วท. -เอ็มเทคเตรียมยกร่างมาตรฐานหม้อก๋วยเตี๋ยวไร้สารตะกั่ว ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภค เผยมี สมอ.กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งานรับไปประกาศใช้ ด้าน สคบ. กระทรวงการคลัง เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารออมสินตบเท้าช่วยสนับสนุนผู้ผลิตหม้อก๋วยเตี๋ยวทั้งด้านภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยถึงกระแสการตอบรับ “การพัฒนาหม้อก๋วยเตี๋ยวอนามัยปราศจากสารตะกั๋ว” ว่า ในขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้โครงการพัฒนาการผลิตภาชนะหุงต้มปลอดสารตะกั่วเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ เอ็มเทคได้รับการประสานงานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเจ้าภาพยกร่างมาตรฐานฯ ซึ่ง สมอ. ได้มอบหมายให้เอ็มเทค ศึกษาและสรุปข้อมูลทางเทคนิคของภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ปราศจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว เพื่อส่งมอบให้ สมอ. เตรียมดำเนินการร่างประกาศมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อไป เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานในการผลิตภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารปราศจากสารตะกั่ว และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ดร.เอกรัตน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังได้วางแผนบูรณาการ โดยได้รับความร่วมมือจาก กระทรวงการคลัง และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำโครงการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ผลิตภาชนะปรุงหรือประกอบอาหาร ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีและสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต
"นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการขายก๋วยเตี๋ยว โดยสามารถกู้ยืมเงินระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต ตลอดจนช่วยลดภาระพร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขายก๋วยเตี๋ยวใส่ใจและห่วงใยต่อสุขภาพของผู้บริโภคกว่าที่เป็นอยู่" ดร.เอกรัตน์ฯ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. เสริมว่า เรื่องการพัฒนาหม้อก๋วยเตี๋ยวให้ปราศจากสารตะกั่วนั้น เป็นเพียงหนึ่งในเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการส่งมอบงานวิจัยและพัฒนาในระยะสั้น ของสวทช.ในปีนี้ โดย สวทช. ได้เน้นกำหนดโจทย์การวิจัยและพัฒนา ให้มีการสร้างผลงานนำหน้าปัญหา และตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ในทุกระดับชั้นของสังคม เพื่อให้ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมต่อไป