xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กฯโตลด เบนเข็มเจาะอียูรับมือ ศก.สหรัฐฯหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวเลขการขยายตัวส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปีนี้ คาดหดตัวเล็กน้อยเหลือ 12% คิดเป็นมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท เป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง ด้านผู้ประกอบการไทยรับมือเบนเข็มเจาะตลาดอียูเพิ่ม มั่นใจกระทบเล็กน้อย ยอมรับผู้ผลิตแทบไม่มีกำไร หลังต้นทุนการผลิตและบาทแข็ง ทำให้แข่งขันลำบาก

นายขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีอัตราการขยายตัวลดลงเมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่เติบโต 13-14% มูลค่าการส่งออก 1.6 ล้านล้านบาท เป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์)

โดยปีนี้กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า การส่งออกขยายตัว 12% คิดเป็นมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งตลาดสหรัฐฯในปี 2549-2550 มีการขยายตัวติดลบ ทำให้ผู้ประกอบการไทยเบนเข็มหันไปส่งออกที่สหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น โดยไม่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯมากนัก ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดอียูในปีนี้ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 13-14% เป็น 15-16% ของการส่งออก เป็นอันดับ 2 รองจากตลาดสหรัฐฯที่มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 16-17% โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่า มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ

“เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวลง เชื่อว่า คงกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่รุนแรงนัก เนื่องจากผู้ผลิตได้มีการเตรียมรับมือปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว สิ่งสำคัญตอนนี้ตนอยากให้มีการเร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยมากแขึ้น ขณะที่การเปิดตลาดใหม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็มีการบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตะวันออกกลาง ส่วนยุโรปตะวันออก และรัสเซีย นั้น ยอมรับว่า ไทยบุกตลาดค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างจีน และเกาหลี ที่ไปยึดตลาดนี้แล้ว”

นายขัติยา กล่าวว่า แม้ตัวเลขการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการกลับไม่มีกำไร เนื่องจากต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าเป็นการแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยน้อยลงไปเมื่อเทียบกับผู้ผลิตอย่างจีนที่มีความได้เปรียบด้านค่าแรง และได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพดีอยู่ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ คือ อียู และอาเซียน จึงมีผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนหลายรายเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพื่ออาศัยไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปในตลาดอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยพยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้แข่งขันได้ นอกจากนี้แล้ว ยังมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าด้อยคุณภาพจากจีนเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งทำลายผู้ผลิตไทยและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ซึ่งตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมอ.เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ส่วนการทำข้อตกลงเขตการค้าไทย-อินเดีย (เอฟทีเอ) พบว่า ไทยมีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปอินเดียตามโครงการเอฟทีเอได้ระดับหนึ่ง แต่พบว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นอกเหนือข้อตกลงเอฟทีเอกลับมีการส่งออกไปจำหน่ายในอัตราส่วนที่มากกว่า เช่นเดียวกับเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย บ่งชี้ให้เห็นว่า ไทยมีการทำเอฟทีเอโดยไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบ และไม่ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน ทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น