สัมภาษณ์เปิดใจสุดยอดคนวิทยาศาสตร์ "ปิงปอง" นักเรียน ม.ปลายจากรั้วเตรียมอุดม เจ้าของเหรียญทองชีวโอลิมปิกคะแนนอันดับหนึ่งของโลก ผู้เบียดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่ขึ้นแท่น "Sci Celeb" ในใจผู้อ่าน "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์"
ในที่สุด "สุดยอดคนวิทยาศาสตร์" ในกิจกรรม "Sci Celeb: โหวตสุดยอดคนวิทยาศาสตร์แห่งปี" ก็ตกเป็นของ "เจนวิทย์ วงศ์บุญสิน" หรือ "ปิงปอง" เจ้าของเหรียญทองชีวโอลิมปิกคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่งของโลกประจำปี 2550 และเป็นนักเรียนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เจเอสทีพี) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) หลังจากมีคะแนนนำโด่งมาหลายสัปดาห์ เบียดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่อย่าง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ ดร.ชะวะนี ทองพันชั่ง นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ลงไปอยู่อันดับ 2 และ 3
ทั้งนี้การได้เป็นผู้แทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาชีววิทยาจนทำให้นักเรียน ม.6 จากรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดดเด่นแซงหน้าผู้ใหญ่ไปนั้น "ปิงปอง" เผยว่าเป็นเพราะเมื่อตอน ม.4 เขาได้เข้าค่ายอบรมวิชาการของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)
และปีถัดมาจึงสามารถสอบผ่านเข้าค่ายอบรมของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทั้งนี้ผู้แทนในสาขานี้ส่วนใหญ่จะผ่านค่ายของ สอวน.มาก่อนและน้อยที่อยู่ในชั้นต่ำกว่า ม.5
อีกทั้งเมื่อตอน ม.3 เขายังได้เป็นตัวแทนแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad: IJSO) ของ สอวน.ซึ่งเราเรียกว่า "โอฯ เล็ก" ทำให้เขาเกิดความสนใจในวิชาชีววิทยาตั้งแต่นั้น และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งผู้แทนในปีถัดมาคือปี 2549 คือรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ
"ทรงตรัสอะไรบ้าง จำไม่ได้แล้วเพราะตื่นเต้น เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าเจ้านาย ก็สั่นๆ กลัวๆ เกร็งๆ ตอนนั้นอยากเข้าเตรียมฯ ได้เจออาจารย์เตรียมก็ยิ่งเกร็งเข้าไปใหญ่ แต่พอพระองค์มีพระดำรัสก็สัมผัสได้ถึงพระเมตตา ทำให้สบายใจขึ้นแต่ไม่กล้าพูดอะไรออกมา"
"สิ่งที่พระองค์ตรัสสะท้อนให้เห็นถึงความใส่พระทัยต่อมูลนิธิ สอวน. ทรงทราบว่าแต่ละปีไทยได้กี่เหรียญ กฎเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ทรงทราบทั้งหมด จากประสบการณ์ครั้งนั้นจะไป "โอฯ ใหญ่" (การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการใน 5 สาขาวิชาหลัก) ให้ได้"
พร้อมกันนี้ปิงปองเผยว่าไทยยังส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิกวิชาการไม่ครบทุกสาขา ยังมีโอลิมปิกวิชาการสายศิลป์ด้วย แต่เมืองไทยไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบและติดต่อเข้าไปแข่ง มีโอลิมปิกทางภาษาศาสตร์ที่กำหนดภาษาขึ้นมาแล้วให้สร้างภาษาเอง ต้องเป็นนักภาษาจริงๆ ดูโครงสร้างภาษาแล้ววิเคราะห์
อีกอันคือเป็นโอลิมปิกด้านปรัชญาที่กำหนดให้วิเคราะห์วรรณกรรม วรรณคดีในโลก ซึ่งกฎที่ผมดูมานั้นเขาห้ามใช้ภาษาประจำชาติในการแข่งขัน เช่น เยอรมันก็ใช้ภาษาอังกฤษในการแข่งขัน เป็นต้น
"ตอนนี้เกาหลี ญี่ปุ่นไปแข่งแล้ว แต่ไทยยังไม่ไปเพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ จริงๆ แล้วน่าจะหาหน่วยงานนะ หน่วยงานภาษาซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กที่เรียนภาษากระตือรือร้นทางด้านนี้มากขึ้น เพราะโอลิมปิกก็เป็นทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กเรียนวิทย์ การแข่งขันนี้ก็อาจกระตุ้นให้เด็กเรียนสายภาษาได้รู้สึกว่าไม่ใช่งานที่ด้อยค่าหรือง่าย นอกจากนี้ยังมีโอลิมปิกทางด้านธรณีวิทยาด้วย แต่ไม่มีเป็นที่รู้จักเท่าไหร่"
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ชีวิตเป็นอย่างไรบ้างหลังจากได้รับเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการด้วยคะแนนที่หนึ่งของโลก?
