xs
xsm
sm
md
lg

"ปานเทพ" ยื่น สธ.ชงทางออกใหม่ "กัญชา" ให้เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข ลดขัดแย้งพรรคร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปานเทพ" ชงทางออกใหม่ "กัญชา" ถึง รมว.สธ. เขียนร่างประกาศให้เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข ให้ยกเว้นช่อดอก ยาง สารสกัด ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษา ผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย ปรับร้านกัญชาเป็นร้านจำหน่ายสมุนไพรตามใบสั่งยา หากใช้ผิดกฎหมายจัดเป็นยาเสพติดทันที ช่วยลดขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล หวั่นหากกำหนดช่อดอกเป็นยาเสพติด จะเกิดวิกฤตแบบปี 64 หมอไม่กล้าสั่งจ่าย

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมยาเสพคติดให้โทษเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการนำ "กัญชา" กลับไปเป็นยาเสพติด ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ทบทวนร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติด รวมถึงข้อเสนอทางออก "แนวทางใหม่" เพื่อแก้ปัญหา โดยมี นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สธ. เป็นผู้รับเรื่อง


นายปานเทพกล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ มีมติให้กัญชาเป็นยาเสพติดก็เคารพ เพราะทำตามกระบวนการ แต่มีความห่วงใยว่าการประกาศเอาช่อดอกกัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดอาจเกิดปัญหาตามมาได้ ขณะนี้สังคมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กัญชาก็อยากต้านไม่ให้กัญชาอยู่ในระบบและอาจไม่เข้าใจ ส่วนผู้ใช้ประโยชน์จากกัญชาเป็นทั้งผู้ป่วย ผู้มีผลิตภัณฑ์ สร้างงานสร้างรายได้อย่างมหาศาล สถานการณ์ตอนนี้มีความคิดแตกต่างกันในการเอากัญชาเป็นยาเสพติด เพราะผู้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้มีผลิตภัณฑ์ ผู้ทำตามกฎหมายทั้งหมด เกรงว่าเมื่อกฎหมายรุนแรงดั่งยาเสพติดหลายอย่างจะทำไม่ได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่องปี 2563-2564 ที่ช่อดอกกัญชา-กัญชงเป็นยาเสพติด แต่ 84% ของคนส่วนใหญ่ต้องใช้กัญชาใต้ดิน หมอไม่จ่ายยากัญชาให้คนไข้ และคนส่วนใหญ่ต้องกลายเป็นคนทำผิดกฎหมาย โดย 93% มีอาการดีขึ้นหรือดีขึ้นมากทั้งที่ใช้กัญชานอกระบบ

ขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับใช้อย่างกระจัดกระจายในเรื่องกัญชา ทำให้การบังคับใช้อาจไม่เข้มข้นพอ ไม่มีบทลงโทษมากพอเหมือนยาเสพติด จึงทำให้คนที่ห่วงใยในปัญหาที่แก้ไม่ได้ในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การจำหน่ายให้เด็กเยาวชน การลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตภัณฑืไม่ถูกกฎหมายหรือเปิดร้านกัญชาไม่ถูกตามกฎหมาย บทลงโทษไม่แรงพอและเห็นต่อหน้าต่อตา และกำลังคน สธ.อาจไม่มากพอเหมือนฝ่ายมั่นคงที่จะปราบปราม คนกลุ่มนี้จะเห็นว่ากัญชาควรเป็นยาเสพติด

ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดและ สสส.เรื่องการติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2563-2564 พบว่า ถ้าจะกลับไปที่เดิมคือช่อดอกกัญชาเป็นยาเสพติด แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา โดยแพทย์ รพ. คลินิกแผนปัจจุบันในสังกัด สธ. ผู้ใช้กัญชา 100% จ่ายแค่ 0.9% แพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุขจ่าย 4.7% แพทย์พื้นบ้านนอกระบบสาะารณสุข เริ่มเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ถูกกฎหมายจ่ายไป 24.3% ผลิตกันเอง แพทย์พื้นบ้านไม่มีทะเบียนแพทย์จ่าย 8% รวมทั้งหมดคนส่วนใหญ่ใช้กัญชาถูกกฎหมายแค่ 16% ใช้แบบไม่ถูกต้อง 84% ถ้ากลับไปที่เดิมผู้ป่วยก็จะเป็นอาชญากรและอาจจะมีมากกว่าเดิม


