xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดความเห็นกรณี "ปลาร้า-ยูคา" จากไอเดีย รมต.วิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวง ซ.โยธีไม่เท่าไหร่ "วุฒิพงษ์ ฉายแสง" ก็ฉายแวววิสัยทัศน์กระบวนการคิดเป็นวิทยาศาสตร์ออกมามากมาย เริ่มตั้งแต่แนวคิดปลุกผียูคาเพื่อใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงเหลว ไปจนถึงแนวคิดทำ "ปลาร้าจืด" ที่ลดเค็ม-เหม็นอันเป็นสเน่ห์เฉพาะตัวของอาหารประจำถิ่นอีสาน ซึ่งผ่านไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูต่อแนวคิดของรัฐมนตรีวิทย์คนใหม่

ทันทีที่ความคิดของ "วุฒิพงษ์ ฉายแสง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส.ส.เมืองแปดริ้วผู้เป็นน้องชายของ "จาตุรนต์ ฉายแสง" เกี่ยวกับการปลูกยูคาลิปตัสไม้โตเร็วเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงเหลวแก้วิกฤติพลังงานถูกนำเสนอต่อสาธารณชนก็มีความเห็นสะท้อนต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางแสดงความเห็นท้ายข่าวของ "ผู้จัดการออนไลน์"

บางความเห็นระบุว่าที่บ้านทำนาและได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยูคาลิปตัสแทนซึ่งขายได้ราคาดีกว่าปลูกพืชหมุนเวียนอย่างปอ มันสำปะหลังและถั่วดิน แต่ได้รับผลเป็นดินแห้งเสีย ขาดความชุ่มชื้น อีกทั้งระบบนิเวศเสียไปซึ่งเขารู้สึกเสียดายและคิดจะกำจัดพืชต่างถิ่นนี้ แต่ก็ทำได้ยากเพราะรากยูคาลิปตัสฝังลึกและแผ่กว้าง ต้องเสียเงินจ้างในการขุดตอและรากจำนวนมาก

อีกทั้งบางคนระบุว่าได้ดูสารคดีเกี่ยวกับบางประเทศที่นำยูคาลิปตัสไปปลูกในป่าและปรากฏว่าป่าเสียและแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุจากต้นยูคาลิปตัสมีถิ่นกำเนิดในทวีปที่เป็นทะเลทรายจึงพัฒนาตัวให้กักเก็บน้ำได้มากและรวดเร็ว เนื่องจากฝนตกในทะเลทรายไม่มากนัก โดยรากจะแผ่กว้างไปตามพื้นดินเพื่อดูดน้ำให้มากที่สุด เป็นเหตุให้ต้นไม้อื่นเติบโตได้ยาก อีกทั้งใบยังมีสารประกอบของน้ำมันหอมระเหยประเภทเมนทอลที่ย่อยสลายยาก จึงทำให้คุณภาพของดินลดลง

ขณะที่บางคนระบุว่าต้องใช้เวลา 10-20 ปีฟื้นฟูดินและสิ่งแวดล้อมที่ถูกยูคาลิปตัสทำลาย แต่ที่รัฐมนตรีผู้เข้ารับตำแหน่งไม่กี่วันกลับสามารถทำลายสังคมและสภาพแวดล้อมไปชั่วลูกชั่วหลาน ส่วนคนที่เคยปลูกก็ออกโรงให้ความเห็นเองว่า ต้นยูคาลิปตัสคือต้นไม้ผีดิบที่แถวบ้านเขาปลูกกันตามคันนาแล้วปรากฏว่าดินบริเวณใต้ต้นไม้ออกเป็นสีขาวและแตกระแหง จึงได้ตัดทิ้งทั้งหมดแล้ว

"ท่ามกลางความชื่นใจ ผมดันเห็นภาพหลอน เห็นผืนนาดินแห้งเป็นทราย ตอไม้ถูกเผาและยังไม่ถูกขุดเผาอยู่ตามคันนา เห็นชาวนาน้ำตานองหน้าทิ้งผืนนาไปอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล เห็นนาย ก ออกมาด่าชาวนาอย่างที่เคยทำผมเห็น __/\/|/\/|___/\/\_____________ตื้ดดดดดดดดดดดดดดดดดด"

ความเห็นของผู้ฟังมาที่ระบุว่าฟังคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีผ่านวิทยุแล้วเชื่อว่าผู้แทนจากฉะเชิงเทราหวังดีต่อประชาชน แต่อีกภาพเขาก็มองเห็นในสิ่งที่ขัดแย้ง นอกจากนี้ยังมีความเห็นขำๆ ว่า "คงได้แปลงร่างเป็นโคอาลา กินใบ "ยูคา" แทน "ข้าว" กันล่ะคราวนี้" ด้วย

ยังไม่ทันที่กระแสยูคาลิปตัสจะเงียบหายแนวคิด "ปลาร้าจืด" ก็ผุดขึ้นมาเรียกเสียงฮือฮาได้อีกต่อหนึ่ง เมื่อ ฯพณฯ วุฒิพงษ์ สั่งการให้นักวิชาการไปศึกษาการทำปลาร้าให้เค็มน้อยลงและไม่เหม็น ทำเอาแฟนคลับอาหารประจำถิ่นอีสานต้องรีบออกมาแสดงความเห็นว่าคุณสมบัติทั้งสองคือจุดเด่นของปลาร้า พร้อมเปรียบเทียบไปถึง "ชีส" ของฝรั่งว่าต้องมีกลิ่นแรงจึงจะขายออก

