xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยเหตุเรียกคืนยาความดัน ปี 61 มีถึง 7 ตำรับ ปี 62 มี 142 รุ่น เหตุ "วัตถุดิบ" ปนเปื้อน "สารก่อมะเร็ง" เหมือนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยาความดัน 5 ตำรับยาที่ อย.เคยมีการเรียกคืนเมื่อปี 2561 เนื่องจากวัตถุดิบผลิตยาปนเปื้อนสารไนโตรซามีน (แฟ้มภาพ)
เรียกคืนยาความดันปนเปื้อนสารอาจก่อมะเร็ง ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนไทม์ไลน์ปี 61 อย.เคยเรียกคืนยาความดัน "วาลซาร์แทน" 5 ตำรับยา จาก 2 บริษัท หลังพบวัตถุดิบจากจีนปนเปื้อนสาร "ไนโตรซามีน" ต่อมาอีก 1 เดือน เรียกคืนอีก 2 ตำรับ หลังวัตถุดิบจากอินเดียปนเปื้อนเช่นกัน

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียกคืนยาลดความดันโลหิต "เออบีซาแทน" เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตมีการปนเปื้อนสาร AZBT ที่อาจก่อมะเร็ง จาก 5 ผู้ผลิตรวม 42 รุ่นการผลิต เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีการเรียกคืนยาลดความดันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยประกาศแจ้งเตือนต่อสาธารณชน ในการเรียกคืนยาความดันโลหิต "วาลซาร์แทน" ซึ่งเป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ โดยเรื่องเกิดขึ้นจากการที่บริษัทผลิตยาวาลซาร์แทนในยุโรป ตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง "ไนโตรซามีน" ในวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นในการผลิตยาวาลซาร์แทน ซึ่งสารตั้งต้นดังกล่าวผลิตโดยบริษัทในประเทศจีน จึงมีการระงับยาทันที และแจ้งเตือน อย.ทั่วโลกที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากบริษัทดังกล่าวมาผลิตยาวาลซาร์แทน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งเหตุการณ์ในปีนั้นมีบริษัทผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบที่มีการปนเปื้อน 2 บริษัท รวม 5 ตำรับยา ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งผู้ผลิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561

แม้จะปนเปื้อนแค่บางล็อต แต่ครั้งนั้น อย.ได้สั่งเรียกคืนยาทั้งหมด โดยให้ผู้ป่วยนำยาไปเปลี่ยนคืนที่ รพ. ซึ่งข้อมูลจากปี 2560 มียาความดันจาก 2 บริษัทนี้รวม 6 ล้านเม็ด และมีผู้ป่วยความดันโลหิตประมาณ 2 หมื่นคนทุกสิทธิการรักษาและทุก รพ.ทั้งรัฐและเอกชน ที่ใช้ยาตัวนี้ หลังจากเรียกเก็บคืนก็จะมีการทำลายยาต่อไป

ต่อมาวันที่ 26 ส.ค. 2561 อย.ได้มีการประกาศเรียกคืนยาวาลซาร์แทนอีก 2 ตำรับ หลัง อย.สหรัฐฯ แถลงเรียกคืน โดยพบวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาจากอินเดีย ตรวจสอบมีการปนเปื้อน N-Nitrosodimethylamine (NDMA) อยู่ในระดับมากเกินระดับที่ยอมรับได้ คล้ายกับกรณีวัตถุดิบผลิตยาจากจีนที่ปนเปื้อนก่อนหน้านี้

สำหรับข้อแนะนำถึงประชาชนในครั้งนั้นยังมีความคล้ายคลึงในครั้งนี้ โดยขอให้ผู้ป่วยอย่าเพิ่งหยุดยาเอง หากยังไม่สามารถมาเปลี่ยนยาได้ โดยขอให้รับประทานยานั้นไปก่อน เพราะยังไม่พบข้อมูลว่า ก่อให้เกิดมะเร็งในผู้ป่วย แต่หากหยุดยาเลยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและมีภาวะหัวใจร่วมด้วย หากหยุดยาเพียง 7-10 วันก็อาจจะหัวใจวายถึงแก่ชีวิตได้ จึงอยากให้กังวลเรื่องภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นจากการหยุดยามากกว่ากังวลเรื่องมะเร็ง ที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดและอาจต้องใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปี เพราะยานี้มีผลไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป โดยขอให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำปรึกษาและเปลี่ยนยา

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 มี.ค. 2562 อย.เรียกคืนยาความดัน "ลอซาร์แทน" อีก 2 ตำรับ รวม 142 รุ่นการผลิตหลังสหรัฐฯ และแคนาดา ได้เรียกคืนยา เนื่องจากพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบสารตั้งต้นผลิตยา ในกลุ่มไนโตรซามีน คือ NMBA เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น