ถามว่าเพราะอะไร เพราะตอนนั้น สธ.แบ่งกัญชาออกเป็น 1.มีประโยชน์โดยตรง มีการศึกษาวิจัยชัดเจน มีโรคน้อยมากที่จ่ายได้ หมอจ่ายแค่ 1% 2.น่าจะได้ประโยชน์จ่ายอยู่ 3.8% ในโรคที่กำหนด และ 3.ที่อาจได้ประโยชน์ หมอไม่กล้าเสี่ยงเพราะต้องรับผิดชอบกรอกรายงานเยอะแยะ 18% คนเลยไปใช้นอกข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ 84% หมอถึงไม่จ่ายกัญชาเพราะข้อบ่งใช้แคบมาก แต่ชาวบ้านที่ใช้นอกระบบมีอาการดีขึ้นมาก 38% ดีขึ้น 54.8% รวม 2 กลุ่มนี้ 93% แปลว่าคนส่วนใหญ่มีสุขภาพดีขึ้นแม้จะไม่มีแพทย์จ่าย นี่คือวิถีที่แตกต่างจากมอร์ฟีน คือ ชาวบ้านใช้เป็น

การศึกษายังพบว่า มีการลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน 26% และเลิกยาแผนปัจจุบัน 31.1% รวมทั้งสองกลุ่ม 58% เราลดรายจ่ายานำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีใครศึกษาในการรายงานเพื่อเอากัญชาเป็นยาเสพติด

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ตอนนั้นเขียนชัดเรื่องวิชาชีพทางการแพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ถึงจ่ายยากัญชาได้เยอะ เพราะเขียนว่าผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต จำหน่ายในกรณีเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย เป็นหมอหลักที่จ่ายกัญชาที่หมอแผนปัจจุบันไม่จ่าย แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ยกเลิกมาตราดังกล่าวและเขียนใหม่กลายเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง เภสัชกรรม ทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น โดยไม่เขียนถึงแพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน เปิดช่องให้ใส่ก็ได้ ไม่ใส่ก็ได้ ใส่เงื่อนไขอะไรก็ได้ และผลที่ตามมาคือ จากเดิมเป็นกลุ่มแพทย์หลักที่จ่ายน้ำมันกัญชา แต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมา คือ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสามารถสั่งจ่ายได้ แต่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง แล้วต่อไปใครจะจ่าย


เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ประมวลกฎหมายยาเสพติดระบุไว้ในมาตรา 40 และ 95 คือ บทบาทเภสัชกรที่ไม่เหมือน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพิ่มขึ้นมาใหม่ว่า ถ้าเป็นผู้รับอนุยาตผลิตหรือจำหน่าย ต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการและดูแลให้เภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ และห้ามดำเนินการผลิตจำหน่ายกัญชาในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ควบคุมกิจการ มีดทษปรับหลักหมื่นหลักแสนบาท และคำว่าผลิต คำนิยามหมายถึงเพาะปลูกด้วย แปลว่าเกษตรกรต้องหาเภสัชกรมาอยู่ฟาร์มกัญชา ยกเว้นรายใหญ่ที่ทำได้

ตนเลยเสนอทางออกเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. ... ซึ่งตนร่างร่วมกับนายคมสัน โพธิ์คง อดีตรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยเป้นกฤษฎีกามา 13 ปี หลักการเป็นเช่นนี้ คือ จะให้ช่อดอก ยาง และสารสกัดของกัญชาเป็นยาเสพติดได้แบบมีเงื่อนไข บน 5 หลักการสำคัญ คือ

หลักการที่ 1 ให้ช่อดอกกัญชา ยาง และสารสกัด กลับไปเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไข คือ ผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษตามกฎหมายโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด และทำได้ทันทีไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568 ดังนั้นร้านกัญชาที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ ละเมิดจำหน่ายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชน เปิดร้านขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จะต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568

หลักการที่ 2 จะต้องเปิดเสรีทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพโดยไม่มีการกีดกัน แพทย์ทุกสาขาจะต้องมีเสรีภาพในการใช้กัญชา รับผิดชอบและติดตามผลของคนไข้เอง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงให้มีผลทันทีนับแต่วันประกาศ


หลักการที่ 3 ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพ จะต้องเข้าถึงยากัญชาได้ ร้านกัญชาจึงไม่ต้องปิดร้าน แต่จะต้องปรับตัวเป็นสถานที่จำหน่ายสมุนไพรควบคุมสำหรับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพโดยไม่มีการปิดกั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุมให้ได้ตามวัตถุประสงค์นี้ต่อไป

หลักการที่ 4 ผลิตภัณฑ์ที่มีช่อดอกกัญชา ยาง หรือสารสกัด หากทำตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง ยา และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องได้รับการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยแล้ว จะต้องได้รับการคุ้มครองทันทีว่าไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทันทีในวันออกประกาศ เป็นลักษณะข้อความเดียวกันกับ พ.ร.บ.พืชกระท่อม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใดที่ดำเนินการไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน

