xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เชิญชวนจับตา 23 ก.ค.ถ้าข้อเสนอใหม่เรื่องกัญชาถูกปัดตก แปลว่ามีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เชิญชวนประชาชนจับตา 23 ก.ค.รมว.สธ.นำร่างประกาศกัญชาเป็นยาเสพติดเสนอที่ประชุม ป.ป.ส. ถ้าข้อเสนอใหม่เรื่องการให้กัญชาเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไขถูกปฏิเสธ แสดงว่ามีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่

วันนี้(14 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ตั้งคำถามกรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะนำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการระบุชื่อยาเสพติด เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส.ในวันที่ 23 ก.ค.นี้ โดยข้อเสนอใหม่เรื่องการให้กัญชาเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไขถูกปฏิเสธ แสดงว่ามีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่

นายปานเทพ ระบุว่า กลุ่มทุนของบริษัทยากัญชาที่มีราคาแพงและจดสิทธิบัตรจากต่างประเทศ และกลุ่มทุนบริษัทยา และกลุ่มทุนกัญชาขนาดใหญ่ จะได้ประโยชน์ขนาดไหนถ้า….

1.แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน “ห้าม” จ่ายสารสกัดกัญชา หรือแม้แต่สารสกัดกัญชง หรือแม้แต่หมอแผนปัจจุบันจ่ายยากัญชาไม่ได้โดยสะดวก เพราะสถานพยาบาลทุกแห่งที่จ่ายกัญชาต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลา ทำให้คลินิกที่ไม่มีเภสัชกรจ่ายกัญชาทั่วประเทศต้องยุติการจ่ายยากัญชา หรือไม่ก็เสี่ยงทำผิดกฎหมายยาเสพติด

คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือ ยาแพงๆ ที่มีสิทธิบัตรยาข้ามชาติ หรือโรงงานขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานสูงทัดเทียมต่างชาติ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนแผนปัจจุบันขนาดใหญ่ที่มีเภสัชกรอยู่ประจำ (เพราะโรงพยาบาลภาครัฐส่วนใหญ่ก็จะไม่จ่ายกัญชาอยู่แล้ว)

2.เกษตรกรไทยปลูกกัญชาเพราะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาทำการเท่านั้น แปลว่าคงจะมีแต่กลุ่มทุนใหญ่ที่มีสายการปลูก และผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงที่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลา ทั้งการปลูกและการผลิต แปลว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้นเช่นกัน

3.ผู้ป่วยปลูกกัญชาเองไม่ได้ แต่ไม่มีใครจ่ายยาให้ เพราะหมอแผนปัจจุบันไม่จ่ายกัญชาให้ หรือหากจะจ่ายได้ ก็ต้องเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศที่มีสิทธิบัตรในราคาแพงๆ ที่มีผลประโยชน์ตอบแทนผูกขาดเฉพาะกลุ่มทุนทางการแพทย์

4.ร้านจำหน่ายกัญชาที่กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรแผนปัจจุบันอยู่ประจำการตลอดเวลา ก็เตรียมปิดกิจการได้ คงเหลือแต่รายใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์ในการจ้างเภสัชกรเท่านั้น

4 ประเด็นนี้กำลังจะเกิดขึ้น เพราะ “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข” ก่อนหน้านี้ มีลักษณะ “ล็อกสเปก” ผูกขาดให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ตามหลักฐานดังนี้

ประการแรก ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา 32 กลับไม่ระบุให้ชัดถึงวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านให้มีความชัดเจนดังที่เคยปรากฏตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 แต่กลับเลี่ยงใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น“

เปิดช่องทำให้เกิดการตีความหรือรอกฎหมายลำดับรองว่าจะหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านหรือไม่ อันเป็นช่องทางในการกีดกั้นวิชาชีพกลุ่มนี้ในเวลาต่อมาได้บัญญัติเอาไว้ว่า

“มาตรา 32 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด”

