xs
xsm
sm
md
lg

เวลาผ่าน...ดวงดาวบนท้องฟ้ายาม "สงกรานต์" ก็เปลี่ยนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิทยาศาสตร์อธิบายได้ทุกอย่าง อย่างในสงกรานต์ก็มีวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่
"วันขึ้นปีใหม่ไทย" มาถึงแล้วพร้อมกับวันหยุดยาว หลายคนอาจตั้งคำถาม "มหาสงกรานต์" เกี่ยวข้องอย่างไรกับวิทยาศาสตร์? "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงออกค้นหาคำตอบ...

รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เท้าความตั้งแต่ความหมายของคำว่า "สงกรานต์" ว่ามาจากภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า "ก้าวขึ้น ย่างขึ้น ย้ายที่ หรือเคลื่อนที่" โดยเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์โดยตรง

“วันสงกรานต์” จึงหมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งในกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12 กลุ่ม ตีความตามนี้แล้ว ในรอบ 1 ปีเราจึงมีวันสงกรานต์ได้ถึง 12 วัน

แต่ก็ใช่ว่าทั้ง 12 วันจะมีความสำคัญเท่ากันหมด เพราะหากเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษแล้วจะเป็นวันที่พิเศษกว่าวันสงกรานต์อื่นๆ ที่เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หรือวันสงกรานต์ใหญ่ แต่คนทั่วไปยังนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "วันสงกรานต์" อยู่
รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม
ปัจจุบันวันมหาสงกรานต์จึงตรงกับวันที่ 13 เมษายนตามแนวคิดที่ยึดการเคลื่อนของดวงอาทิตย์ผ่านกลุ่มดาวแกะ หรือการเข้าสู่กลุ่มดาวราศีเมษเป็นหลัก

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าวันมหาสงกรานต์จะต้องตรงกับวันที่ 13 เมษายนเพียงวันเดียวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง รศ.ดร.บุญรักษา อธิบายว่า ก่อนหน้านี้วันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษจะเป็นวันที่ 21 มีนาคม

ในเวลานั้น นักดาราศาสตร์เรียกตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ณ จุดนี้ว่า “เวอร์นอล อิควินอคส์” (Vernal Equinox)  คนไทยเรียกว่า “จุดวสันตวิษุวัต" หมายถึงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่บนเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน และเป็นจุดเดียวกับ “จุดแรกแห่งราศีเมษ" (First Point of Aries) ซึ่งน่าจะเป็นวันสงกรานต์ในอดีต แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว!

เหตุผลเพราะแกนหมุนของโลกเอียงทำมุมกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศานั้นมีการส่ายด้วยอิทธิพลจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ใช้เวลาการส่ายรอบละประมาณ 26,000 ปี ทำให้วันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษจากวันที่ 21 มีนาคมเคลื่อนมาเป็นวันที่ 13-14 เมษายนในปัจจุบัน
นิพนธ์ ทรายเพชร
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากปี พ.ศ. 2551 นี้ ดวงอาทิตย์จะย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษในวันที่ 13 เมษายน ส่วนปีหน้า (ปี 2552) ดวงอาทิตย์จะย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษเป็นวันที่ 14 เมษายน

อย่างไรก็ดี ยังมีแนวคิดที่ต่างกันออกไป อาจารย์นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตดาราศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ยังมีนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่ยึดเอาเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปบนจุดเวอร์นอล อิควินอคส์เป็นจุดแรกแห่งราศีเมษ โดยมองกลับกันว่า 21 มีนาคมต่างหากที่เป็นวันแรกของราศีเมษ ไม่ใช่วันที่ 13 เมษายนอย่างที่คนไทยยึดถือกันมากับประเพณีสงกรานต์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเมื่อเกือบพันปีโน้น

อาจารย์นิพนธ์ อธิบายว่า หากพิจารณาตามแนวคิดหลังนี้ ทุกๆ เวลาประมาณ 3,000 ปี การส่ายของแกนโลกยังจะทำให้กลุ่มดาวที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านเพื่อเข้าสู่จักราศีเมษเปลี่ยนไป เหตุผลเพราะในแต่ละปี จุดเวอร์นอล อิควินอคส์จะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกปีละ 50 ฟิลิปดา เมื่อผ่านไปประมาณ 3,000 ปี จึงขยับไป 30 องศา หรือ 1 ราศีพอดี

วันสงกรานต์ หรือ 13 เมษายนเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนซึ่งตรงกับจุดแรกแห่งราศีเมษจึงเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวแกะ และมีการเคลื่อนมาเป็นกลุ่มดาวปลาเมื่อจุดตัดเวอร์นอล อิควินอคส์ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมในปัจจุบัน และต่อไปอีกประมาณ 3,000 ปีข้างหน้า จุดตัดเวอร์นอล อิควินอคส์ก็จะเปลี่ยนไปอีกครั้ง
วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต
แต่ด้วยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานมนาน คนไทยก็ยังคงยึดถือวันที่ 13 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์ต่อไป

ส่วนเหตุผลว่าทำไมเราจึงนับการเปลี่ยนราศีมีนเป็นราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์นั้น? อาจารย์นิพนธ์ อธิบายต่อว่า เพราะคนไทยได้ยึดหลักสากลตามความเชื่อแบบสุริยะคติที่มีรากมาจากประเทศอินเดียจะถือว่าราศีเมษเป็นราศีที่หนึ่งของทั้ง 12 ราศี และในทางดาราศาสตร์เองแล้วก็เป็นการเริ่มต้นปีดาราศาสตร์ใหม่ เมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากด้านใต้ขึ้นสู่ด้านเหนือของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในเดือนเมษายนจึงเป็นช่วงที่ตำแหน่งของประเทศไทยเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปอยู่บนจุดสูงสุดจะแทบอยู่เหนือศีรษะเรา เราจึงรู้สึกร้อนมาก เพราะแสงแดดที่ส่องมาตอนเที่ยงวันตรงศีรษะเรามากขึ้น แสงแดดจึงเข้มและมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย

จุดนี้เอง อาจารย์วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ชาวบ้านด้านดาราศาสตร์จากหอดูดาวบัณฑิต ต.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ชี้ว่า ช่วงเวลา 2-3 วันของประเพณีสงกรานต์จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นเวลาที่ดีที่จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย อีกทั้งบรรพบุรุษของเราก็ยังอาศัยช่วงที่มีอากาศร้อนจัดนี้ริเริ่มประเพณีรดน้ำสงกรานต์เพื่อบรรเทาความร้อนอบอ้าวของอากาศอีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น