xs
xsm
sm
md
lg

เบรก! กรมที่ดิน เคาะ 120 ไร่ อ.องครักษ์ ให้ราชทัณฑ์ สร้างเรือนจำ “พันล้าน” นครนายก แนะส่ง “กฤษฎีกา” ตีความที่ดินพลเมืองใช้ร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบรก! กรมที่ดิน เคาะที่ดิน 120 ไร่ “บ้านทุ่งคลอง 2” อ.องครักษ์ ให้กรมราชทัณฑ์ สร้างเรือนจำนครนายกแห่งใหม่ พ่วงศูนย์ราชการกระทรวงยุติธรรม ฝ่าย กม.มท. แนะส่ง “กฤษฎีกา” ตีความ กฎหมายหลายฉบับ ประเด็นเงื่อนไขการถอนสภาพที่ดิน ประเด็นราษฎรเลิกใช้ประโยชน์ที่ดิน ชี้ อาจต้องพิจารณา “ยกร่าง พ.ร.ก.ถอนสภาพที่ดิน” แก้ปัญหาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ก่อนให้หน่วยงานรัฐขึ้นทะเบียน

วันนี้ (16 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 ได้ตรวจพิจารณา ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยมีมติให้กรมที่ดิน (ทด.) ผู้เสนอ รับความเห็นและข้อสังเกต ไปพิจารณา

เป็นร่างประกาศฯ การจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวง การเมือง ใช้ประโยชนในราชการในท้องที่ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบแล้ว

คณะกรรมการ กม.มท. คณะ 2 มีความเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ตามที่กรมที่ดินชี้แจง และจากเอกสารหลักฐานการสอบสวน ประวัติความเป็นมาของที่ดินที่แนบมา ปรากฏว่า

“ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “บ้านทุ่งคลอง 2” ตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นย 0146 หมู่ที่ 3 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่”

ตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้ขอขึ้นทะเบียน เพื่อใช้เป็นที่ตั้ง เรือนจำจังหวัดนครนายกแห่งใหม่ และเป็นศูนย์ราชการของกระทรวงยุติธรรม

เดิมมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) กำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 ปัจจุบัน ราษฎรเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2521

ต่อมามีการปรับปรุง พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน เฉพาะที่ดินที่มีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น จึงมีการตรา พ.ร.ก.กำหนดเขตที่ดิน

ในท้องที่บางแห่งในอำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ อำเภอ เมืองนครนายก และอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2552 จึงเป็นกรณี ที่ราษฎรเลิกใช้ประโยชน์ที่ดิน

ภายหลังจาก พ.ร.ก.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 ใช้บังคับแล้ว

กรณีดังกล่าว “ย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" โดยผลของมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ เมื่อกรมที่ดิน ชี้แจง และมีความเห็นว่า หากราษฎรเลิกใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายหลังที่มี พ.ร.ก.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินขึ้นใช้บังคับแล้ว

ย่อมเข้าเงื่อนไขของการถอนสภาพที่ดิน โดยผลของมาตรา 26(1) แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาและตีความในเรื่องนี้เกิดความชัดเจน ประกอบกับประเด็นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ และยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในประเด็นนี้มาก่อน

จึงให้กรมที่ดิน หารือประเด็นดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาให้ความเห็น หรืออาจพิจารณาดำเนินการ จัดทำเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดิน

อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ในการจัดขึ้นทะเบียนที่ดินต่อไปก็ได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กม.มท. คณะ 2 แสดงความกังวล ในประเด็นกรณีที่ราษฎรเลิกใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน ภายหลังจาก พ.ร.ก.กำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ดังกล่าว มีผลใช้บังคับแล้ว

จะเข้าเงื่อนไขของการจัดขึ้นทะเบียนที่ดิน ที่กรมราชทัณฑ์ ขอขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ เห็นว่า เนื่องจากตามมาตรา 26(1) แห่ง พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ที่ดินที่จะถือว่า มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยผลของมาตรา 26 (1) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้นั้น

จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ราษฎรต้องมีการเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินในขณะที่มี พ.ร.ก. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินขึ้นใช้บังคับแล้วเท่านั้น

“หากปรากฏว่า ราษฎรได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินภายหลังจากที่มี พ.ร.ก.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินขึ้นใช้บังคับแล้ว ย่อมไม่เข้าเงื่อนไขของการถอนสภาพที่ดิน”

โดยผลของมาตรา 26(1) แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งถ้าหาก จะตีความว่า เมื่อมี พ.ร.ก.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ขึ้นใช้บังคับแล้ว

ต่อมาราษฎรได้เลิกใช้ประโยขน์ ในที่ดิน จึงถือว่ามีผลเป็นการถอนสภาพที่ดินโดยผลของมาตรา 26 (1) แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้

“ย่อมจะกลายเป็นว่า การถอนสภาพที่ดินดังกล่าว จะมีผลเมื่อใดย่อมขึ้นอยู่ กับข้อเท็จจริงที่ราษฎรเลิกใช้ประโยชน์แล้ว ซึ่งอาจทำให้ไม่ทราบระยะเวลาการถอนสภาพที่ดินที่ชัดเจน ว่าเริ่มมีการถอนสภาพที่ดินตั้งแต่เมื่อใด”

ซึ่งอาจเป็นการตีความที่ขัดกับมาตรา 26(1) แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว

มีรายงานว่า เมื่อปี 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนั้น อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างโครงการจ้างก่อสร้างเรือนจำจังหวัดนครนายก วงเงินงบประมาณ 1,326,678,000 บาท

มาใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ “บ้านทุ่งคลอง 2” หมู่ที่ 3 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จำนวนเนื้อที่ ประมาณ 120 ไร่

โดย นายสมศักด์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม และ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับกระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นชอบแล้ว

“หลายฝ่ายเห็นว่า สถานที่ก่อสร้างใหม่ มีความสะดวกในการฝากขังผู้ต้องขัง และยังใช้ประโยชน์ในการฝึกอาชีพด้านการเกษตรกรรมแก่ผู้ต้องขัง”

ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ อนุมัติให้ดำเนินการประกวดราคาจ้าง ก่อสร้างเรือนจำจังหวัดนครนายก พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ 1 แห่ง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

วงเงินงบประมาณเป็นเงิน 1,326,678,000 บาท มีราคากลางของรายการก่อสร้างฯ เป็นเงิน 1,189,507,000 บาท และได้กำหนดขายเอกสาร เมื่อวันที่ 23 เมษายน ถึง 17 พฤษภาคม 2562

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานตรวจสอบ ยธ.ในยุคนั้น ได้รับข้อร้องเรียนกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งร้องขอความเป็นธรรมการประกวดราคาจ้างก่อสร้างของกรมราชทัณฑ์

ว่า มีการล็อกสเปกในส่วนระบบงานเสริมความมั่นคงของโครงการก่อสร้างเรือนจำ 4 แห่ง โดยมี โครงการจ้างก่อสร้างเรือนจำจังหวัดนครนายก รวมอยู่ด้วย

ได้มีหนังสือขอให้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม สมัยนั้น ชี้แจงขั้นตอนการกำหนดทีโออาร์และการประมูล เพื่อตรวจสอบว่า มีการล็อกสเปกระบบควบคุมภายใน จำพวกกล้องวงจรปิดและระบบอุปกรณ์ภายใน

ตามที่บริษัทเอกชนยื่นขอความเป็นธรรมหรือไม่ หากพบความผิดปกติจริงอาจถึงต้องล้มเลิกโครงการ เปิดประมูลใหม่.


กำลังโหลดความคิดเห็น