ปรากฏความจริงต่อมาว่า มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 “ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง” พ.ศ. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 เมษายน 2567 กลับไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้ ล็อกสเปกไปอีกชั้นหนึ่ง

อีกทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านให้สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกด้วย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านจึงไม่สามาถจ่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้

เหตุเพราะหมอเหล่านี้จะไม่จ่ายยานำเข้าจากต่างประเทศที่มีสิทธิบัตรราคาแพงๆ ใช่หรือไม่ เพราะหมอเหล่านี้กำลังจ่ายยากัญชาตามธรรมชาติที่อาจมีสรรพคุณไม่แพ้ยาต่างชาติ หรือที่ผลิตจากโรงงานใหญ่ๆในประเทศเพื่อให้หมอแผนปัจจุบันจ่าย ใช่หรือไม่?

ประการที่สอง ล็อกสเปกเพิ่มให้เภสัชกรอยู่ประจำ ในกิจการปลูก และคลินิกทั่วประเทศ เพื่อเอื้อโรงพยาบาลเอกชน และโรงงานขนาดใหญ่

ปัญหาที่สำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ในอำนาจหน้าที่ของเภสัชกรที่อาจกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญจนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายลำดับรองได้ คือมาตรา 40 และ 95

โดยในมาตรา 40 บัญญัติว่า
“มาตรา 40 ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง”

และมาตรา 95 บัญญัติว่า
“มาตรา 95 ห้ามผู้รับอนุญาตผู้ใดดำเนินการผลิตหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจำควบคุมกิจการ”

อย่างไรก็ตามคำว่า “ผลิต” ได้ปรากฏนิยามตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ว่า
“ผลิต หมายถึง เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์”

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกษตรกรผู้ที่ปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง ย่อมต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา อันเป็นการฝืนธรรมชาติและความเป็นจริงในการดำเนินการ

ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง รวมถึงคลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา กัญชง ซึ่งเดิมสามารถสั่งจ่ายยาสมุนไพรทุกชนิด ให้คนไข้ได้ด้วยแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ และเป็นกำลังสำคัญในการจ่ายยากัญชาให้คนไข้ ก็จะต้องจัดให้มีเภสัชกรซึ่งเป็นคนละวิชาชีพอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะปฏิบัติได้จริงในวิถีของวิชาชีพ

ด้วยเหตุผลนี้ผมได้ขอเสนอใหม่ เพื่อทดสอบความจริงใจว่า เขาต้องการเอื้อประโยชน์นายทุน หรือห่วงใยเยาวชน และสังคมจริงหรือไม่

ข้อเสนอที่ผมได้เสนอไปจึงเป็นการ “พิสูจน์ความจริงใจ” ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ต้องนำช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 กันแน่

เพราะข้อเสนอใหม่ ที่เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ผมเสนอนั้น ได้ตอบสนองปัญหาที่อ้างไว้บังหน้าว่าห่วงเยาวชน ห่วงสังคม ห่วงการนำเข้าจากต่างประเทศ ห่วงการบังคับใช้กฎหมาย ไปโดยข้อเสนอใหม่ที่บังคับใช้กฎหมาย “เร็วกว่า” ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดที่กำหนดให้เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2568 เสียอีก เพราะให้ดำเนินการทันที

ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้อเสนอใหม่ ที่ผมได้เสนอนั้น ได้มีหลักการให้ช่อดอกกัญชา ยาง และสารสกัด กลับไปเป็นยาเสพติด “อย่างมีเงื่อนไข”

คือผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษตามกฎหมายโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด และทำได้ทันทีไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568

ดังนั้นร้านกัญชาที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศก็ดี การละเมิดจำหน่ายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชนก็ดี การเปิดร้านขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ดี จะต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดทันที โดยไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568