หลักการที่ 5 เมื่อวิกฤตของเวลากับปัญหาที่สังคมห่วงใย ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแบบมีเงื่อนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 แล้ว ย่อมต้องมีเวลาในการพิจารณาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนในเรื่องสิทธิ์ของประชาชนในการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเอง จึงควรตั้งคณะกรรมการศึกษาจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติทางวิชาการที่ยังขัดแย้งกันเพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขให้ได้ดีขึ้น ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2567 และให้ประชาชนปฏิบัติตามเงื่อนไขในวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือใช้เวลาดังกล่าวในการเร่งการตรา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรควบคู่กันต่อไป

จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขขึ้นมาใหม่ เป็นข้อเสนอต่อ รมว.สธ.ให้เสนอคณะกรรกมารควบคุมยาเสพติดฯ ทบทวนเป็นคู่เทียบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข


สำหรับสาระสำคัญคือ ให้ยาเสพติดให้โทษดังต่อไปนี้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีพืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย ส่วนกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกัน เฉพาะช่อดอก ยาง และ สารสกัด เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ

(ก) ซ่อดอก ยาง หรือสารสกัด ที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษา โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน เภสัชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนจีน ทำให้เป็นเสรีทางการแพทย์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ข้อกำหนดโดยคณะกรรมการอะไรอีกแล้ว ดุลยพินิจของแพทย์สำคัญที่สุด เพราะไม่มีโดสชัดเจนในการใช้กัญชา เนื่องจากคนในโลกนี้มีตัวรับกัญชาไม่เท่ากัน มาตรฐานคือเป็นการประกอบโรคศิลปะโดยแท้ ไม่ควรกำหนดโดยใคร กำหนดโดยแพทย์ผู้รักษาและรับผิดชอบ แล้วให้สภาวิชาชีพกำกับดูแลหรือลงโทษเมื่อทำผิด

(ข) ช่อดอก ยาง หรือสารสกัดที่เป็นวัตถุดิบหรือสารประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนําเข้า ส่งออก การขาย การโฆษณาซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หมายถึงผู้ประกอบเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ถ้าทำถูกกฎหมายแล้วต้องไม่ใช่ยาเสพติด และต้องคุ้มครองทันที ไม่ใช่รอกฎหมายรองต่อไป ถ้าทำแบบนี้ประกาศแบบนี้นักลงทุนจะอยู่ในประเทศไทย ความเชื่อมั่นจะกลับมาทันที ซึ่งข้อความนี้ก็อยู่ใน พ.ร.บ.พืชกระท่อม เช่นกัน ก็ต้องใช้ได้ในกัญชา

(ค) ช่อดอกและยาง ที่ได้มาจากการปลูกภายในประเทศของผู้ที่ได้รับอนุญาตและเป็นผู้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม ตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการเพทย์แผนไทย ซึ่งห้ามจำหน่ายให้เด็กและเยาวชน หากละเมิดจะถือว่าเป็นยาเสพติด ถ้าทำผิดก็ผิดทันที จึงต้องไปแก้เพิ่มเติม เป็นผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาทางการแพทย์เพิ่มเติม จะเปลี่ยนทั้งหมดจากร้านกัญชาเป็นร้านจำหน่ายสมุนไพรให้ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาทางการแพทย์

(ง) สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัด ที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ข) และ (ค) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol,THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ตรงนี้หมายความว่าพวกลักลอบนำเข้าจากร้านกัญชาจะถูกกวาดล้างทันทีในฐานะยาเสพติดให้โทษ นิเวศกัญชาทั้งหมดจะเปลี่ยน


"สรุปกฎหมายที่ร่างขึ้นมาแยกแยะการใช้ประโยชน์ของช่อดอก ยาง และสารสกัดจากกัญชา สิ่งใดใช้ประโยชน์ ถูกกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองทันที ไม่จัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษ สิ่งใดละเมิดกฎหมาย กระทำความผิดทั้งหลาย มีบทลงโทษและจับกุมตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ทดสอบแล้วพบว่า ผู้ประกอบการที่ใช้กัญชารับได้ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน คนเปิดร้านกัญชาก้รับได้ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้กัญชาเดินหน้าได้ ไม่ใช่เอาช่อดอกเป็นยาเสพติดเฉยๆ จะสร้างปัญหาที่เคยเกิดมาแล้ว คนใช้กัญชาก็อยู่ใต้ดิน ถูกจับกุมไม่ก็ถูกรีดไถ" นายปนเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวว่า หวังว่าประกาศฉบับใหม่จะถูกพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขมาช่วยกันคิดได้ หวังว่าจะไม่จบแค่ตรงนี้ แต่จะมีเวลามากพอที่เอาข้อเท็จและจริงของฝ่ายที่เห็นด้วยกับกัญชามาพิสูจน์ตามงานวิจัย บางเรื่องต้องวิจัยหาข้อเท็จจริงให้เป็นข้อยุติ ไม่ใช่ใช้โพลของคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา เราต้องหางานที่เป็นที่ยุติเพื่อกำหนดนโยบายที่ละเอียดอ่อนต่อไป ที่ดีที่สุดคือจัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงในท้ายที่สุด ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกเรื่องความห่วงใยเงื่อนไขเวลา เมื่อจะบังคับใช้ 1 ม.ค. 2568 แต่ตรงนี้ทำได้ดีกว่านั้นในหลายเรื่อง ก็น่าจะพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชนและผู้ประกอบการ ถ้ารัฐมนตรีเห็นชอบสามารถทำได้ เพราะเมื่อได้รับคำเสนอแนะจากคณะกรรมการยาเสพติดที่เป็นมติ ก็มีสิทธิจะถามเพิ่มเติมได้เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ หรือขอคู่เทียบสิ่งเหล่านี้แล้วพร้อมกับหนังสือตนและนำเสนอความเห็นมา ก็จะไม่ผิดสัจจะเรื่องเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด แต่เราขอให้เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข มองเห็นคนทุกกลุ่มให้มีพื้นที่ตามกฎหมายที่พึงมี