ปิงปอง - ก็จะโดนเรียกว่า "ที่หนึ่งโลก" อยู่ประมาณเดือนหนึ่ง หลังจากนั้นก็กลับมามีชีวิตปกติกับเพื่อน เป็นที่รู้จักในโรงเรียนมากขึ้น มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์บ้าง ก็รู้สึกดีที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตได้เป็นตัวอย่างให้แก่เยาวชน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - แล้วช่วงนั้นยุ่งไหม?
ปิงปอง - ก็ยุ่งครับ ทั้งยุ่งเรื่องสัมภาษณ์ซึ่งช่วงแรกๆ จะเยอะ แต่หลังๆ ก็หายไป แล้วก็ตามงานในโรงเรียนในช่วงที่ไม่ได้เรียนเกือบครึ่งเทอม งานก็เยอะ ตามเรียน ตามสอบ ก็หนัก ตอนแรกคิดว่าเป็นเฉพาะผู้แทนของไทยแต่ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ส่งเมลคุยกับเพื่อนเขาก็บ่นเหมือนกัน ถ้าเป็นในยุโรปจะไม่บ่นเท่าไหร่เพราะเป็นช่วงปิดเทอมของเขา แต่เอเชียประสบปัญหาเดียวกัน อย่างพรุ่งนี้จะสอบมิดเทอม ทางอินโดนีเซียก็สอบเหมือนกัน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - แก้ปัญหายังไง?
ปิงปอง - ก็ตามเรียน อาจารย์ที่โรงเรียนก็ช่วยเหมือนกัน ไปเรียนพิเศษกับอาจารย์ 1 ชั่วโมงก็รู้เรื่อง แล้วกลับไปอ่านเอง อาจารย์ให้การบ้านไปแล้วกลับมาถามอาจารย์ ฟิสิกส์อาจารย์ก็ช่วย สอบเป็นวิชาสุดท้าย กลัวมากแต่ก็ได้เกรด 4
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ทำกิจกรรมอะไรบ้าง?
ปิงปอง - ผมทำกิจกรรมตั้งแต่เข้าเตรียมฯ แล้ว คือเป็นเชียร์ลีดเดอร์ซึ่งช่วงปิดเทอมต้องซ้อมลีดและก็เข้าค่ายโอลิมปิกด้วย ก็ขอพี่ลีดซ้อมวันเสาร์ ไปซ้อมแต่เช้า แล้วให้พี่เขาสอนท่าเยอะๆ จากนั้นก็ไปซ้อมเอง อ่านหนังสือเบื่อๆ ก็ลุกขึ้นมาเต้นลีด พอสอบค่ายจบก็กลับมาทุ่มเทให้กับการซ้อมลีด ก็ไม่รบกวนโอลิมปิกเพราะเป็นคนละเวลากัน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ทำไมสนใจเป็นลีด?
ปิงปอง - เคยเป็นสตาฟฟ์เชียร์ตอนอยู่โรงเรียนเก่า และเป็น "ลีดโจ๊ก" คอยเต้นแร้งเต้นกาตลกให้รุ่นน้องอนุบาลดู น้องก็จำหน้าได้ พอมาเตรียมฯ ก็มีเพื่อน มีรุ่นพี่ชวนเป็นลีด พอถามอาจารย์ว่าจะเสียการเรียนหรือเปล่า อาจารย์เขาก็บอกว่าไม่และสนับสนุนให้ทำ อาจารย์เขาสนับสนุนให้ทำกิจกรรมเพราะเรื่องเรียนแต่ละคนก็ได้เองอยู่แล้ว
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - มีกิจกรรมอื่นอีกไหม?
