ไลฟ์ไซน์ดอทคอม/ไซน์เดลี - หนุ่มๆ เคยสังเกตสาวๆ ข้างตัวหรือไม่ว่าเมื่อใดที่เธอตกอยู่ในอาการเศร้าทีไร ปริมาณน้ำหอมที่ประพรมร่างกายของหล่อนๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย งานวิจัยจากอิสราเอลชี้ว่า เพราะเธอสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นไปชั่วคราว โดยที่แม้เจ้าตัวก็ยังไม่รู้
ดร.เยฮูดา โชเอนเฟล์ด (Yehuda Shoenfeld) อายุรแพทย์ และนักวิจัยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ประเทศอิสราเอล พบว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ในอาการเศร้าจะสูญเสียประสาทในการดมกลิ่นไป ทำให้เธอต้องพรมน้ำหอมมากขึ้นกว่าปกติ
โชเอนเฟล์ดและทีมวิจัยได้ศึกษา "ออโตแอนติบอดี" (autoantibody) ซึ่งร่างกายจะปล่อยสารเคมีออกมาจู่โจมตัวเอง เช่นในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง (lupus) แถมยังชักนำให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่
พวกเขาได้ใช้ออโตแอนติบอดีเพื่อทำให้หนูเมาส์เพศเมียรู้สึกหดหู่ พบว่าสารเคมีที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานของต่อมอัลแฟคทอรี (olfactory gland) ซึ่งควบคุมประสาทการดมกลิ่นหยุดลง ทั้งที่การทดลองไม่ได้ยุ่งกับจมูกของหนูเลย แถมพบว่าน้ำหนักของหนูยังลดลงด้วย
"น้ำหนักลดเป็นสัญญาณหนึ่งของอาการโศกเศร้าในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกัน ถ้าคุณไม่ได้กลิ่น คุณก็จะไม่กินอาหาร เพราะคุณจะไม่มีความสุขกับการกิน และน้ำหนักก็จะลดลง" โชเอนเฟล์ด กล่าว
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารเกี่ยวกับโรคข้อและกระดูก "อาร์ไธรทิสและรูมาทิสซึม" (Arthritis and Rheumatism) ชิ้นนี้ยังชี้ด้วยว่า ผู้ป่วยดังกล่าวจึงตอบสนองได้ดีกับการบำบัดด้วยกลิ่น (aromatherapy) ที่จะทำให้พวกเขาพ้นจากภาวะดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี อาการโศกเศร้าและการใช้น้ำหอมมากเกินไปนี้ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เท่านั้น แต่เกิดได้แม้กับคนปกติที่อยู่ในภาวะโศกเศร้า ซึ่งทำให้อธิบายได้ว่าทำไมผู้ชายบางคนถึงประโคโลญจ์มากนัก
โชเอนเฟล์ด ชี้ว่า บรรดาอายุรแพทย์ รวมถึงเขาควรที่จะใส่ใจศึกษาความสัมพันธ์ของการดมกลิ่นและสุขภาพของผู้คนมากขึ้น และอาจใช้การทดสอบกลิ่นเพื่อจำแนกผู้ป่วยโรคภูมิแพ้กับอาการซึมเศร้าด้วย
"เรารู้เรื่องประสาทสัมผัสทั้งหมดแล้ว แต่เรื่องประสาทการดมกลิ่นเราละเลยมานาน และเพิ่งจะตื่นตัวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อ 2 นักวิจัยได้รับรางวัลโนเบลจากการระบุตัวรับกลิ่นในมนุษย์ได้ ทว่าเราก็ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก และผมเชื่อว่านี่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญมากเช่นกัน" โชเอนเฟล์ดกล่าว