ส่วนบางคนที่พอมีความรู้เกี่ยวกับการทำปลาร้าระบุว่าปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักจุลินทรีย์ที่สร้างกรดแลคติกซึ่งทำให้มีรสเปรี้ยว และต้องใส่เกลือมากกว่าปกติ 3% เพื่อให้จุลินทรีย์ที่ไม่เกี่ยวข้องรวมทั้งเชื้อโรคต่างๆ ตาย แต่หากใส่เกลือน้อยเกินไปเราก็ได้ "ปลาเน่า" แทน

"เหตุผลอีกอย่างที่ต้องเค็ม....ยามอีสานเเล้ง...อาหารหายากก็เหลือเเต่ข้าวกับ ผัก น้ำพริกที่พอมี...เอามาจิ้มกับปราร้าที่รสชาติเค็ม กินข้าวเปล่ากับกินข้าวจิ้มน้ำปลา น้ำซอส อะไรอร่อย คิดดู อร่อยนะครับ...เเล้วที่ว่าจะไม่ให้มันเค็มเนี้ย..ผมว่าท่านไปคิดอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอครับ ปลาร้าน่ะ...อาหารยามอดอยากนะครับ เวลาท่านมีเยอะ ..ท่านไปคิดอย่างอื่นก่อนก็ได้ครับ...มันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร" ความเห็นบางส่วนจากคุณ "กำ"

บางคนที่มองโลกในแง่ดีก็ระบุว่าเป็นแนวคิดในการพยายามพัฒนาสินค้าให้ขายได้ทั่วโลกและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่คุณ "ลูกอิสาณ" ให้ความเห็นว่า "ทำปลาร้าให้มีรสเค็มจัดนั่นแหละดีแล้ว เก็บไว้ได้นาน หนอนไม่ขึ้น เขาเอาไว้เป็นเครื่องปรุง ไม่ใช่เอามากินเป็นชิ้นๆ อย่างสเต็ก กินไม่เป็นยังมาเที่ยววุ่นวายกับชาวบ้าน คิดอะไรให้มันสร้างสรรค์กว่านี้หน่อยเถอะ มิน่า คุณสมัคร ถึงว่าขี้เหร่ ไปหากระจกส่องดูเงาตัวเองซะ"

ส่วนคุณ "แดง" ก็ระบุว่า "ปลาร้าเกิดขึ้นมาในโลกเพราะเขาต้องการความเค็มเอามาใช้แทนน้ำปลา เป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่ง อยากกินปลาจืดก็มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองแล้ว"
 
ด้านคุณ "หมาไม้" ก็ให้ความเห็นว่า "ปลาร้านี่น่าจะเรียกได้ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นนะ คำว่า "ปลาร้า" หมายถึงปลาที่ได้จากวิธีการนำมาหมักเค็มด้วยเกลือแล้วใส่อะไรอีกก็ว่าไป (ขอโทษที ไม่รู้วิธีทำ) เพราะฉะนั้นเอกลักษณ์มันก็คือรสชาติที่เค็ม และกลิ่นที่อาจจะแรงไม่ถูกจมูกใครหลายๆ คน ถ้าจะคิดสร้างปลาหมักที่ไม่มีกลิ่นอะไรเนี่ย ก็ขอให้คิดชื่ออื่นแทนเถอะ เรียกว่า "ปลาโร้" หรือ "ปลาเร้" หรือ "ปลารี้" หรืออะไรก็ตามแต่เพื่อที่คนกินจะได้แยกได้ถูก"

ขณะที่คุณ "อะนะ อะนะ" กล่าวถึง "กรดอะมิโน" ตามที่รัฐมนตรีเอ่ยคุณค่าทางโภชนาการของปลาร้าว่า "กรดอะมิโน มาจากไหน ตอบมาจากการย่อยสลายพันธะเปบไทด์ของสายโปรตีน โปรตีนมาจากไหน ตอบก็มาจากโครงสร้างทางกายภาพของเนื้อเยื่อต่างๆ เนื้อเยื่อมาจากไหน ตอบก็มาจากเนื้อปลาที่ใส่นะซิ คงไม่ใช่เนื้อหมู ไม่งั้นคงเป็นหมูร้าไปแล้ว เพราะฉะนั้น เนื้อปลาเท่ากับเนื้อปลาร้าตามกฏคงมวลของสสาร (สสารย่อมไม่สูญหายถ้าเก็บไว้ดี ๆ นะ) ดังนั้นคนเราจึงควรหันมากินเนื้อปลากันเถอะ ไม่ต้องไปผ่านกระบวนการให้มันยุ่งยาก เพราะยิ่งผ่านหลายกระบวนการรับรอง แพงชัวร์...."

หรือสุดท้ายแนวคิดทั้งหลายจากท่านรัฐมนตรีอาจไม่เพียงแผนประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักเหมือนเช่นคุณ "รมต.คงไม่โง่แต่เป็นพวกเราที่ตกหลุมพราง" ให้ความเห็นว่า "ผมว่าเป็นแผนประชาสัมพันธ์ตัวเองของท่าน รมต. ไม่ให้อยู่ในซอกหลืบหรือไม่เป็นที่รู้จักมากกว่าครับ...อย่าลืมว่า รมต.คนก่อนติดอันดับคนไม่รู้จักมากที่สุดนะครับ กระทรวงนี้ถ้าไม่ทำแบบนี้คนไม่รู้จักหรอกครับ" ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงน่าเศร้าที่รัฐมนตรีสนใจเป็นข่าวมากกว่าบริหารงานวิทยาศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น