กรมสุขภาพจิตเร่งดูแลจิตใจผู้บาดเจ็บเหตุยิงที่ "พารากอน" และครอบครัว ที่ รพ.จุฬาฯ จ่อลงพื้นที่ห้างดูแลจิตใจกลุ่มพนักงาน พร้อมให้ข้อมูลตำรวจหากต้องมีการประเมินจิตเวชเด็กชายก่อเหตุ ย้ำครอบครัว โรงเรียน สังคม ช่วยดูแลเด็กป้องกันเหตุรุนแรงได้ เน้นกีฬา ดนตรี หนังสือ สร้างทัศนคติบวกรักสงบ วอนงดส่งต่อภาพคลิป รับนานอาจเกิด PTSD แม้ไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ยิงกลางห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ว่า ขณะนี้ตนอยู่ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อมาเยี่ยมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงดังกล่าว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดจะได้รับการดูแลทั้งร่ายกายและจิตใจ รวมถึงการเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยแจ้งกับ รพ.ว่าหากมีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ เราก็พร้อมดูแลอย่างเต็มที่ มีทีม MCATT คอยดูแลสุขภาพจิตหลังเกิดความรุนแรงต่างๆ ซึ่งจะมีการรวบรวมตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจเพื่อดูแลต่อไป หลังจากนี้จะเดินทางไปที่ห้างดังกล่าว เพื่อเปิดพื้นที่ดูแลเรื่องจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พนักงานห้างร้าน คนทำงานในห้าง
ถามถึงกรณีเด็กชายผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ขาดยา ทำให้เกิดภาวะหลอนแล้วไปก่อความรุนแรง พญ.อัมพรกล่าวว่า ทราบว่าทางตำรวจออกมาให้ข้อมูล ซึ่งเด็กอยู่ในความดูแลของตำรวจและทีมจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงแจ้งให้ตำรวจทราบว่า หากมีประเด็นทางจิตเวชที่ต้องมีการประเมิน เพื่อช่วยเหลือและรักษา กรมฯ ได้เตรียมหน่วยงานรองรับไว้แล้ว พร้อมร่วมมือกับตำรวจให้ข้อมูล ทั้งความเจ็บป่วยหรือเหตุเกี่ยวข้องใดๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและการดูแล
ถามว่าตำรวจติดต่อมาขอข้อมูลผู้ป่วยจากกรมฯ หรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อ เนื่องจากเด็กชายรายนี้ไม่มีประวัติได้รับการดูแลจากกรมฯ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์มากกว่า อาจจะไม่ใช่สรุปว่าเด็กเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอะไรก็ตาม สังคมต้องตื่นตัวกับการป้องกันความรุนแรง ไม่ว่ารายนี้จะเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิตต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ว่ารายนี้จะขาดยาหรือไม่ ผู้ป่วยทุกคนต้องไม่ขาดยา ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ พร้อมได้รับความร่วมมือจากครอบครัว อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับประชาชนที่จะไปเจาะว่า เด็กรายนี้เป็นอย่างไร เพราะเป็นบทบาทของการดำเนินคดี หรือนักวิชาการที่จะเรียนรู้เพื่อนำมาป้องกันความรุนแรงทางสังคมต่อไป ส่วนสังคมต้องไม่สร้างสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เด็กชาชินกับความรุนแรง สังคมต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการตระหนักมากขึ้นอีกครั้ง
"ส่วนเรื่องการเข้าถึงอาวุธที่ร้ายแรงหรือความสนใจที่นำไปสู่ความรุนแรง จะต้องดูแลอย่างเข้มข้นใกล้ชิด หากทุกคนตระหนักและดูแลตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และสังคม เหตุความรุนแรงจะมีโอกาสถูกป้องกันได้มากขึ้น เมื่อเกิดเหตุแต่ละบุคคลจะสามารถป้องกันตัวเองจากเหตุร้าย โดยการควบคุมสติ และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาได้ทันท่วงที แต่ไม่ได้หมายความครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากเหตุใดเหตุหนึ่งเท่านั้น คงจะมีความกดดัน เกี่ยวข้องของหลายๆ เหตุปัจจัย ถ้าได้ร่วมกันทำทุกวิถีทางแล้ว น่าจะช่วยคลี่คลายสิ่งต่างๆได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม” พญ.อัมพรกล่าว
