สสส. เตือนคนรุ่นใหม่ “สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า” เสี่ยงมะเร็งช่องปาก พบคนไทยป่วยใหม่สูงลำดับ 6 เหตุทำลายเซลล์ช่องปาก บุหรี่ไฟฟ้าทำลายดีเอ็นเอเซลล์เยื่อบุช่องปาก 2.6 เท่า บุหรี่ทำลาย 2.2 เท่า ร่วม ยท.จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้สุขภาพป้องปาก ตรวจสุขภาพช่องปากฟรี
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “เรื่องของปาก” เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2566 มุ่งเน้นสื่อสารสาธารณะสร้างความเข้าใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบทางช่องปากจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ได้
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติปี 2566 สสส. และภาคีเครือข่าย ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ “ลด ละ เลิกสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า” เนื่องจากการมีสุขภาพช่องปากที่ดีนับเป็นส่วนสำคัญต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการปลอดโรค และการได้รับประทานอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และช่วยป้องกันจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย ก่อให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดส่วนอื่นตีบตัน โดยเฉพาะนิโคตินที่เป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด ก่อให้เกิดผลกระทบทางสมองด้วย
"การสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก ทำให้เกิดกลิ่นปาก เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพช่องปาก และก่อให้เกิดมะเร็งช่องปากได้ จากข้อมูลจากสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ปี 2566 ระบุว่า ไทยพบผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก สูงเป็นอันดับที่ 6 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด เนื่องจากบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด ทำให้เซลล์ในช่องปากผิดปกติ ความร้อนจากควันบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในช่องปาก ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคในช่องปากได้เช่นกัน โดยผลวิจัยคณะแพทยศาสตร์ ม.เซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย พบคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาพบดีเอ็นเอถูกทำลายเป็น 2.2 เท่า เมื่อเทียบกันคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่มาก่อน หากคนรุ่นใหม่สนใจเลิกสูบบุหรี่ติดต่อได้ที่ สายเลิกบุหรี่ 1600 ไม่เสียค่าใช้จ่าย" นพ.ไพโรจน์กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เปิดให้บริการตรวจสุขภาพช่องปากจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มศว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้กับประชาชน การแสดงความสามารถพิเศษด้านดนตรีของเครือข่ายเด็กและเยาวชนจากทั่วกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับคนรุ่นใหม่เชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม โดย ยท.มีจุดมุ่งเน้นสื่อสารสาธารณะสร้างความเข้าใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบทางช่องปากจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพช่องปาก ซึ่งนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมเชิงบวกและลดการเข้าถึงบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในอนาคต