xs
xsm
sm
md
lg

"ปานเทพ" นำทีมบุก สธ. จี้เบรกเวชปฏิบัติหลังถอด "ฟ้าทะลายโจร" ตีแผ่ร่าง กม. "กัญชา" ตั้งข้อสังสัยล็อกสเปก ผูกขาดทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปานเทพ" นำทีม "หมอธีระวัฒน์-รสนา" ยื่น สธ. ต้องนำ "กัญชา" เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข พร้อมเบรกเวชปฏิบัติโควิด หลังถอด "ฟ้าทะลายโจร" ออกจากการรักษา ตั้งข้อสงสัยล็อกสเปก ผูกขาดทางการแพทย์ กีดกันแพทย์แผนไทย-สมุนไพรไทย ทำคนไทยรักษาแพง

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต พร้อมด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ทบทวน 2 ประเด็น คือ การนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข และให้ระงับเวชปฏิบัติโรคโควิด 19 ที่มีการถอด "ฟ้าทะลายโจร" ออกจากแนวทางการรักษา

นายปานเทพกล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดโดยไม่มีเงื่อนไข จะนำไปสู่การล็อกสเปกให้แก่กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดไม่กี่คน เนื่องจากมีการกีดกันการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ที่เป็นกำลังหลักในการจ่ายน้ำมันกัญชา เพราะ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่า ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต คือ ปลูก การทำยา การจำหน่ายคือจ่ายให้คนไข้ ให้รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่เขียนเช่นนั้น มาตรา 32 ระบุเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น เปิดให้เกิดการตีความในการออกกฎหมายลำดับรองที่จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่มิใช่สารสกัดกัญชาหรือกัญชง


"น้ำมันเดชา น้ำมันเมตตา น้ำมันการุณย์ ก็สารสกัด คือการล็อกสเปกไม่ให้การแพทย์แผนไทยจ่ายใช่หรือไม่ นี่คือการกีดกันวิชาชีพทางการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านใช่หรือไม่" นายปานเทพกล่าวและว่า ขณะที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด ยังกำหนดให้เภสัชกรอยู่ในกระบวนการผลิต จำหน่ายตลอดเวลา ซึ่งผลิตหมายถึงปลูกด้วย แปลว่ากระบวนการเกษตรกรที่ปลูก คลินิกแผนไทย คลินิกแผนไทยประยุกต์ ที่เคยจ่ายได้เองโดยแพทย์ ต้องมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาใช่หรือไม่ ถ้าใช่คนทำได้คือโรงงานใหญ่ที่มีสายการผลิต และ รพ.เอกชนไม่กี่แห่ง เพาะ รพ.ภาครัฐส่วนใหญ่ไม่จ่าย นี่คือกระบวนการล็อกสเปกกลุ่มทุนผูกขาดทางการแพทย์ไม่กี่รายใช่หรือไม่

นายปานเทพกล่าวว่า ตนร่างประกาศกัญชาเป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไขที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ผูกขาดทางการแพทย์ ไม่มีการล็อกสเปก ผู้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ท่านจะกล้าให้หรือไม่ถ้าไม่มีการผูกขาดจริง ถือเป็นการวัดใจ ซึ่งรายละเอียดของร่างประกาศฯ คือ เรื่องการกำหนดเสรีทางการแพทย์ที่มีการกำหนดวิชาชีพต่างๆ ทั้งเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากคราวก่อนที่มายื่น สัตวแพทย์ขั้นหนึ่งด้วย เพราะมีการจ่ายให้หมาแมวเพื่อลดการเจ็บป่วย ต้องได้รับการคุ้มครอบทันทีว่าไม่เป็นยาเสพติด รวมถึงแก้ไขเรื่องให้แพทย์ทุกสาขา และทุกผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสาร THC เกิน 0.2% ซึ่ง อย.ต้องรับรองด้านหนึ่ง และหมอแผนปัจจุบันต้องรับผิดชอบในคนไข้ของตัวเอง และมีการใช้จริงให้ได้รับการคุ้มครองให้ใช้สารสกัดเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ล็อกสเปกอยู่กับวิชาชีพใด กลุ่มคนใด หรือโรคใด

"ถ้าไม่แก้ตามนี้แล้วยื่นไปโดยไม่มีการแก้ไขอย่างอื่น ประชาชนมีสิทธิสงสัยว่าทำทั้งหมดโดยเอาเยาวชน สังคมเป็นข้ออ้าง แท้จริงต้องการผูกขาดเอาไว้อยู่กับกลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่คนใช่หรือไม่" นายปานเทพกล่าว


นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนเรื่องฟ้าทะลายโจร มีข้อมูลชัดเจนจากวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 ม.ค.-เม.ย. 2564 ตีพิมพ์ว่า ฟ้าทะลายโจรลดภาวะปอดอักเสบระหว่างผู้ไม่ใช้ฟ้าทะลายโจร 14% ใช้ฟ้าทะลายโจรลดเหลือ 0.9% กรมการแพทย์แผนไทยฯ สรุปว่าให้ยาฟ้าทะลายโจรลดการเกิดปอดอักเสบได้ 94.3% ในช่วงที่เป็นสายพันธุ์เดลตาและยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เป็นยาที่ราคาถูก หาง่าย มีประสิทธิผลอย่างมหาศาล ซึ่งฟ้าทะลายโจรราคา 180 บาท ฟาวิพิราเวียร์ 4,800 บาท ต่างกัน 27 เท่าตัว หรือฟ้าทะลายโจรถูกกว่าฟาวิพิราเวียร์ 96% ที่ผ่านมา สธ.และยุติธรรมมีการรณรงค์ใช้ฟ้าทะลายโจร อย่างนายสมศักดิ์เป็น รมว.ยธ.ก็ให้มีการสำรองฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ดูแลผู้ต้องขัง

นายปานเทพกล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ วันที่ 4 มิ.ย. 2564 ก็กำหนดสารสกัดฟ้าทะลายโจร ใช้กับผู้ป่วยโควิดที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดอาการรุนแรง ผงฟ้าทะลายโจรก็ใช้ได้ แต่ผูกขาดกับแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่าย โดยเขียนว่าเงื่อนไขใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่มีคำว่าแผนไทย แผนไทยประยุกต์ ขณะที่สมาคมโรคติดเชื้อฯ ทำคำชี้แจงเตือนว่าให้ฟาวิพิราเวียร์กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยจะทำให้เชื้อดื้อยาแก้ปัญหาได้ยากในอนาคต ซึ่งแนวทางเวชปฏิบัติรักษาโควิด 19 ฉบับที่ 27 วันที่ 18 เม.ย. 2566 ฟ้าทะลายโจรยังอยู่ แนะนำใช้ในผู้ใหญ่และเด็ก แพทย์ใช้ดุลยพินิจในการใช้ แต่แนวเวชปฏิบัติฉบับวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ตัดฟ้าทะลายโจรออก ยาลำดับ 1 ในตารางคือเรมดิซิเวียร์ราคาเป็นหมื่น และฟาวิพิราเวียร์ยังอยู่ในท้ายตาราง นั่นคือไม่ให้หมอแผนปัจจุบันจ่ายฟ้าทะลายโจร ซึ่งบัญชียาหลักแห่งชาติก็ไม่ได้ให้แผนไทยจ่ายอยู่ในแล้วในโรคโควิด 19


"กัญชาและฟ้าทะลายโจรมาถึงวาระสำคัญว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีฟ้าทะลายโจรยาที่จะจ่ายให้คนไข้จะแพงขึ้นและนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำจดหมายขอ 3 เรื่องคือ 1.ขอให้หยุดหรือระงับแนวเวชปฏิบัติภายใต้คณะกรรมการโควิดฉบับวันที่ 5 มิ.ย. 2567 เอาไว้ก่อน เราได้ข่าวจากงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ นักวิจัยมาเปิดเผยว่านำงานวิจัยของเขาที่ใช้ช่วงเดลตามาใช้กับ่วงโอมิครอน ไปตัดฟ้าทะลายโจรออกจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คือมีปัญหาเกิดขึ้น มีกระบวนการล็อกสเปกหรือไม่ 2.ขอบันทึกถอดเทปรายงานการประชุมเหตุผลในการถอดฟ้าทะลายโจรออกแต่ยังคงฟาวิพิราเวียร์อยู่ และ 3.ของานวิจัยฉบับเต็มที่อ้างว่าเป็นเหตุในการถอดฟ้าทะลายโจร เพราะนักวิจัยอ้างว่าไม่เป็นอย่างนั้นและเป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้องด้วย" นายปานเทพกล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนในการรักษาและป้องกันเมื่อเริ่มต้นอาการน้อย ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศในคณะแพทย์ของประเทศไทยหลายฉบับ ขณะที่ทั่วโลกตื่นเต้นกับฟ้าทะลายโจร เพราะการออกฤทธิ์ไม่ได้สำหรับโควิดอย่างเดียว ไม่ว่าโควิดเปลี่ยนสายพันธุ์อย่างไรก็ออกฤทธิ์ได้ และไวรัสอื่นๆ ก็มีข้อมูลชัดเจนว่าสู้ได้ ทั้งไข้หวัดใหญ่ เริ่มมีข้อมูลเรื่องไข้หวัดนก และ RSV ลงในวารสารชั้นนำทางวิทยาศาสตร์ ประเทศจีนใช้ฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ช่วงระบาดของซาร์สเมื่อปี 2003 และจีนก็ใช้สมุนไพรจีนที่มีตัวยาแบบเดียวกันขึ้นบัญชีตำรับยาทางการแพทย์ควบกับเวชปฏิบัติแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีต้นทุนสูงมากเรื่องสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เริ่มมีคนศึกษาฟ้าทะลายโจรเป็นยาอายุวัฒนะ สามารถรักษาโรคเมตาบอลิก เบาหวาน ไขมัน เส้นเลือด อย่างตนเป็นหมอสมอง ก็พบข้อมูลเรื่องโรคสมองเสื่อม


