บอร์ด สปสช.เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ "วางแร่" รักษาเนื้องอกในตา ลดภาวะเสี่ยงมะเร็งตา ลดสูญเสียการมองเห็น รองรับ Quick win “มะเร็งครบวงจร” เพิ่มการเข้าถึงรักษา ชี้มีประสิทธิผล ค่าใช้จ่าย ระยะเวลาน้อยกว่าฉายรังสี มี รพ.รามาฯ รับส่งต่อรักษาเพียงแห่งเดียว คาดมีผู้ป่วย 16 รายต่อปี
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด สปสช. ว่า รัฐบาลมีนโยบายยกระดับ 30 บาท Upgrade มี “มะเร็งครบวงจร” เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาโดยเร็วก่อนสู่ระยะลุกลาม ซึ่งการวางแร่ถือเป็นบริการการแพทย์ขั้นสูงสุด และเป็นการสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจร วันนี้ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบขยายขอบเขตการรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการวางแร่ที่ตา (eye-plaque brachytherapy) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผล เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในลูกตามีภาวะเสี่ยงที่จะเป็น “โรคมะเร็งที่ตา” ได้ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย อุบัติการณ์การเกิดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 คนต่อ 1 ล้านประชากร การรักษาด้วยการวางแร่ที่ตาเป็นทางเลือกในการรักษาที่ได้ประโยชน์กับผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงระยะเริ่มแรกที่อาการไม่รุนแรงมาก หรือมีขนาดก้อนเนื้อไม่ใหญ่เกินไป ช่วยลดการสูญเสียดวงตาและการมองเห็น หลังการรักษาผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการวางแร่ที่ตา ปัจจุบันไทยมีเพียง รพ.รามาธิบดีแห่งเดียวที่ให้การรักษา เป็น รพ.ที่รับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.ทั่วประเทศ เป็นวิธีที่มีประสิทธิผล ค่ารักษามีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว มีความคุ้มค่าด้านประสิทธิผลต้นทุน เมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และมีระยะเวลารับบริการน้อยกว่า มติบอร์ด สปสช.ได้บรรจุบริการรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการวางแร่ที่ตา เป็นสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทองฯ ซึ่งวันนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการยกระดับ 30 บาท Upgrade
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการวางแร่เกิดจากข้อเสนอสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เป็นหัวข้อที่เสนอเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในปี 2562 ผ่านการศึกษาวิจัยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดย รศ.สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาและคณะ สนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. ซึ่งคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน ได้เห็นชอบแล้วและนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณา อย่างไรก็ตาม ด้วยโรคนี้มีผู้ป่วยไม่มาก หากคำนวณอัตราผู้ป่วยต่อประชากร คาดว่าในระบบจะมีผู้ป่วยประมาณ 16 รายต่อปี ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 84,800 บาทต่อราย เป็นงบประมาณ 1,356,800 บาทต่อปี โดยใช้งบประมาณจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ปีงบประมาณ 2567 ส่วนรายการบริการกรณีเฉพาะ พร้อมกันนี้ให้มีการกำกับติดตาม ประเมินผลการเข้าถึงบริการ และรายงานผลต่อคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุด และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อพัฒนาต่อไป