xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติการพบปรากฏการณ์ Fission (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2476 หนังสือพิมพ์ Time ของอังกฤษ ได้พาดหัวข่าวว่า Ernest Rutherford ขณะกล่าวปราศรัยเรื่อง เทคโนโลยีการแปลงธาตุด้วยการระดมยิงอะตอม โดยใช้อนุภาคชนิดต่างๆ ว่าเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ แต่ถึงจะยิ่งใหญ่เพียงใดมนุษย์ก็ไม่สามารถนำพลังงานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้นมาประยุกต์ใช้ได้ ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะผลิตพลังงานปรมาณู เขากำลังใฝ่ฝันสิ่งที่เหลวไหล

ทันทีที่ Leo Szilard นักฟิสิกส์หนุ่มวัย 35 ปี ชาวฮังการี ได้อ่านบทปราศรัยนั้น เขารู้สึกต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า Rutherford ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2451 และเป็นบิดาของวิชาฟิสิกส์นิวเคลียร์ด้วยคิดผิด

Szilard เกิดเมื่อปี 2441 ที่กรุง Budapest บิดามีอาชีพเป็นสถาปนิก เมื่อ Szilard สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในปี 2462 เขาได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Berlin แต่ที่นั่นมี Max Planck (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2461) และ Albert Einstein (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2464) เป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ประจำอยู่ Szilard จึงเปลี่ยนใจไปเรียนฟิสิกส์แทน และก็ได้พบว่า มหาวิทยาลัยไม่สามารถจัดวิชาที่ตนต้องการเรียนให้ได้ Szilard จึงขอให้ Einstein ช่วยสอนในชั่วโมงสัมมนา ซึ่ง Einstein ก็ยินดี เพราะประทับใจในความจริงจัง และสมองที่ปราดเปรื่องของ Szilard

ในเวลาต่อมาเมื่อ von Laue มอบปัญหาให้ Szilard แก้เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Szilard กลับคิดว่าปัญหานั้นไม่สำคัญแม้แต่น้อย และไม่น่าสนใจเลย เขาจึงตั้งโจทย์เองและแก้ปัญหาเอง แล้วนำไปให้ Einstein ดูคำตอบ เมื่อ Einstein เห็นสิ่งที่ Szilard ทำ Einstein รู้สึกทึ่งและชื่นชมแนวคิดของ Szilard มาก Szilard จึงนำคำถามและคำตอบนั้นไปให้ von Laue ดู เพื่อเสนอขอรับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลังสำเร็จการศึกษา Szilard ได้งานทำเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Berlin

ตามปกติ Szilard เป็นคนชอบใช้สมองครุ่นคิดเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา เช่น ทฤษฎีฟิสิกส์ล่าสุดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพนาซีกำลังเรืองอำนาจ Szilard ก็เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์เชื้อชาติยิวคนอื่นๆ คือ เชื่อว่า ทหารนาซีกำลังคลั่งอำนาจและเสียสติ นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า ในอีกไม่นาน Hitler จะตาย แต่ Szilard คิดว่าคงอีกนาน เขาจึงรวบรวมเงินที่ได้จากการอดออมเดินทางไปอังกฤษในปี 2476 และหวังจะได้งานทำเป็นอาจารย์ที่ London

ในตอนเช้าของวันที่ Rutherford แถลงข่าว Szilard รู้สึกไม่พอใจที่ Rutherford พูดเช่นนั้น เขาคิดว่า ไม่มีใครในโลกรู้ว่า ใครสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ ดังนั้น Rutherford จึงดูถูกคนอื่นๆ ที่คิดจะนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ด้วยเหตุนี้ Szilard จึงครุ่นคิดหาวิธีเอาชนะคำปรามาสของ Rutherford และวันหนึ่งขณะยืนอยู่ที่ริมถนน Szilard ก็ร้องอุทานว่า Eureka เมื่อเขาคิดได้ว่าเขาต้องยิงธาตุๆ หนึ่งด้วยอนุภาคนิวตรอน 1 ตัว เพื่อให้ปล่อยนิวตรอนออกมา 2 ตัว และถ้ามีธาตุนั้นจำนวนมากพอ ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะเกิด แต่ Szilard ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ธาตุอะไรเป็นเป้าในการสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่นี้ ถึงกระนั้นเขาก็รู้ว่าต้องใช้นิวตรอนที่ไม่มีประจุไฟฟ้าเป็นกระสุนในการยิง เพราะอนุภาคนิวตรอนสามารถทะลวงนิวเคลียสของอะตอมได้ดีกว่าอนุภาคอื่นๆ

