xs
xsm
sm
md
lg

ผลิต "วัคซีน" ทำไมยากจัง? ถ้าแค่นำไวรัสมาฉีดเข้าร่างกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ทรพิษ และวัคซีนอื่นๆ ก็มีแล้วหลายชนิด แต่วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก หรือวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดกลับยังไม่สามารถผลิตใช้ได้ และเพราะเหตุใด ทั้งที่วัคซีนป้องกันโรคไหนก็คือไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดโรคนั้นนั่นเอง แล้วใยต้องใช้เวลาคิดค้นพัฒนากันนานนับสิบๆปี?

ศ.ดร.สุธี ยกส้าน เพิ่งเปิดเผยผลสำเร็จการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกไปเมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ค้นคว้าวิจัยมานานเกือบ 30 ปี ซึ่งอาจไปกระตุ้นต่อมความสงสัยให้ใครหลายคนที่พอจะรู้จักวัคซีนอยู่บ้างว่าคือไวรัสหรือจุลชีพหรือสารพิษที่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน แต่ทำไมถึงต้องใช้เวลานานหลายปีหรือหลายสิบปีกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคแต่ละชนิดออกมาใช้ได้จริง

อ.สุธี ให้ข้อมูลต่อเรื่องนี้ว่า เมื่อราว 200 ปีก่อน (พ.ศ.2339) เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) สังเกตเห็นคนที่รีดนมวัวแล้วมีฝีวัวขึ้นตามมือตามแขนมากมาย แต่กลับไม่ป่วยเป็นโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษเหมือนคนอื่นๆ เขาก็เลยทดลองเอาหนองจากคนที่เป็นโรคฝีวัวมาสะกิดใส่ผิวหนังของคนปกติ ทำให้คนนั้นเป็นฝีวัว

พอหายจากฝีวัว เจนเนอร์ก็เอาหนองจากผู้ป่วยฝีดาษไปสะกิดใส่เขาอีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่าเขาไม่เป็นโรคฝีดาษ เจนเนอร์จึงค้นพบว่าเชื้อฝีวัวสามารถป้องกันโรคฝีดาษได้ นับเป็นการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษครั้งแรก ทั้งนี้เชื้อโรคฝีวัวเป็นชนิดที่ใกล้เคียงกับที่เชื้อโรคฝีดาษ ทว่าไม่ร้ายแรงทั้งในวัวและในคน และยังสามารถป้องกันโรคฝีดาษให้กับคนได้

จากนั้นราว 100 ปีถัดมา (พ.ศ.2428) หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นผู้วางรากฐานการทำวัคซีนโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสในสมองสัตว์แล้วทำให้เชื้ออ่อนแรงลงหรือทำให้เชื้อตายเพื่อทำวัคซีน ซึ่งการผลิตวัคซีนในยุคต่อๆ มาก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ แต่อาจเป็นสัตว์ชนิดที่ต่างกันไปตามความเหมาะสม

ต่อมาเริ่มมีวิทยาการเพาะเลี้ยงเซลล์ (cell culture) เกิดขึ้น ก็เริ่มมีการทำวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงตามมาเมื่อราว 30 - 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน, คางทูม หรือโปลิโอ

ชนิดของวัคซีนแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ วัคซีนเชื้อเป็น (Live Attenuated Vaccine) และ วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ซึ่ง อ.สุธี เลือกใช้วัคซีนเชื้อเป็นสำหรับทำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพราะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า โดยทำให้เชื้ออ่อนแรงลงจากการเพาะเลี้ยงในเซลล์ไตสุนัข ทั้งนี้ต้องศึกษาหาเซลล์ที่เหมาะสมและทำให้เชื้อไวรัสชนิดนั้นๆ อ่อนแรงลงได้ เพราะไวรัสแต่ละชนิดเหมาะกับเซลล์เพาะเลี้ยงชนิดต่างกันไป เซลล์บางชนิดอาจทำให้เชื้อตายหมดหรือทวีความรุนแรงของเชื้อได้