ถามว่าร่างประกาศฉบับนี้สามารถนำไปเสนอควบคู่กับร่างที่จะเข้าบอร์ด ป.ป.ส.ได้เลย หรือจะต้องนำไปรับฟังความเห็นก่อน นายปานเทพกล่าวว่า ร่างปัจจุบันผ่านประชาพิจารณ์ รัฐมนตรีมีสิทธิขอคำเสนอแนะเพิ่มเติมได้โดยการส่งกลับ โดยมีข้อท้วงติงจากตนที่เป็นร่างประกาศเหมือนกัน ก็ต้องพิจารณาว่าปรับปรุงอย่างนี้เห็นสมควรหรือไม่ ถ้าเห็นชอบก็ไปสู่การทำประชาพิจารณ์ เริ่มขั้นตอนทำประชาพิจารณ์ใหม่เปรียบเทียบ แล้วมาเสนอคณะกรรมการยาเสพติดฯ อีกครั้งเพื่อเห็นชอบฉบับไหนก็เสนอรัฐมนตรี ถ้าเห็นว่ายังมีข้อเสนอแนะไม่พอก็สอบถามเพิ่มเติมได้ ถ้าเห็นชอบก็เสนอบอร์ด ป.ป.ส.

"ผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นทางเลือกทางเดียวที่จะลดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง ด้วย 2 ข้อสำคัญ คือ 1.พรรคเพื่อไทยไม่เสียสัจจะที่จะเอากัญชาเป็นยาเสพติดเพียงแต่มีเงื่อนไขสำหรับผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย และ 2.พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เสียสิ่งที่ทำมาในเรื่องสมุนไพรควบคุม สามารถุต่อยอดได้ ใช้ประโยชน์ได้ และสร้างเศรษฐกิจมาแล้วไม่ถูกทำลายไป แต่ต้องมีการปรับตัว ภายใต้เงื่อนไขนี้รัฐบาลก็ไม่ต้องแตกทะเลาะกัน สามารถเดินหน้าได้ด้วยการถอยคนละก้าว ประชาชนได้รับประโยชน์ ไม่เดือดร้อนเพระากฎหมายคุ้มครองและพร้อมปรับตัว ทุกคนต้องถอยคนละก้าวเพื่อเดินหน้าได้ เช่น ปรับร้านกัญชาเป็นไปเพื่อใบสั่งยาของแพทย์ทุกสาขา ซึ่งเปิดช่องให้มีเสรีภาพ เช่นนี้คิดว่าประเทศจะเดินต่อได้และคิดว่าสังคมไทยรับได้ สิ่งที่ประโยชน์ให้เสรี ส่วนที่เป้นโทษควบคุมเหมือนยาเสพติด เราจะเดินด้วยกันได้" นายปานเทพกล่าว

ถามว่ากระบวนการนี้จะไม่ช้าไปกว่าเดิมใช่หรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า เงื่อนไขเวลาที่รัฐมนตรีกล่าวถึง คือ ห่วงกฎหมายระดับรองต้องเสร็จก่อนธ.ค. แต่บางเรื่องจะแก้ด้วยกฎหมายระดับรองไมได้ อย่างเรื่องต้องมีเสภชักรประจำ แต่ถ้าเราเดินหน้าแบบนี้รัฐมนตรีทบทวนได้ เพราะเป็นข้อเสนอแนะ รัฐมนตรีถามเพิ่มเติมได้ให้เกิดคู่เทียบ หวังว่าเวทีครั้งหลังถ้ามีให้รับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน


นายกองตรี ธนกฤตกล่าวว่า การร้องทุกข์ครั้งนี้จะเอามาสรุปแนวทางว่ามีข้อเสนออย่างไร นำเรียนรัฐมนตรีต่อไป ในกลุ่มอื่นที่ยังมีประเด็นที่คล้ายหรือไม่เหมือนกัน จติดต่ออาจารย์ปานเทพท่านก็ยินดี ส่วนที่ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล หากสะดวกเดินทางมาเราก็พร้อมรับเรื่อง เพื่อประมวลว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรในส่วนของคนที่สนับสนุนกัญชาไม่ให้เป็นยาเสพติด โดยตนจะนำเสนอรัฐมนตรีต่อไปว่าจะมีการทบทวนอย่างไร