ปิงปอง - ตอน ม.5 เป็นประธานวิชาการตึก คือโรงเรียนจะมีนักเรียนเป็นกรรมการบริหารตึก ผมอยู่ฝ่ายกรรมการวิชาการก็จัดรุ่นพี่ติวให้รุ่นน้อง ทำเท่าที่ทำได้ จัดติวอยู่ 3 ครั้งในวิชาชีววิทยา ม.4 ให้ทั้งโรงเรียน ซึ่งประธานกรรมการฝ่ายวิชาการตึกจะมาคุยกันว่าจะจัดติวกันยังไง ใครจะติววิชาไหน ผมก็รับติวและทำหน้าที่บริหารด้วย
พอ ม.6 เป็นประธานชมรมซึ่งในโรงเรียนมีอยู่ 44 ชมรม ผมเป็นประธานชมรมพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีมา 3 ปีแล้ว ผมเป็นประธานคนที่ 4 ทั้งนี้ก็ต้องมีการปรับปรุงเรื่อยๆ ก็พยายามหาจุดยืนให้ชมรม และถือโอกาสที่ตัวเองว่างก็ทำให้ชมรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
ตอนนี้ว่างแล้วเพราะสอบติดแพทย์ฯ ศิริราชแล้วเลยไม่ต้องติดพันธะเอ็นทรานซ์เหมือนกับเพื่อน ก็คิดจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ระยะยาว สำหรับวิชาการนั้นเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ ผมไม่เรียนพิเศษเลยในเทอมนี้ แต่ไปสมัครเรียนพิเศษภาษาอังกฤษทั้งอ่าน-พูดเพราะจำเป็น และกำลังวางแผนว่าจะกลับไปเรียนเปียโนใหม่จากที่เรียนมาตอนเด็กๆ และวางแผนว่าจะเรียนกีตาร์ เรียนทำอาหาร เรียนภาษาญี่ปุ่น เรียนการเป็นพิธีกรซึ่งกำลังรอคุณแม่หาสถานที่เรียนให้
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ครอบครัวมีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนอย่างไรบ้าง?
ปิงปอง -ก็อยากทำอะไรก็ทำแต่ปรึกษากันก่อน คอยเป็นกำลังใจ มีญาติเป็นนักเคมีซึ่งช่วยตอบข้อสงสัยในบางเรื่องระหว่างเตรียมตัวแข่งโอลิมปิก ส่วนแม่ซึ่งเป็นหมอก็ช่วยตอบเรื่องหมอๆ ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นกับเรื่องที่ทันสมัยและก้าวหน้าไปเลย แต่เรื่องกลางๆ ไม่มี สำหรับฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ได้พี่สาวซึ่งเรียนวิศวะช่วยเหลือ ส่วนสังคมเศรษฐศาสตร์ได้พ่อซึ่งเป็นนายกสมาคมมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย แต่เวลาไปแข่งโอลิมปิกพ่อจะสอนว่าให้หาเพื่อนเยอะๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญกว่ารางวัล
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- คุณพ่อ-คุณแม่คาดหวังอะไรบ้าง?
ปิงปอง - ไม่คาดหวังอะไรเลย บางทีเราอยากสอบอะไรสักอย่างก็ไม่ให้สอบเพราะกลัวเครียด เขาอยากให้เราสบายๆ ไม่ต้องยึดติดกับอะไร ไม่ต้องเอาป้ายสมัยก่อนที่เคยได้รางวัลมาแปะตัวแล้วต้องทำตัวเก่งตลอด เป็นตัวของตัวเองดีกว่า
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ไม่มีความคาดหวังจากทางบ้านแล้วทำไมถึงดูมุ่งมั่นกับหลายๆ อย่าง?
ปิงปอง - ก็กระตุ้นตัวเองว่าอยากได้เหมือนรุ่นพี่ เชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนมีความรู้สึกอย่างจะเก่งอยากจะดังเหมือนกัน มันก็เกิดจากตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งพ่อแม่ก็ควรให้กำลังใจ ไม่ใช่เสริมทับให้เครียดขึ้น เพราะส่วนใหญ่ก็เครียดเองอยู่แล้ว ถ้าเราเสริมให้เครียด ตอนหลังก็จะเริ่มหนี พอเครียดแล้วเครียดซ้ำก็จะหนีจากมัน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ถ้าเรียนแพทย์จะศึกษาทางด้านไหน?
ปิงปอง - คงเป็นภูมิคุ้มกันเพราะเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ ลึกละเอียด สะใจ เวลาเซลล์สู้กันก็ลุ้นว่าฝ่ายไหนจะชนะ จินตนาการได้เยอะ อีกอย่างการตอบปัญหาทางแพทย์สุดท้ายจบลงที่ภูมิคุ้มกัน คนจะตายคือตำรวจ(ภูมิคุ้มกัน) แพ้ผู้ร้าย(เชื้อโรค) ไม่ใช่ว่ากระดูกหักแล้วคนตาย แต่กระดูกหักแล้วเกร็ดเลือดไม่ทำงาน หรือเลือดออกแล้วติดเชื้อแล้วแพ้ สุดท้ายก็ตาย
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ไม่อยากเรียนในสายงานเหมือนคุณพ่อเหรอ?