ถ้าหมดข้ออ้างดังที่ได้พยามนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว ก็ควรจะเห็นชอบในเรื่องดังต่อไปนี้ “ถ้าไม่ได้รับใช้” กลุ่มทุนและฝ่ายการเมืองที่อยู่ “เหนือ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เพราะร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้อเสนอใหม่ จะต้องเปิดเสรีทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพ แพทย์ทุกสาขาจะต้องมีเสรีภาพในการใช้กัญชา รับผิดชอบและติดตามผลของคนไข้เอง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงให้มีผลทันทีนับแต่วันประกาศ

ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพ จะต้องได้เข้าถึงยากัญชาได้ ร้านกัญชาจึงไม่ต้องปิดร้าน แต่จะต้องปรับตัวเป็นสถานที่จำหน่ายสมุนไพรควบคุมสำหรับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพโดยไม่มีการปิดกั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุมให้ได้ตามวัตถุประสงค์นี้ต่อไป

ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใบกัญชา ช่อดอกกัญชา ยางกัญชา หรือสกัดหากดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว จะต้องไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามควรตระหนักว่า ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง (พ.ศ. 2563-2564) โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัย และคณะวิจัย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีการพัฒนาการให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง เป็นยาเสพติดแต่ใช้ในทางการแพทย์ได้ พบว่า

มีประชาชนใช้นอกข้อบ่งใช้ในโรคและอาการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 มีการจ่ายยาในระบบอย่างถูกกฎหมายเพียงร้อยละ 16 ในขณะที่ประชาชนนอกระบบอย่างผิดกฎหมายร้อยละ 84 แต่ประชาชนกลับมีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก ร้อยละ 93 และผู้ที่ใช้กัญชาสามารถลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้มากถึงร้อยละ 58

แปลว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาโดยส่วนใหญ่ใช้กัญชาเอง โดยแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้สั่งจ่าย จึงไม่มีวันรอแพทย์สั่งจ่ายอย่างเดียวได้ จึงควรคำนึงและตระหนักถึงสิทธิของประชาชนในการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองเป็นสำคัญด้วย

ไม่ใช่กวาดล้างประชาชนเหล่านี้ต้อนให้มาซื้อกัญชาแพงๆที่มีสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติหรือโรงงานขนาดใหญ่อย่างเดียว

ดังนั้นจึงควรตั้งคณะกรรมการศึกษาจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติทางวิชาการที่ยังขัดแย้งกันเพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขให้ได้ดีขึ้น ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2567 และให้ประชาชนปฏิบัติตามเงื่อนไขในวันที่ 1 มกราคม 2568 (ซึ่งยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขเวลาเดิม) หรือใช้เวลาดังกล่าวในการเร่งการตราพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรควบคู่กันต่อไปได้ด้วย

แต่ถ้าในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังคงนำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ส. และ คณะกรรมการ ป.ป.ส.จะยังคงลงมติเห็นชอบตาม ร่างเดิมโดยไม่สนใจเงื่อนไขเหล่านี้

ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้จับตาความจริงใจต่อมาได้เลยว่า เรื่องห่วงเยาวชน และสังคมเป็นเรื่องบังหน้าหรือไม่ และเรื่องรับใช้กลุ่มทุนบริษัทยาและโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลังเป็นเป้าหมายที่แท้จริงหรือไม่










ชมคลิป อ.ปานเทพ ยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เหตุที่ต้องทบทวนมติ ช่อดอกกัญชา ช่อดอกกันชงยาเสพติด

วันทึ่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข



ชมคลิป อ.ปานเทพ ยื่น “ข้อเสนอใหม่” ถึงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ ช่อดอกกัญชา ยาง และสารสกัด เป็นยาเสพติดได้แต่ต้องมีเงื่อนไขหลักการ 5 ข้อ คุ้มครองผู้ทำตามกฎหมาย ลงโทษผู้ทำผิดตามประมลกฎหมายยาเสพติด วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข




กำลังโหลดความคิดเห็น