กรณีไวรัสเอชไอวี (HIV) ต้นเหตุของโลกเอดส์นี้เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเดิมทีมีอยู่ในลิงและไม่รุนแรงมาก แต่พอเชื้อได้แพร่สู่คนกลับทวีความรุนแรงขึ้น และวิจัยกันมาหลายสิบปี จนบัดนี้ก็ยังทำวัคซีนป้องกันโรคนี้ไม่สำเร็จ

ส่วนการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ได้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำวัคซีนได้เหมือนกัน แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับนำไปเป็นวัคซีน ขณะเดียวกันก็เป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับวัคซีนบางชนิดที่ไม่สามารถทำให้อ่อนแรงในเซลล์เพาะเลี้ยงได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ที่ใช้ไวรัสตัดต่อยีนแล้วเพาะเลี้ยงในเซลล์ยีสต์ 

อ.สุธี บอกว่า กว่าจะพัฒนาวัคซีนแต่ละชนิดได้นั้น นักวิจัยต้องใช้เวลาและลองผิดลองถูกอยู่นาน ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมกัน เพราะวัคซีนแต่ละชนิดเหมาะกับกรรมวิธีการผลิตที่ต่างกัน นักวิจัยต้องค้นหาว่าวัคซีนใดเหมาะกับวิธีใดหรือเหมาะกับเซลล์ชนิดไหน ไม่มีเทคนิคตายตัวเหมือนกันทุกชนิด แม้แต่วัคซีนไข้เลือดออกก็ไม่มีข้อยกเว้น

ไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 ชนิด ไม่ได้เพาะเลี้ยงในเซลล์ชนิดเดียวกันได้หมดทุกตัว มีบางชนิดที่ต้องใช้เซลล์ต่างจากเพื่อน (อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด อ.สุธี สามารถเพาะเลี้ยงไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 ชนิดได้ในเซลล์ชนิดเดียวกัน)

เมื่อนักวิจัยคิดค้นวัคซีนได้แล้วในห้องปฏิบัติการ จะต้องทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับห้องทดลองก่อน ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่น้อยกว่า 95% ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ หรือมีได้ไม่เกิน 20% ที่สำคัญต้องป้องกันเชื้อในธรรมชาติได้จริง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตระดับโรงงาน ซึ่งก็ต้องทดสอบประสิทธิภาพเช่นเดิมในคนจำนวนมากอีกครั้งหนึ่งและต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกินเวลาหลายปี ก่อนที่จะอนุญาตให้นำไปใช้กับสาธารณชนได้อย่างทั่วถึง

ส่วนกลไกการสร้างภูมิคุ้มกัน อ.สุธี อธิบายว่า ไวรัสจะสามารถอาศัยอยู่และเพิ่มจำนวนได้ในเซลล์ที่จำเพาะกับไวรัสชนิดนั้น เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้ จะมีบางส่วนที่ถูกย่อยและปล่อยออกมานอกเซลล์ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (antibody) มาจับสิ่งแปลกปลอมนั้น

ส่วนดีเอ็นเอของไวรัสก็จะอาศัยสิ่งแวดล้อมในเซลล์เพิ่มจำนวนตัวมันก่อนออกไปหาเซลล์เป้าหมายใหม่ และกว่าที่จะมีแอนติบอดีมาจัดการกับไวรัสได้หมดต้องใช้เวลา และบางครั้งอาจไม่ทันการ ดังนั้นวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ร่างกายพร้อมรับมือกับไวรัสได้ทุกเมื่อ

"วัคซีนที่ดีจะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีภายในเข็มเดียวหรือไม่ควรเกิน 2 เข็ม ต้องคุ้มกันได้ไม่น้อยกว่า 5-10 ปี ที่สำคัญต้องราคาถูกเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ และการทำวัคซีนแต่ละชนิดอย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะสำเร็จในทันที หากว่าทำสักร้อยชนิดแล้วสำเร็จเพียง 1 ชนิด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากมายแล้ว" อ.สุธี กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น