xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เพิ่มยา "ไรโบไซคลิบ" รักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม เข้าแผนจัดซื้อปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด สปสช. เพิ่ม “ยาไรโบไซคลิบ” รักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม เข้าแผนจัดซื้อยาโครงการพิเศษ ปี 67 หลังต่อรองราคา ผู้ผลิตยอมลดราคาลง ประหยัดงบจัดซื้อรวมกับยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวลง 48.78 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติชอบเห็นชอบให้เพิ่มเติมรายการ “ยาไรโบไซคลิบ” (Ribociclib) เข้าไปอยู่ในแผนจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษ เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ซึ่งจะเป็นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น และมอบหมายให้ สปสช. ติดตามการเข้าถึงยาและการใช้ยาไรโบไซคลิบนี้อย่างใกล้ชิด และรายงานสถานการณ์ต่อบอร์ด สปสช. ผ่านคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดําเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนทุก 6 เดือน

“ตรงนี้จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามสามารถเข้าถึงยาไรโบไซคลิบได้ จากเดิมที่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองยังเข้าไม่ถึงยานี้ ด้วยเป็นยาใหม่ราคาแพง นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนที่สนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจร เพื่อยกระดับ 30 บาท Upgrade ภายใต้ Quick win ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงยาที่มีประสิทธิภาพในปีงบประมาณ 2567” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตามแผนการจัดซื้อยาของ สปสช. ในปีงบประมาณ 2567 ได้มีแผนที่จะจัดซื้อยานิโลตินิบ (nilotinib) ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว จำนวน 14,500 กล่อง รวมงบประมาณราว 301.63 ล้านบาท ต่อมาบริษัทที่จำหน่ายยามะเร็งดังกล่าวนี้ ได้นำเสนอยาไรโบไซคลิบที่เป็นยาใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเสนอปรับลดราคายานิโลตินิบ และยาไรโบไซคลิบ จากข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทำให้ สปสช. จัดซื้อยานิโลตินิบได้จำนวนเท่าเดิม ในราคาที่ลดลง ขณะเดียวกันได้จัดซื้อยาไรโบไซคลิบสำหรับดูแลผู้ป่วย 876 คน รวมจำนวน 25,404 กล่อง โดยเมื่อรวมมูลค่าการจัดซื้อยา 2 รายการนี้ เป็นงบประมาณ 252.84 ล้านบาท ซึ่งประหยัดงบประมาณจากวงเงินเดิมที่เตรียมจัดซื้อได้ 48.78 ล้านบาท

“ที่ประชุมบอร์ด สปสช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอนี้จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น ในขณะที่ใช้งบประมาณภายใต้วงเงินเดิมที่เตรียมไว้ จึงได้เห็นชอบให้ยาไรโบไซคลิบ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ ปรับแผนจัดซื้อยานิโลตินิบตามราคาที่บริษัทเสนอ และทยอยจัดซื้อยาไรโบไซคลิบ โดยให้วงเงินรวมของยา 2 รายการนี้ ไม่เกินวงเงินตามแผนจัดซื้อยานิโลตินิบเดิม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น