ปิงปอง - มันดูแข่งขันและใส่หน้ากากเข้าหากัน ไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะต้องหาทางให้ได้กำไรมากที่สุดและแข่งขันเพื่อให้ตัวเองชนะ ดูเป็นวิน-ลอส (win-loss) แต่ถ้าเป็นแพทย์ก็ต้องแข่งกับตัวเองและคนไข้ต้องหายด้วย วิน-วิน (win-win) ซึ่งน่าเรียนกว่า
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - กิจกรรมกับการเรียนช่วยเสริมกันอย่างไรบ้าง?
ปิงปอง - อ่านหนังสือของคุณวานิษา เรซ (หนูดี) เขาบอกว่าอัจฉริยะมี 8 ด้าน ทำอะไรก็ได้แล้วมันจะส่งเสริมกันไป-มา ถ้าเราเรียนได้ดีก็จะช่วยตัดสินใจได้บางเรื่อง หรือการไปเจอผู้คนก็ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ค่ายโอลิมปิก ค่ายเจเอสทีพีและการทำกิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
ปิงปอง - สังคมต่างกันนะฮะ ความคิดก็แตกต่างกัน การพูดจาก็ไม่เหมือนกัน การแต่งตัวก็ไม่เหมือนซึ่งเป็นของตายอยู่แล้ว แต่ว่าแต่ละคนก็แสดงออกบนพื้นฐานของความถูกต้องเหมือนกัน เช่นในค่ายโอลิมปิกเราก็มีมุขของเราที่คนอื่นอาจจะไม่ขำ เราเครียดด้วยกัน สนุกด้วยกัน ค่ายนี้การเรียนก็มาก่อน พอไปในลีดก็เป็นอีกแบบ ไม่มีเรื่องเรียนเข้ามาเกี่ยวข้องเหนื่อยทั้งกายและใจด้วยกัน เพื่อนก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่อาจจะทุ่มให้กิจกรรมมากกว่า
ส่วนค่ายเจเอสทีพีจะกว้างขึ้นกว่าโรงเรียน ได้เจอเด็กหลายแบบที่มีพื้นฐานครอบครัวไม่เหมือนกัน ความคิดก็ต่างกันเยอะ เราก็ต้องรู้จักสร้างบัญชีความรู้สึกที่ดีๆ ไม่ใช่เป็นลบ ไม่ใช่เราถูกเสมอหรือตามเขาตลอด
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - "บัญชีความรู้สึก" หมายถึงอะไร เคยใช้มาก่อนหรือเปล่า?
ปิงปอง - ใช้มาก่อน คุณแม่สอนว่าความรู้สึกจะมีบวก-มีลบนะ บวกนี่ทำง่ายแต่เสียแล้วเสียหมดเลย ส่วนลบก็ทำง่ายเหมือนกันแต่ทำแล้วเสียยาก คือถ้าเป็นลบแล้วทำให้กลับเป็นบวกยาก
อย่างวันหนึ่งเราคนที่พูดกับเราตั้งแต่แรกว่า "ตอแหล" หลังจากนั้นต่อให้เขาทำอะไรที่ดีๆ กับเราแล้วเราจะเชื่อเขาไหม ขณะที่เมื่อเราทำดีตลอดแต่พอเสียแล้วก็เสียเลย อย่างเราอาจจะช่วยคนๆ หนึ่งมาตลอด แต่วันหนึ่งเราโกรธเขาแล้วทวงบุญคุณเขา ที่ทำมาดีๆ ก็หายหมดเลย อาจจะติดลบด้วย
แม่สอนมาตั้งแต่ ป.2 ทำให้รู้สึกว่าสร้างบัญชีดีๆ ดีกว่า ถึงแม้อาจจะมีบัญชีลบๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ก็อย่าไปสนใจมากมาย
ทั้งนี้ปิงปองอาจทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทั้งศักยภาพทางสมองและทางกายแต่นอกเหนือไปจากการทำเพื่อตัวเองแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับการเผื่อแผ่ความรู้ไปยังคนอื่นๆ ด้วย โดยระหว่างช่วงเวลาใกล้จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษานี้เขาได้ใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งในการจัดติวให้กับรุ่นน้องเพื่อเตรียมตัวในการสอบโอลิมปิกวิชาการ
นับว่า Sci Celeb ผู้นี้เป็นแบบอย่างของผู้ปฏิบัติตัวเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและผู้อื่นได้อย่างลงตัว เป็นแบบอย่างที่ควรส่งเสริมและเยาวชนควรเอาอย่าง