รายละเอียดเนื้อหา “หนังสือฉบับที่ ๑” ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ระบุให้ช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง กลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕

ที่ กพอ.๑๗๐๐/๑๑๒ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เรื่อง ขอให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ พ.ศ. .......
เรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ พ.ศ. ..... เสนอโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗

๒. ข่าวผู้จัดการออนไลน์ หัวข้อ “ปานเทพ” แฉ ๕ ประเด็นบิดเบือนข้อมูลกัญชา ดึงกลับเป็น ยาเสพติด ไม่นําไปสู่การแก้ปัญหา, เผยแพร่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗

๓. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทาง การแพทย์ระยะที่สอง ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก), ๒๕๖๔ โดย ศ.ดร.พญ. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ ฉบับ เดือนเมษายน ๒๕๖๔

๔. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. ๒๕๖๗ ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗

ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ (๒)แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการระบุชื่อประเภทยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ โดยได้รวมถึงช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชงและยาง ดังที่ปรากฏเอกสารที่เผยแพร่ฉบับรับฟังความคิดเห็นแล้วนั้น ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.

อย่างไรก็ตามข้อเสนอในมติดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ด้วยเพราะมีผู้เสนอหนังสือต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดหลายฉบับ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฉบับดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์และประมวลผลให้เป็นข้อยุติในความจริงที่แตกต่างกันว่าสิ่งใดจริงและสิ่งใดเท็จกันแน่ โดยปล่อยให้มีการลงมติโดยใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการแต่ละคน

แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ข้อท้วงติงอันเป็นสาระสำคัญบางประการของกรรมการเสียงข้างน้อยก็ยังไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนถึงผลกระทบและการแก้ไขปัญหาอันอาจเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ประการแรก มีการเลือกใช้ข้อมูลของผู้ที่ต่อต้านกัญชาเป็นฐานข้อมูลหลัก ซึ่งอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีการเก็บข้อมูล และยังมีการตีความที่ผิดพลาดด้วยในการตัดสินใจ ดังตัวอย่างที่ข้าพเจ้าได้เขียนบทความเอาไว้เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ พบมีข้อมูลการบิดเบือนความจริงตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒. อย่างน้อย ๕ ประเด็น คือ

๑. ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้ฐานข้อมูลปัจจุบันผิดพลาดว่าผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นหลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด เพราะมีการนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการเกิดโรคระบาดโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นสถานการณ์ “ผิดปกติ”

๒. ไม่คำนึงถึงประเด็นผลกระทบกัญชาในการช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) โดยเฉพาะยาบ้า รวมถึงการลดการดื่มแอลกอฮอล์และลดการสูบบุหรี่ และไม่ได้คำนึงการเปรียบเทียบระหว่างข้อดีข้อเสียของการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อันเป็นสาระสำคัญของการตัดสินใจในนโยบายเรื่องกัญชา

๓. ไม่คำนึงถึงกรณีผู้ที่มีอาการยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ แต่แอบอ้างรายงานเท็จว่าใช้กัญชา โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการตรวจสารเสพติดจริง

๔. ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้กัญชาเพื่อลดยาจิตเวช หรือเป็นจิตเวชจึงหันมาใช้กัญชากันแน่

๕.ไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำของเด็กเยาวชนที่มาจากปัญหาด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องส่วนตัวจึงใช้กัญชาหรือไม่

ประเด็นดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องหาข้อเท็จจริงให้ปรากฏเสียก่อน การเลือกตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่มีการบิดเบือนหรือผิดพลาดย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่อาจสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนได้ จึงควรตั้งคณะกรรมการทางด้านวิชาการที่ร่วมกันดำเนินการสำรวจและวิจัยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเสียก่อน

ประการที่สอง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง เป็นยาเสพติดได้เคยทำมาแล้วภายใต้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ แต่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์

โดยปัญหาความจริงพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา หรือน้ำมันกัญชาให้กับผู้ป่วย ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนที่ได้ใบอนุญาตเป็นคลินิกกัญชาที่พร้อมจ่ายกัญชากลับไม่สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกกฎหมายได้ และภาครัฐที่มีน้ำมันกัญชาเหลือครึ่งหนึ่งก็ไม่ขายหรือผลิตขายให้กับคลินิกเอกชนโดยทั่วไปที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์กัญชา

โดยผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔) โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัยและคณะวิจัย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีการพัฒนาการให้ ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง เป็นยาเสพติดแต่ใช้ในทางการแพทย์ได้ พบว่า

มีประชาชนใช้นอกข้อบ่งใช้ในโรคและอาการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ ๘๔ มีการจ่ายยาในระบบอย่างถูกกฎหมายเพียงร้อยละ ๑๖ ในขณะที่ประชาชนนอกระบบอย่างผิดกฎหมายร้อยละ ๘๔ แต่ประชาชนกลับมีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก ร้อยละ ๙๓ และผู้ที่ใช้กัญชาสามารถลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้มากถึงร้อยละ ๕๘ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒.

สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาโดยส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นอาชญากร

ดังนั้นหากรัฐบาลดำเนินนโยบายแบบเดิม ที่ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติดแล้วคิดว่าจะใช้ทางการแพทย์ได้นั้น ก็อาจจะได้รับผลแบบเดิม คือประชาชนและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปัจจัยเพิ่มเติมที่จะได้กล่าวถึงต่อไปในประการต่อไป

ประการที่สาม ปัญหาข้อกฎหมายที่มีปัญหาการกีดกั้นวิชาชีพที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมสำหรับผู้ป่วย แต่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยกฎหมายลำดับรอง และควรแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดต่อไป

เนื่องด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน มีการปรับสาระสำคัญ แตกต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษที่ได้มีการยกเลิกไปโดยแต่เดิมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีความชัดเจนให้ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถจ่ายยากัญชา และปรุงยาเฉพาะรายได้

โดยผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔) โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัยและคณะวิจัย ได้ทำให้เห็นว่า กลุ่มแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน เป็น“กลุ่มแพทย์หลัก” ที่มีการจ่ายยาได้จำนวนมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึง น้ำมันกัญชาสูตรต่างๆ เช่น น้ำมันหมอเดชา น้ำมันเมตาโอสถ น้ำมันการุณย์โอสถ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มน้ำมันกัญชาซึ่งแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน จ่ายให้คนไข้แต่เดิมมาก่อนที่ภาครัฐจะประกาศยอมรับเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจ่ายให้คนไข้ได้

แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา ๓๒ กลับไม่ระบุให้ชัดถึงวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านให้มีความชัดเจน ดังที่เคยปรากฏตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ แต่กลับเลี่ยงใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น“ เปิดช่องทำให้เกิดการตีความหรือรอกฎหมายลำดับรองว่าจะหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านหรือไม่ อันเป็นช่องทางในการกีดกั้นวิชาชีพกลุ่มนี้ในเวลาต่อมาได้บัญญัติเอาไว้ว่า

“มาตรา ๓๒ การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด”

ปรากฏความจริงต่อมาว่า มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ “ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง” พ.ศ. ๒๕๖๗ ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ กลับไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้

อีกทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านให้สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ อีกด้วย ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๔.

โดยจากประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา ๓๒ ที่มีบทบัญญัติไม่กล่าวถึงแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน เมื่อพิจารณาไปพร้อมกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ “ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง” พ.ศ. ๒๕๖๗ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ ที่ไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้ การกระทำดังกล่าวของรัฐเช่นนี้ อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๕ ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นหากมีการนำช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด อาจทำให้เกิดอุปสรรคอันสำคัญจากการกีดกันทางวิชาชีพทำให้ “กลุ่มแพทย์หลัก” ที่เคยจ่ายยาน้ำมันกัญชาจะไม่สามารถจ่ายน้ำมันซึ่งอยู่ในรูปของสารสกัดกัญชากัญชงได้อีกต่อไป อันอาจทำให้สถานการณ์ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงกัญชาเลวร้ายยิ่งกว่าผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง ช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔

อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขโดยกฎหมายลำดับรองได้ จึงควรเร่งแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขคืนสิทธิให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ให้สามารถจ่ายกัญชารวมถึงสารสกัดกัญชากัญชงได้ดังเดิม และควรแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดมิให้มีการกีดกันวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านต่อไป

ประการที่สี่ ปัญหาข้อกฎหมายที่มีปัญหา “ความเสี่ยง” ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรืออาจผิดกฎหมายหากยกเว้นไม่ปฏิบัติตามโดยกฎหมายลำดับรอง

เนื่องด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๔ มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในบทบาทเพิ่มขึ้นของเภสัชกรในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ จนถึงขั้นอาจมีปัญหาที่ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือหากปฏิบัติได้ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ได้ยกเลิกไป แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาในประเด็นดังกล่าวอันเนื่องด้วยกระท่อมและกัญชาได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ไปเสียก่อนที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว

โดยปัญหาที่สำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ ในอำนาจหน้าที่ของเภสัชกรที่อาจกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญจนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายลำดับรองได้ คือมาตรา ๔๐ และ ๙๕
โดยในมาตรา ๔๐ บัญญัติว่า

“มาตรา ๔๐ ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง”

