สเปซด็อทคอม/เอเอฟพี - ผู้บริหารนาซาเชื่อแผนทำลายดาวเทียมจารกรรมที่กำลังหลุดจากวงโคจรของกองทัพสหรัฐฯ จะไม่ทำอันตรายลูกเรือและสถานีอวกาศ และยังไม่มีแผนให้ลูกเรือของสถานีอวกาศสังเกตการณ์หรือบันทึกภาพเหตุการณ์
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตรียมยิงขีปนาวุธจากเรือเอกิส (Aegis) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อทำลายดาวเทียมจารกรรมของสหรัฐฯ ที่สูญเสียพลังงานและการควบคุมจากคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง อันเป็นเหตุให้ดาวเทียมดังกล่าวกำลังหลุดจากวงโคจรและพุ่งสู่โลกในที่สุด ซึ่งคาดว่าจะโม่งโลกใรช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค.นี้ โดยดาวเทียมหนัก 2,275 กิโลกรัมที่มีขนาดเท่ารถโดยสารประจำทางนี้บรรทุกเชื้อเพลิงที่เรียกว่า "ไฮดราซิน" (hydrazine) ซึ่งเป็นสารอันตรายที่สามารถทำให้ผู้คนที่อยู่บนพื้นโลกบาดเจ็บและเสียชีวิตหากดาวเทียมตกกระทบพื้นโลก
ทั้งนี้กองทัพสหรัฐฯ มีกำหนดยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมก่อนที่ดาวเทียมดังกล่าวจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในวันที่ 21 ก.พ.นี้ หลังจากกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) ขององค์การบริหารหารบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ลงจอดยังพื้นโลกแล้ว และการทำลายดาวเทียมจะเกิดขึ้นระยะ 240 กิโลเมตรจากพื้นโลกซึ่งจะทำให้ดาวเทียมระเบิดและกระจัดกระจายเป็นเศษเล็กเศษน้อยที่ระยะหลายร้อยกิโลเมตร โดยช่วงเวลาดังกล่าวลูกเรือในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จะอยู่ที่ระยะประมาณ 345 กิโลเมตร และลูกเรือเชื่อว่าพวกเขาจะไม่ตกอยู่ในอันตรายเพราะทั้งนาซาและกองทัพต่างก็เป็นห่วงลูกเรือของสถานีอวกาศ
ด้าน ไมเคิล กริฟฟิน (Michael Griffin) ผู้อำนวยการนาซากล่าวว่า ความพยายามที่จะทำลายดาวเทียมจารกรรมที่สูญเสียการควบคุมของกองทัพสหรัฐฯ นั้นจะไม่ทำให้เกิดอันตรายกับยานแอตแลนติสหรือลูกเรือนานาชาติ 3 ที่อยู่ในสถานีอวกาศ เช่นเดียวกับที่ เคิร์ก ไชร์แมน (Kirk Shireman) รองผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศนานาชาติของนาซาได้แจงว่านาซาได้วิเคราะห์แล้วว่าการยิงทำลายดาวเทียมนั้นมีผลกระทบที่เล็กน้อยและไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับสถานีอวกาศ พร้อมเสริมว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะให้ลูกเรือของสถานีอวกาศสังเกตการณ์หรือบันทึกภาพการทำลายดาวเทียมแต่อย่างใด
อีกทั้งเพื่อเพิ่มโอกาสให้กองทัพทำลายดาวเทียมไม่ให้พุ่งสู่พื้นโลกสำเร็จ นาซาได้ให้แอตแลนติสกลับสู่พื้นโลกก่อนกำหนดในวันที่ 20 ก.พ.นี้ พร้อมทั้งเปิดสถานที่ลงจอดของกระสวยอวกาศเพิ่มเติมอีกแห่งที่ศูนย์วิจัยการบินไดร์เดน (Dryden) ซึ่งตั้งอยู่ในฐานทัพอากาศสหรัฐฯ เอ็ดเวิร์ด (Edward) รองรับในกรณีที่กระสวยอวกาศไม่สามารถลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy space center) ได้