"กัญชงไม่เสพติดไม่มีฤทธิ์ทางจิตประสาท แต่เงื่อนไขจะบรรจุให้กัญชงเป็นยาเสพติด ทั้งที่มีรายงานมากมายว่ากัญชงรักษาโควิดได้ ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องอ่าน เรื่องกัญชาก็พูดถึงแต่โทษกรใช้ผิด มีข้อมูลชัดเจนว่าการใช้ในเด็กไม่ได้ก่อให้เกิดสติปัญญาด้อยลง จากการตรวจเด็กฝาแฝดหลายร้อยคู่ตั้งแต่เด็กถึงเข้ามหาวิทยาลัย คนหนึ่งใช้อีกคนไม่ใช้ ปรากฏว่า เอนทรานซ์ไม่เข้าทั้งคู่ จึงไม่ได้ขึ้นกับกัญชาที่ใช้ วิธีที่ใช้ ซึ่งเป้นวิธีการเสพแบบสนุก และกัญชามีข้อมูลมหาศาลเรื่องสมองเสื่อม และสมุนไพรทั้งหมดนี้ลดการอักเสบได้ มีกลไกเฉพาะคือ บรอดสเปกตัม ที่ครอบคลุมได้ทุกอย่าง นี่คือที่เราต้องการ ไม่ใช่โรค ก มียา ก โรค ข ต้องมียา ข" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

น.ส.รสนากล่าวว่า ตอนเราเจอวิกฤตโควิดมีความรุนแรงมาก ไทยเป็นสุญญากาศของวัคซีนและยารักษา หมอแผนปัจจุบันต้องมาใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโควิด แต่วันนี้เมื่อโควิดเริ่มจางลง เชื้อเบาบางลง กลายเป็นว่าถอดฟ้าทะลายโจรออกไป เข้าหลักคำพังเพยว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าฟ้าทะลายโจร คณะกรรมการที่ออกหลักเกณฑ์เวชปฏิบัติหยิบงานวิจัยเล็กๆ 1-2 ชิ้น มาตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติ อาจเป็นอคติของฝ่ายวิชาการ จึงมาขอเอกสารถอดเทปการประชุมของคณะกรรมการเวชปฏิบัติโควิด อาศัยข้อมูลวิชาการอย่างไรในการถอดฟ้าทะลายโจรออกจากการรักษาโควิด ทั้งที่เป้นยาในอุดมคติ ที่ระงับเชื้อไม่ให้ขยายตัว ลดการอักเสบ นี่คือความมั่นคงทางยาของประเทศ ยามีราคาถูก ประชาชนเข้าถึง สธ.ควรสนับสนุนและทำให้เข้าถึงมากขึ้น


"สงสัยว่า สธ.กำลังต้องการทำอะไร ส่งภาระหนักๆ ให้ประชาชนเรื่องยาแพง กลุ่มทุนต่างๆ ผูกขาดยาได้ใช่หรือไม่ ขอให้ระงับการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากการรักษาโควิกดในเวชปฏิบัติฉบับล่าสุดไปก่อน และให้มีการถกเถียงทางวิชาการอย่างเต็มที่ก่อนที่จะมีการตัดฟ้าทะลายโจรออกไป มิเช่นนั้นเราจะตั้งคำถามว่าเพราะอะไร มีผลประโยชน์อะไรกับยานำเข้าอย่างฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ แม้จะผลิตได้โดยองค์การเภสัชกรรม แต่ต้องนำเข้าสารตั้งต้น ทั้งที่ฟ้าทะลายโจรอยู่ในประเทศมานาน ทุกคนรู้จัก สามารถใช้ได้ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน สธ.จะต้องพิจารณาตัวเอง และทำให้เรื่องนี้กลับเข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้อง อย่าให้อคติเรื่องวิชาการมาทำลายผลประโยชน์ประชาชน เราจะมาติดตามข้อมูลเรื่องนี้อีกในเวลาอันใกล้" น.ส.รสนากล่าว


นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. ในฐานะหัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สธ. กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กรณีฟ้าทะลายโจร กรมการแพทย์จะนำข้อมูลเอกสารที่ผู้ร้องขอเอกสาร โดยจะเร่งให้ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนเรื่องร่างประกาศกระทรวงฯ เรื่องกัญชาที่มีการเพิ่มเติมแก้ไขเข้ามานั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามสมควร และ 2.ในส่วนของตนจะพิจารณาตรวจสอบว่า ข้อเสนอขัดกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ เพราะศักดิ์กฎหมายไม่เท่ากัน จะไปขัดกับกฎหมายใหญ่ไม่ได้ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เมื่อระบุว่าเป็นยาเสพติด ก็ต้องเป็นยาเสพติด แต่กรณีที่ว่าต้องมีเงื่อนไข จะทำได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาข้อกฎหมายก่อน

รายละเอียด หนังสือฉบับที่ 1. อ.ปานเทพ ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ข้อเสนอใหม่ฉบับปรับปรุงแก้ไข

ที่ กพอ.1700/114 วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ปทุมธานึ

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567

เรื่อง ขอส่งเอกสารปรับปรุงแก้ไข ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ข้อเสนอใหม่

เรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. คือร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ข้อเสนอใหม่ ที่ปรับปรุงแก้ไขแล้ว

ตามที่ข้าพเจ้าได้นำส่งหนังสือถึงท่าน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 มีข้อความผิดพลาดคลาดเคลื่อนใน สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. คือร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้อเสนอใหม่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. ....ดังนี้

มีข้อความในสิ่งที่ส่งมาด้วย 1. จากเดิมข้อความ ข้อ 3 (ง) ที่มีคำผิดความว่า

“(ง) สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัด ที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ข) และ (ค) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol,THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก”

ขอแก้ไขเป็น

“(ง) สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ก) และ (ข) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol,THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก”

เพื่อให้ มีความหมายว่า แพทย์ทุกสาขาอาชีพที่มีกฎหมายรองรับและผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนตามกฏหมายแล้วย่อมต้องมีความปลอดภัย สามารถใช้และจ่ายยาสารสกัดกัญชาที่ปลูกในประเทศ แม้มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol,THC) เกินปริมาณร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนักได้โดยไม่เป็นยาเสพติด ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย

และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๒(๓) (ก) ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมมากขึ้นรวมถึงการใช้ช่อดอก ยาง หรือสารสกัดที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ขั้น๑ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

ทั้งนี้ ได้ส่งข้อเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงแก้ไขคำผิดมาแล้วตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. และขอกราบอภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมา ณ โอกาสนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต





รายละเอียด หนังสือฉบับที่ 2 อ.ปานเทพ หมอธีระวัฒน์ รสนา ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทวงสิทธิผู้ป่วยให้ได้รับยาฟ้าทะลายโจร

ที่ กอ.97/2567

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567

เรื่อง ขอรายงานการประชุมและผลการวิจัยในการถอดฟ้าทะลายโจรออกจาก แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 และระงับแนวทางแนวทางเวชปฏิบัติฯ ฉบับที่มีการตัดฟ้าทะลายโจรออก

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สิ่งที่ส่งมาด้วย
1. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567
2. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2566

ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่เนื้อหาในหัวข้อแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) CPG COVID-19 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 28 วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นั้น ได้มีการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากยารักษาโควิด-19 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ซึ่งแตกต่างจากฉบับก่อนหน้า คือฉบับปรับปรุงครั้งที่ 27 วันที่ 18 เมษายน 2566 ซึ่งยังมีฟ้าทะลายโจรสำหรับเป็นยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2.