ถามถึงพฤติกรรมเลียนแบบก่อความรุนแรงช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น พญ.อัมพร กล่าวว่า วัยเด็กเรื่องการเลียนแบบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เนื่องจากเด็กอาจจะมีเรื่องของวิจารณญาณความเข้าใจ การควบคุมอารมณ์ ความคิดได้น้อยกว่าคนที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนวัยรุ่นแม้จะมีวิจารณญาณความคิดมากขึ้น แต่จุดอ่อนในเชิงอารมณ์ ความอ่อนไหวต่างๆ ก็มากกว่าไปด้วย ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความเข้าใจกับความละเอียดอ่อนทางด้านพัฒนาการของแต่ละคนด้วย หลักการทำให้เด็กอยู่ห่างไกลจากความรุนแรง ต้องหล่อหลอมตั้งแต่ความใกล้ชิดเด็ก ความใส่ใจ และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแต่ละช่วงเวลา แต่ละช่วงวัย การเลี้ยงดูที่ไม่ได้ปล่อยให้ความรุนแรงเป็นเครื่องแก้ปัญหาผิดๆ โดยเด็กต้องเรียนรู้การมีวินัยเชิงบวก กิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้เติบโตทั้งกีฬา ดนตรี หรือการอยู่กับเกมและเครื่องเล่นต่างๆ โดยเนื้อหารายละเอียดเครื่องเล่นหรือเกม หรือหนังสือที่เด็กอ่าน จะต้องทำให้เด็กมีทัศนคติเป็นบวกต่อการรักความสงบ รักความสุข เห็นอกเห็นใจมากกว่าชี้นำไปในเชิงของการถูกหล่อหลอมด้วยความก้าวร้าวรุนแรง หรือท่วมถ้นด้วยรายละเอียดของการใช้อาวุธรูปแบบต่างๆ
“จริงอยู่ที่มีธรรมชาติของเด็กบางคนสนใจเรื่องของความก้าวร้าว รุนแรง หรือเรื่องการต่อสู้ ใช้กำลัง เด็กหลายคนมีธรรมชาตินี้อยู่บ้าง แต่ผู้ปกครองหรือครอบครัวต้องระวังต่อจุดอ่อน จุดต้องระวังเหล่านี้ แล้วดึงไปสู่ความสนใจในทิศทางที่สร้างสรรค์ หรือเหมาะสมกว่า เช่น กีฬาหรือดนตรี” พญ.อัมพรกล่าว
ถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากที่มีการส่งต่อข้อมูล คลิปวิดีโอของเหตุการณ์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ พญ.อัมพร กล่าวว่า การส่งภาพ ข่าวสาร ที่มีรายละเอียดมากมายถึงแต่ละขั้นตอนของการทำร้ายหรือข้อมูลผู้ก่อเหตุหรือสภาพความสูญเสีย ผลเสียที่จะเกิดขึ้น คือ 1.คนที่รับข้อมูลข่าวสารโดยตรง มีข้อมูลชัดเจนว่าภาพที่สยดสยอง รายละเอียดข่าวที่สร้างความตระหนก ทำให้เกิดบาดแผลทางจิตกับคนรับสารได้ การรับข่าวและภาพเช่นนี้ซ้ำๆ มีรายงานวิจัยว่า ถ้ารับประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เสมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้น และเกิดภาวะทางจิตใจที่รุนแรง PTSD ได้ ทั้งที่ไม่ได้เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ แค่ดูข่าวแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เจ็บป่วยทางจิตใจ หรือมีภาวะซึมเศร้าและอื่นๆ ตามมาได้ การส่งสารลักษณะนี้เป็นอันตรายกับคนเสพ 2.เป็นการละเมิด ไม่ให้เกียรติผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และผู้เกี่ยวข้อง เพราะอยู่ในโลกออนไลน์ วนเวียนไม่รู้จบสิ้น และ 3.ไปเร้าผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจ ทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความชาชินหรือท้าทาย ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายขึ้น อันไหนลบได้ก็ขอให้ลบ ไม่ส่งต่อ