"ชลน่าน" คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส ใน 100 วันให้หญิงไทยอายุ 11 - 20 ปี ร่วมมือ สพฐ.ประเดิมฉีดกลุ่ม นร.หญิงที่ ร.ร.ไทรน้อย ส่วน นศ.และบุคคลทั่วไปเริ่ม ธ.ค.นี้ กระจายวัคซีน 1.4 ล้านโดสแล้ว ให้พื้นที่จัดสรรตามโควตา ฟุ้งลงทะเบียนถึง 1 ล้านคนแล้ว
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่โรงเรียนไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร Kick Off การรณรงค์สร้างภูมิ HPV นักเรียนไทยสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง "Save Our Children by 1 Million HPV Vaccines" ว่า ปีงบประมาณ 2567 สธ.ได้กำหนดนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยเฉพาะมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การฉีดวัคซีน HPV การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ อัลตราซาวนด์คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี และตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี ซี ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ เป็นต้น
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การขับเคลื่อน Quick Win 100 วันแรก จะมีการฉีดวัคซีน HPV ในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส เริ่มคิกออฟสำหรับนักเรียนหญิงในสถานศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มนักเรียน ให้มีภูมิคุ้มกัน ลดอาการป่วย และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในอนาคต สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปสามารถรับวัคซีน HPV ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่ ธ.ค. 2566 เพื่อป้องกันมะเร็งในสตรีไทย ตามสโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ “Women Power No Cancer” ทั้งนี้ ขอเชิญชวนหญิงไทยอายุตั้งแต่ 11 – 20 ปีทุกคน เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV และประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เข้ารับการตรวจคัดกรอง เช่น คัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองในประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป การตรวจปัสสาวะหรืออัลตราซาวนด์คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป หากพบว่าป่วยจะได้รับการรักษาทันท่วงที ช่วยลดการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกคนและปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลกรวมถึงไทย ทำให้ประชากรสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุข รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต้องทำในทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกันโรค ตรวจคัดกรอง พัฒนาวิธีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง สำหรับการจัดกิจกรรมคิกออฟวันนี้ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้บริการฉีดวัคซีน HPV สำหรับนักเรียนจำนวน 600 คนที่โรงเรียนไทรน้อย โดยบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ไทรน้อย พร้อมให้ความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูก สำหรับประชาชนทั่วไปจะมีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ในสตรีอายุ 30-60 ปี บริการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยการตรวจปัสสาวะ และตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ โดยใช้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน รวมถึงมีบริการเอกซเรย์ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองมะเร็งได้สะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นตัวอย่างการดำเนินงานและการนำร่องให้บริการในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจัดคิกออฟฉีดวัคซีน HPV ใน 12 เขตสุขภาพ อย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 จังหวัดด้วย
เมื่อถามถีงการกระจายวัคซีน HPV ทั่วประเทศและจัดสรรลงฉีดให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้เรามีวัคซีนมากถึง 1.4 แสนโดส มีการกระจายไปทั่วประเทศแล้ว ไม่มีปัญหา คนลงทะเบียนจะฉีดก็มีถึง 1 ล้านคนตามเป้าหมาย ซึ่งการจัดสรรลงไปในพื้นที่ก็จะอยู่ที่จังหวัดมีการประสานระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รพ. และสถานศึกษา ซึ่งไม่น่ามีปัญหา
ถามถึงกรณีฉีดครบ 1 ล้านโดสแล้วจะมีการขยายการฉีดเข็มสองและการฉีดในปีต่อๆ ไปด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า การฉีด 1 ล้านโดสเป็นการรณรงค์ หลังจากนี้ก็จะมีการฉีดอายุ 11-20 ปีเป็นสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ สธ.ในการหาวัคซีนมารองรับต่อไป
ถามถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 18-20 ปีนอกสถานศึกษา นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็จะเริ่มเดือน ธ.ค.ที่สถานพยาบาลตามความสมัครใจ โยให้พื้นที่กำหนดช่องทางในการรับวัคซีน