กินเนื้อวัวครั้งต่อไปจะปลอดภัยไร้กังวล เพราะ ม.เกษตรฯ กำลังเร่งผลิตเนื้อโคธรรมชาติ ไม่ปนเปื้อนสารเคมี เตรียมบุกตลาดเนื้อโคธรรมชาติในไทยเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพที่อยากอร่อยกับเสต็กเนื้อแบบห่างไกลจากมะเร็งด้วย CLA ในเนื้อวัว
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค และสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด เปิดตัว "โครงการระบบการเลี้ยงและการผลิตเนื้อโคภายใต้มาตรฐานปศุสัตว์ธรรมชาติ" หรือ เคยู เนอเชอรัล บีฟ (KU Natural Beef) ณ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้กับเกษตรกรไทยในการผลิตเนื้อวัวแบบธรรมชาติสำหรับจำหน่ายในประเทศ และเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานเนื้อวัวปลอดสารพิษ
รศ.ดร.ชัยณรงค์ คันธพนิต ประธานสหกรณ์โคเนื้อฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเริ่มมีการน้ำเข้าเนื้อโคธรรมชาติจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากออสเตรเลีย ซึ่งเลี้ยงโคเนื้อแบบธรรมชาติมานานหลายปีแล้ว ซึ่งเนื้อโคที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติมีประโยชน์และปลอดภัยกับผู้บริโภคมากกว่าเนื้อโคขุน และพวกเราในฐานะผู้ผลิตโคเนื้อในประเทศไทยไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ จึงได้ริเริ่มโครงการผลิตโคเนื้อธรรมชาติ เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาเนื้อโคธรรมชาติจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการเลี้ยงแบบธรรมชาติจะทำให้สัตว์ไม่เครียดและโตเร็วด้วย
"การเลี้ยงโคเนื้อด้วยระบบวิธีแบบธรรมชาติ (natural farming system) คือการเลี้ยงโคในทุ่งหญ้าและปล่อยให้โคแทะเล็มหญ้าตามธรรมชาติเป็นอาหารหลัก และอาจเสริมด้วยพืชอาหารสัตว์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ไม่ใช้อาหารที่ผลิตจากของเหลือ (by product) ที่มาจากสัตว์ ไม่ใช้ฮอร์โมนและสารเร่งการเจริญเติบโต และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ตลอดจนควบคุมระบบการเลี้ยงและการผลิตเองทั้งหมดทุกขั้นตอนตั้งแต่ลูกโคเกิดใหม่จนกระทั่งผลิตได้เป็นเนื้อโคธรรมชาติที่ได้มาตรฐานปศุสัตว์ธรรมชาติจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และสามารถตรวจสอบย้อนกับได้” รศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าว
สำหรับโคเนื้อที่ทางสหกรณ์จะเลี้ยงด้วยวิธีการดังกล่าวคือโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน จำนวน 50 ตัว บนพื้นที่ 15 ไร่ ภายใน ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งโคที่นำมาปล่อยลงในทุ่งหญ้าจะต้องเป็นลูกโคที่อย่านมแม่แล้ว อายุประมาณ 7 เดือน ซึ่งมีน้ำหนักราว 200-280 กิโลกรัม และต้องเลี้ยงให้ได้น้ำหนักราว 500 กิโลกรัม ซึ่งกินเวลานาน 2 ปี จึงจะนำไปเข้าสู่กระบวนการเชือดและผลิตเป็นเนื้อวัวสดต่อไป
ด้าน ดร.สุริยะ สะวานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดเด่นของการเลี้ยงโคด้วยระบบวิธีธรรมชาติจะได้เนื้อโคที่มีซีแอลเอ (conjugated linoleic acid: CLA) สูง ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่อยู่ในกลุ่มของกรดไขมันลิโนเลอิก (linoleic acid) ส่วนมากพบเฉพาะในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ทั้งนี้เพราะในกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้องมีจุลินทรีย์ชนิด บูทีริวิบริโอ ฟิบริโซเวนส (Butyrivibrio fibrisolvens) ซึ่งสามารถเปลี่ยนกรดลิโนเลอิกให้เป็นซีแอลเอได้ ซึ่งโคจะได้รับกรดลิโนเลอิกในธรรมชาติจากหญ้าสด ทว่าในโคขุนจะไม่ค่อยได้รับหญ้าสดเป็นอาหาร ดังนั้นจะได้กรดไขมันมาจากแหล่งอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันทานตะวัน ซึ่งเหล่านี้จะทำให้โคได้รับกรดไขมันชนิดอื่นๆ มากด้วยเช่นกัน
ดร.สุริยะ เผยด้วยว่า ในเนื้อวัวสดจะมีปริมาณซีแอลเอ 4.3 mg/g fat (กรัมต่อไขมันทั้งหมด 1 กรัม) ขณะที่ในเนื้อหมู, เนื้อไก่ และน้ำมันทานตะวันจะพบซีแอลเอได้เพียง 0.6, 0.9 และ 0.4 mg/g fat ตามลำดับ
“นักวิจัยยอมรับกันมากว่า 50 ปี แล้วว่าซีแอลเอสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ ป้องกันการเกิดมะเร็งได้ดี โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ป้องกันคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด และลดการสะสมของไขมันในเส้นเลือดได้ ช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียมในกระดูก กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งมีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้ด้วย” ดร.สุริยะ เผยประโยชน์มากมีของซีแอลเอ
ทั้งนี้ ดร.สุริยะ จะดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบสมรรถภาพการผลิต ต้นทุน คุณภาพซาก และปริมาณ CLA ในเนื้อโคกำแพงแสนต่อไปด้วยในโคที่เลี้ยง 3 แบบ ได้แก่ กลุ่มที่เลี้ยงในคอกขังเดี่ยวและได้รับอาหารผสมเสร็จ ตามความต้องการของโคเนื้อขุนที่ระบุโดยเอ็นอาร์ซี (National Research Council: NRC), กลุ่มที่เลี้ยงในคอกขังเดี่ยวและได้รับอาหารข้นและหญ้าขนสดในสัดส่วน 50 : 50 โดยคำนวณโภชนะในอาหารข้นและอาหารหยาบที่สัตว์ได้รับตามความต้องการของโคเนื้อขุนที่ระบุโดย NRC และกลุ่มสุดท้ายที่เลี้ยงแบบปล่อยในแปลงหญ้าขนตลอด 24 ชั่วโมง หรือเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์นั่นเอง
โครงการเลี้ยงและผลิตเนื้อโคแบบธรรมชาติดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งทางสหกรณ์โคเนื้อฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 600,000 บาท ในช่วงดำเนินการ 1 ปีแรก และหลังจากนี้จะเริ่มเผยแพร่วิธีการดังกล่าวสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเพื่อการผลิตเนื้อโคธรรมชาติต่อไป และอีก 200,000 บาท สำหรับ มกท. ในการพัฒนามาตรฐานการรับรองเนื้อโคธรรมชาติ