ไซน์เดลี - ไม่ต้องมีหลักฐานหรือบัตรประจำตัวประชาชน นักวิจัยเดนมาร์กก็สามารถบอกปีเกิดของผู้ตายได้จากการตรวจวัดปริมาณการแผ่รังสีของคาร์บอน 14 จากเนื้อเยื่อเลนส์ตาของศพที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นใครมาจากไหน วิธีนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ตรวจหาอายุของมะเร็งได้ว่าอุบัติขึ้นในร่างกายเมื่อไหร่
นักวิทยาศาสตร์มักคำนวณอายุวัตถุโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์ด้วยการตรวจวัดปริมาณของคาร์บอน-14 (carbon-14: C-14) ทว่าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) และมหาวิทยาลัยแห่งออร์ฮุส (University of Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก นำมาประยุกต์ใช้ในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจวัดคาร์บอน-14 จากเนื้อเยื่อเลนส์ตาของศพเพื่อคำนวณอายุและปีเกิด ทั้งยังเผยว่าวิธีนี้นำไปใช้คำนวณอายุของก้อนมะเร็งได้ด้วยว่ามันเริ่มเกิดขึ้นมาตอนไหน ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์นีลส์ ลินเนอรัพ (Professor Niels Lynnerup) ภาควิชานิติวิทยาศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่าเลนส์ตาประกอบด้วยโปรตีนคริสทัลลินส์ (crystallins) ที่จัดเรียงตัวกันบางๆ เป็นรูปร่างเฉพาะ และยอมให้แสงผ่านได้ จึงทำให้ตามองเห็น ซึ่งเมื่อเด็กเกิดมามีอายุราว 1-2 ปี เซลล์ในเลนส์ตาจึงเริ่มการสร้างโปรตีนคริสทัลลินส์นี้ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการมองเห็น และเป็นเช่นนี้ไปตลอดช่วงชีวิต
ส่วนคาร์บอน-14 เป็นธาตุกัมมันตรังสีซึ่งเป็นไอโซโทปหนึ่งของธาตุคาร์บอน และมีอยู่ในบรรยากาศและในห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นจึงมีอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตด้วย แต่คาร์บอน-14 ในธรรมชาติมีปริมาณน้อยมากๆ หากเทียบกับคาร์บอน-12 โดยคาร์บอน-14 นี้จะมีอยู่ และจะมีปริมาณคงที่ตลอดช่วงชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั้น กระทั่งตายลง ธาตุคาร์บอน-14 ก็จะค่อยๆ สลายตัวและลดน้อยลงอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลา 5,730 ปี จึงจะมีจำนวนลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม
ในโปรตีนคริสทัลลินส์ของเลนส์ตาก็มีธาตุคาร์บอน-14 เป็นองค์ประกอบอยู่เช่นกัน และเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดกับคริสทัลลินส์เลยนับแต่มันถูกสร้างขึ้นมา ปริมาณคาร์บอน-14 ที่มีอยู่ในนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน นักวิจัยจึงสามารถตรวจวัดปริมาณคาร์บอน-14 จากเนื้อเยื่อของเลนส์ตาแค่เพียง 1 มิลลิกรัม แล้วคำนวณปีเกิดของบุคคลผู้นั้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรณีที่ขาดหลักฐานหรือไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ตายเป็นใครมาจากไหน
ศ.ลินเนอรัพ บอกอีกว่า นักวิจัยสามารถนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้ตรวจวัดปริมาณคาร์บอน-14 ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ โปรตีน หรือสารประกอบต่างๆ ในร่างกายเพื่อวินิจฉัยทางการแพทย์ได้ เป็นต้นว่า ตรวจสอบเนื้อเยื่อหรือเซลล์มะเร็งว่าเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ จะช่วยให้เราเข้าใจการเกิดมะเร็งมากขึ้น และช่วยหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้