้เดือนกุมภาพันธ์มี 30 วัน เหมือนเดือนอื่นๆ ของปีที่มักจะมี 30 วันแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ปีปฏิทินยาวกว่าปีฤดูกาลมากแน่นนอน และเมื่อฤดูกาลคลาดเคลื่อนเร็วมากขึ้นมากเท่าใด ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือนก็จะไม่ตรงกับจักราศีเลย

ทั้งนี้ หลายต่อหลายวันสำคัญของเราก็บ่งบอกถึงการมาถึงของฤดูกาล และการเดินทางผ่านจักราศีต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลเริ่มต้นปีใหม่ของไทยอย่าง "สงกรานต์" ที่ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ก็เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นการย้ายตำแหน่งจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่ราศีเมษ

หากให้ทุกปีมี 365 วัน หรือ 366 เป็นการถาวร แน่นอนว่าเดือนเมษาในปฏิทินจะต้องไม่ตรงกับตำแหน่งกลุ่มดาวแพะ (ราศีเมษ) ที่ดวงอาทิตย์สถิตย์อยู่เป็นแน่...และเมื่อนั้นเราคงต้องฉลองปีใหม่ไทยชนิดย้ายกันไปเรื่อยๆ

แล้วคนที่เกิดวันที่ 29 กุมภาจะต้องรอครบรอบฉลองทุกๆ 4 ปีพร้อมโอลิมปิกต่อไปหรือ? รศ.ดร.บุญรักษา ตอบอย่างอารมณดีว่า คนที่เกิดวันนี้น่าจะภูมิใจมากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าวันเกิดของเขาทำให้โลกของเรามีฤดูกาลที่ไม่ผิดเพี้ยน

"ผมคิดว่าคนที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ทุกคนน่าจะภูมิใจนะ ถ้าปีไหนไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ก็ฉลองวันเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม เลย" รศ.ดร.บุญรักษา เสนอความคิด ซึ่งคงไม่ยากเกินไปสำหรับใครหลายๆ คนที่พร้อมจะรื่นรมย์ในวันนี้อยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น