และมาตรา ๙๕ บัญญัติว่า

“มาตรา ๙๕ ห้ามผู้รับอนุญาตผู้ใดดำเนินการผลิตหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจำควบคุมกิจการ”

อย่างไรก็ตามคำว่า “ผลิต” ได้ปรากฏนิยามตามมาตรา ๑ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ ว่า

“ผลิต หมายถึง เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์”

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกษตรกรผู้ที่ปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง ย่อมต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา อันเป็นการฝืนธรรมชาติและความเป็นจริงในการดำเนินการ

ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง รวมถึง คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา กัญชง ซึ่งเดิมสามารถสั่งจ่ายยาสมุนไพรทุกชนิด ให้คนไข้ได้ด้วยแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ และเป็นกำลังสำคัญในการจ่ายยากัญชาให้คนไข้ ก็จะต้องจัดให้มีเภสัชกรซึ่งเป็นคนละวิชาชีพอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะปฏิบัติได้จริงในวิถีของวิชาชีพ

ทั้งนี้หากผู้ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนไม่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๑๕๐

บทบัญญัติดังกล่าวไม่สามารถเลี่ยงการมีเภสัชกรอยู่ประจำได้ เนื่องจากบัญญัติในระดับมาตรหลักในประมวลกฎหมายยาเสพติด เพิ่มความเสี่ยงทางกฎหมายในชั้นศาลหากฝืนเลี่ยงโดยการออกกฎหมายลำดับรอง

และหากปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเกษตรกรและคลินิกแพทย์แผนไทย และคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ไม่เอื้อต่อการจ่ายยากัญชายิ่งกว่าเดิม นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางวิชาชีพแล้ว ยังอาจสร้างภาระให้กับผู้ป่วยในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยต้องเลี่ยงไปใช้กัญชาหรือสารสกัดที่ผิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านส่งร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ พ.ศ. ....... ที่ให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ คืนกลับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพร้อมหนังสือฉบับนี้ เพื่อให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้พิจารณาทบทวนโดยตั้งอนุกรรมการซึ่งเป็นผู้มีความรู้และมีส่วนได้เสียเพื่อพิจารณาหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบด้าน และขอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดทบทวนมติและเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต














รายละเอียดเนื้อหา “หนังสือฉบับที่ ๒” ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง “ข้อเสนอใหม่”

ที่ กพอ.๑๗๐๐/๑๑๓ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เรื่อง ข้อเสนอใหม่

เรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

อ้างถึง ๑. หนังสือนําเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องขอให้ทบทวนประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ พ.ศ. ... โดย อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เลขที่ ๑๗๐๐/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.ข้อเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่

ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ (๒)แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการระบุชื่อโดยได้รวมถึงช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง และยาง ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ โดยคณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำหนังสือขอให้ท่านได้ทบทวนร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว

โดยสาระสำคัญของการเรียกร้องให้มีการทบทวนการประกาศให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ นั้น ด้วยเพราะมี ๔ ปัจจัยที่สำคัญคือ

๑. มีการเลือกใช้ข้อมูลของผู้ที่ต่อต้านกัญชาเป็นฐานข้อมูลหลักในการตัดสินใจให้ช่อดอกกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีการเก็บข้อมูลและการตีความที่ไม่ถูกต้อง

๒. อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์เหมือนในอดีต

๓. มีปัญหาข้อกฎหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยมีการกีดกั้น วิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่ให้จ่ายยาที่เป็นสารสกัดกัญชาและกัญชงซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมสำหรับผู้ป่วยได้

๔. ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายยาเสพติดเดิม โดยมีการะบุให้เภสัชกรต้องอยู่กับเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตในการปลูกกัญชาตลอดเวลาทำการ และรวมถึงต้องมีเภสัชกรอยู่ในคลินิกแพทย์แผนไทยหรือคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่จ่ายยากัญชาตลอดเวลาทำการด้วย อันเป็นการบั่นทอนการปลูกของเกษตรกรรายย่อย และปิดกั้นสถานพยาบาลให้มีความสามารถในการจำหน่ายกัญชาให้กับผู้ป่วยได้ยากยิ่งกว่าเดิม ตามอ้างถึง ๑.

อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยสถานการณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชง ได้กระจัดกระจายเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับทั้งในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและหลายมิติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรตรากฎหมายเป็นการเฉพาะในฉบับเดียว และแก้ปัญหาที่มีความหลากหลายมากกว่าที่จะกำหนดให้เป็นยาเสพติดอย่างเดียวหรือประยุกต์ใช้กฎหมายฉบับอื่นก็ยังไม่มีความเหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ที่ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ไม่สามารถจัดทำขึ้นสำเร็จได้เป็นเวลา ๒ ปีนับตั้งแต่การนำกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ได้ก่อให้เกิดปัญหาบทลงโทษที่ไม่รุนแรงพอต่อการกระทำความผิด และกำลังพลของกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นต่อผู้กระทำความผิด แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ได้ลงทุนโดยสุจริตก่อให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวาง
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จึงควรจะมีการแยกแยะ “วิธีการใช้” และพิจารณาในประเด็นเรื่องเงื่อนไข “เวลา” ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นจุดอ่อนต่อนโยบายกัญชา และยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าธุรกิจที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจควรจะต้องได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรอการประกาศกฎหมายลำดับรองที่ยังไม่แน่ชัดอีกด้วย

ในขณะเดียวกันต้องให้โอกาสผู้ประกอบการปรับตัวให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับต่อสังคมไทยและต่างประเทศมากขึ้น โดยมีกฎหมายที่สามารถกำกับดูแลและบังคับใช้ได้จริง และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเพียงพอ

ดังนั้น “การบังคับใช้” กฎหมายในปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยอาศัยประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘ เป็นสิ่งที่ช้าเกินไปในการแก้ไขปัญหาบางอย่างที่สังคมมีความเป็นห่วง ในขณะที่ “การสร้างความเชื่อมั่น” ต่อนักลงทุนไม่สามารถ “รอเวลา“ เพื่อตรากฎหมายลำดับรองได้เช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งประเทศไทยยังต้องการ “เวลา” ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับงานวิจัยเพื่อยุติข้อขัดแย้งในการใช้ประโยชน์และโทษของกัญชาในการพึ่งพาตัวเองของประชาชนอีกด้วย ที่ไม่สามารถผลีผลามตัดสิทธิประชาชนไปก่อนโดยไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริง

ในความเป็นจริงแล้ว การประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติด นอกจากจะมีปัญหาหลายด้านทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทางปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมหาศาลอีกด้วย จึงขอเสนอหลักการที่เป็น “ข้อเสนอใหม่” เพื่อให้นิเวศของกัญชายังคงเดินต่อไปได้และมีการปรับตัวให้มีความเหมาะสม โดยมีการแยกแยะดังนี้

หลักการที่ ๑ ให้ช่อดอกกัญชา ยาง และสารสกัด กลับไปเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไข คือผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษตามกฎหมายโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด และทำได้ทันทีไม่ต้องรอวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘

ดังนั้นร้านกัญชาที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศก็ดี การละเมิดจำหน่ายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชนก็ดี การเปิดร้านขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ดี จะต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดทันที โดยไม่ต้องรอวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘

หลักการที่ ๒ จะต้องเปิดเสรีทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพ แพทย์ทุกสาขาจะต้องมีเสรีภาพในการใช้กัญชา รับผิดชอบและติดตามผลของคนไข้เอง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงให้มีผลทันทีนับแต่วันประกาศ

หลักการที่ ๓ ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพ จะต้องได้เข้าถึงยากัญชาได้ ร้านกัญชาจึงไม่ต้องปิดร้าน แต่จะต้องปรับตัวเป็นสถานที่จำหน่ายสมุนไพรควบคุมสำหรับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพโดยไม่มีการปิดกั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุมให้ได้ตามวัตถุประสงค์นี้ต่อไป

หลักการที่ ๔ ผลิตภัณฑ์ที่มีช่อดอกกัญชา ยาง หรือสารสกัด หากทำตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง กฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องได้รับการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยแล้ว จะต้องได้รับการคุ้มครองทันทีว่าไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทันทีในวันออกประกาศ ซึ่งเป็นลักษณะข้อความเดียวกันกับ พระราชบัญญัติ พืชกระท่อม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใดที่ดำเนินการไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน


หลักการที่ ๕ เมื่อวิกฤติของเวลากับปัญหาที่สังคมห่วงใย ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแบบมีเงื่อนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗ แล้ว ย่อมต้องมีเวลาในการพิจารณาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนในเรื่องสิทธิ์ของประชาชนในการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเอง จึงควรตั้งคณะกรรมการศึกษาจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติทางวิชาการที่ยังขัดแย้งกันเพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขให้ได้ดีขึ้น ก่อนวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ และให้ประชาชนปฏิบัติตามเงื่อนไขในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗ (ซึ่งยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขเวลาเดิม) หรือใช้เวลาดังกล่าวในการเร่งการตราพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรควบคู่กันต่อไป

ทั้งนี้ได้แนบตัวอย่างร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ โดยอาศัยหลักการทั้ง ๕ มาแล้วตามสิ่งที่ส่ิ่งมาด้วย ๑. (ร่วมร่างโดย อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ อ.คมสัน โพธิ์คง) จึงขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเสนอใหม่นี้และยังสามารถปรับแก้ตามความเหมาะสมได้ เสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกอบการพิจารณาทบทวนแก้ไขการประกาศให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต








กำลังโหลดความคิดเห็น