และเมื่อนิวตรอนเข้าฝังตัวในนิวเคลียส ธาตุใหม่ที่เกิดขึ้นเป็น isotope ที่ไม่เสถียร คือ จะสลายตัวเร็ว และอาจมีอนุภาคนิวตรอนหลุดออกมา 2 ตัว ซึ่งอนุภาคนิวตรอน 2 ตัวใหม่นี้จะพุ่งทำปฏิกิริยากับนิวเคลียสตัวใหม่อีก 2 นิวเคลียส และให้อนุภาคนิวตรอนออกมาอีก 4 ตัว เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

ดังนั้น ประเด็นหลักที่ Szilard ต้องการคือ ต้องมีธาตุที่เหมาะสม และธาตุนั้นต้องมีปริมาณมากพอให้ปฏิกิริยาลูกโซ่ดำเนินไปได้ แต่เท่าที่ Szilard ทราบ ไม่มีใครในโลกเคยทดลองเรื่องทำนองนี้ และไม่มีใครรู้ว่า โลกมีธาตุอะไรหรือไม่ ที่มีคุณสมบัติดังที่ Szilard คิด จากนั้น ปริศนานี้ก็ได้เข้าครอบครองสมองและจิตใจของ Szilard จนทำให้ไม่มีเวลานึกถึงเรื่องอื่นใดอีกเลย

5 เดือนหลังคำปราศรัยของ Rutherford หนุ่ม Szilard ได้ขอจดสิทธิบัตร เรื่อง เทคนิคการแปลงธาตุ โดยได้กล่าวถึงปฏิกิริยาลูกโซ่ แต่เมื่อเขาตระหนักว่า ถ้าปฏิกิริยานี้ไม่มีการควบคุม นี่ก็จะเป็นวิธีการสร้างระเบิดปรมาณู ดังนั้น Szilard จึงมอบลิขสิทธิ์เรื่องนี้ให้กระทรวงกลาโหมของอังกฤษ เพื่อให้กระทรวงเก็บความคิดของเขาเป็นความลับ แต่ในขณะเดียวกัน Szilard ก็รู้สึกว้าวุ่นด้วย เพราะตนอยากจะบอกบรรดาเพื่อนนักฟิสิกส์ให้รู้เรื่องนี้ เพื่อจะได้นำไปทดลองหาปฏิกิริยาลูกโซ่ แต่ก็ไม่ต้องการให้นักวิทยาศาสตร์นาซีรู้ เพราะถ้ารู้ เยอรมนีก็จะมีระเบิดปรมาณูทันที

ดังนั้น ในการหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ Szilard จึงบอกเพื่อนหลายคนให้รู้เรื่องนี้บ้าง แต่ไม่บอกหมด เช่น ได้เขียนจดหมายถึง Sir Hugo Hirst แห่งบริษัท General Electric และบอกว่าในนวนิยายเรื่อง The World Set Free ของ H.G. Wells มีตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึง การมีระเบิดมหาประลัยที่ถูกสร้างจากการเปลี่ยนแปลงธาตุ แต่พอ Szilard พยายามทำให้นักฟิสิกส์คนอื่นๆ สนใจความคิดของตน เขาก็พบว่า ไม่มีใครแคร์เลย เพราะเวลา Szilard พูดภาษาอังกฤษ เสียงเขามีสำเนียงฮังกาเรียน ดังนั้น เขาจึงดูเป็นนักฟิสิกส์ต่างด้าวที่คิดจะล้ม Rutherford ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท


กำลังโหลดความคิดเห็น