อย่างไรก็ตามฟ้าทะลายโจรได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(นายอนุทิน ชาญวีรกุล)และปลัดกระทรวงสาธารณสุข(นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต)ในขณะนั้น ว่ายาฟ้าทะลายโจรสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้

โดยยังปรากฏรายงานสังเขปผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2564 ว่าการให้ยาฟ้าทะลายโจรสามารถลดโอกาสการเกิดปอดอักเสบได้ 94.3% ในสถานการณ์ที่คนไทยเกือบทั้งหมดยังไม่ได้รับวัคซีนใดๆ และมีราคาถูกกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ 27 เท่าตัว หรือ 96.25%

นอกจากนั้น ยังได้รับการยืนยันต่อมาในสรรพคุณของฟ้าทะลายโจร โดยมีประกาศคณะกรรมการพัฒนายาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ระบุให้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 “ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง” และต่อมาได้อยู่ในเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลังจากนั้นเป็นต้นมา

โดยในขณะที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ยืนยันเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำได้ผลดี และในเดือนกันยายน 2564 ยังได้ให้นโยบายต่อทุกเรือนจำว่าต้องสำรองฟ้าทะลายโจรให้เพียงพอต่อผู้ต้องขังด้วย อีกทั้งประชาชนจำนวนมากในประเทศไทยต่างรับรู้โดยทั่วไปแล้วว่าฟ้าทะลายโจรสามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้จริง

ฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง และมีความปลอดภัยสูง จึงเป็นยาที่มีความสำคัญเพราะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่เป็นภาระต่อระบบการสาธารณสุขในประเทศไทย เป็นสมุนไพรที่มีฐานะเป็นความมั่นคงทางยาที่มีส่วนช่วยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตโรคโควิด-19ได้

ในขณะเดียวกันยาอีกตัวหนึ่ง ชื่อ ฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร แต่มีราคาแพงกว่าฟ้าทะลายโจรอย่างมาก ปรากฏต่อมาว่าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในประเทศไทย ได้เคยรายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถช่วยลดอาการทางคลินิกได้เฉพาะใน 7 วันแรก แต่ “ไม่มีผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องสำคัญยิ่งกว่าอื่นๆ” เช่น อาการใน 14 วัน, อัตราการเสียชีวิต, อัตราความต้องการใช้ออกซิเจน, อัตราการใช้ห้อง ICU, ปริมาณไวรัส และแนะให้ปรับแนวทางเวชปฏิบัติใช้ยาอื่นแทน

นอกจากนั้นยังได้ปรากฏเป็นคำชี้แจงที่เผยแพร่ของผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ระบุสาระสำคัญว่า การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยโดยไม่จำเป็น จะเป็นแรงกดดันให้เชื้อดื้อต่อยาได้ง่ายขึ้นในอนาคตและอาจจะเป็นปัญหาในการรักษาตามมา


จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติโดยยังคงยาฟาวิพิราเวียร์เอาไว้ จึงเกิด ข้อสงสัยว่ามีเหตุผลใด และใช้งานวิจัยที่ถูกต้องหรือไม่ จึงขอให้ท่านได้สั่งการให้เปิดเผยและส่งมอบข้อมูลดังต่อไปนี้ เพื่อประโยชน์ต่อทางสาธารณะและทางวิชาการ ดังนี้

ประการแรก รายงานบันทึกรายงานการประชุมโดยละเอียด และผู้เกี่ยวข้องอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัด ฟ้าทะลายโจรออกจากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 28 วันที่ 5 มิถุนายน 2567 และเอกสารประกอบบันทึกรายงานการประชุม

ประการที่สอง งานวิจัยที่ใช้อ้างอิงเพื่อตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 28 วันที่ 5 มิถุนายน 2567

การตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวเวชปฏิบัติฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 นี้ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 จะไม่สามารถได้รับยาฟ้าทะลายโจรจากโรงพยาบาลได้อีกต่อไป อันเป็นปัญหาใหญ่ต่อระบบสาธารณสุข เพราะทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 สูญเสียโอกาสที่จะใช้ยาที่ราคาไม่แพง และลดภาวะปอดอักเสบได้ และยังทำให้ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเร่งด่วน จึงขอให้ท่านสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาสั่งการระงับแนวเวชปฏิบัติฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เสียก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นข้อยุติและทบทวนแนวเวชปฏิบัติดังกล่าว

และขอให้ท่านสั่งการให้จัดส่งรายงานการประชุมฯ และผลการวิจัยที่นำมาใช้ให้ข้าพเจ้าเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับเอกสารฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและประโยชน์สาธารณะ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาสั่งการและจัดส่งเอกสารข้างต้นโดยด่วน

ขอแสดงความนับถือ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
ในฐานะผู้แทนมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

นางสาวรสนา โตสิตระกูล
อดีตสมาชิกวุฒิสภา








กำลังโหลดความคิดเห็น