xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิต วอนอย่าแพร่ภาพ-คลิปเหตุยิงกลาง "พารากอน" เร่งส่งทีมดูแลจิตใจคลี่ปม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิต วอนอย่าแพร่ภาพ-คลิปเหตุยิงกลาง "พารากอน" กระทบผู้สูญเสีย เร่งจับมือ กทม.ส่งทีมดูแลใจคลี่ปมก่อเหตุ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุการณ์ยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อม ขณะเดียวกันอยากขอวิงวอนกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ คลิปวีดีโอ เหตุการณ์ความรุนแรง สภาพการบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต อาจจะทำให้เกิดภาพติดตาของผู้ที่ได้รับข่าวสาร โดยเฉพาะปัจจุบันภาพที่ส่งต่อสามารถเห็นได้อยู่ตลอดเวลา จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มญาติ ผู้สูญเสีย การเผยแพร่ภาพเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาเป็นการไม่ให้เกียรติผู้สูญเสีย ขอให้ทุกคนระมัดระวังไม่ส่งต่อถ้ามีการความรุนแรง และภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็กชาย ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุน้อยๆ หรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเสียใจ ที่ผู้อยู่ใกล้ชิดกับความรุนแรงมีอายุน้อยขนาดนี้ ถ้าพูดถึงโดยธรรมชาติของวัย แน่นอนว่าวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์หวือหวา มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย มีวุฒิภาวะจำกัดในการควบคุมอารมณ์ ถึงจะมีเหตุผลเรื่องของวัยหรือเหตุผลอื่นใด การลงมือถึงขั้นใช้อาวุธร้ายแรงทำร้ายชีวิตคน ถือว่าเป็นเหตุเกินกว่าที่สังคมจะรับได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญมากๆ คงต้องมีการวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงสาเหตุของการก่อเหตุครั้งนี้ คาดว่าจะมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้

"สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเด็กเล็กเข้าถึงอาวุธที่ร้ายแรงได้อย่างไร กลไกการป้องกันตรงนี้ ถือเป็นจุดอ่อนที่อันตรายอย่างมาก เป็นประเด็นแรกที่เราต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยง ไม่ให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการควบคุมอารมณ์ ผู้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทั้งหลาย เข้าถึงอาวุธร้ายแรงได้" พญ.อัมพร กล่าว

ถามว่าการที่เด็กหรือกลุ่มวัยรุ่นก่อความรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากการลอกเลียนแบบผ่านสื่อ หรือชีวิตอยู่กับความรุนแรงมาตลอดหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า การที่เด็กอยู่ในประสบการณ์มีการรับรู้ความรุนแรงโดยตรงต่อตัวเอง หรือการแตะสื่อซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นจากข่าว หรือกระทั่งสิ่งที่เป็นความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงอื่นๆ เมื่อผ่านการสัมผัสและรับรู้ไปนานๆ จะทำให้เกิดความชาชิน ซึมซับ แม้กระทั่งตัวเองยังไม่รู้ตัวว่าได้เผลอรับเอาความรุนแรงเข้าไป นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังสังคม ป้องกันไม่ให้มีข่าวภาพข่าวคลิปเหตุการณ์ หรือสื่อความบันเทิงที่ท่วมท้นด้วยความรุนแรงถูกเผยแพร่อย่างไร้ข้อจำกัด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนของการแสดงออกของเด็กและวัยรุ่นบิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นได้อย่างรุนแรงมาก

ถามต่อว่ากรมสุขภาพจิตจะเข้าไปดำเนินการอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า เครือข่ายสุขภาพจิตร่วมกับ กทม.จะทำงานร่วมกัน คอยติดตามผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ที่สูญเสีย เพื่อนๆ และญาติ รวมถึงผู้ก่อเหตุครอบครัวหรือว่าญาติ ก็จัดอยู่ในขายของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ลืมไม่ได้คือตัวผู้ก่อเหตุอะไรคือสาเหตุน้อมนำทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ และผลกระทบจากสิ่งที่ได้กระทำลงไปจะเกิดเป็นแผลอะไรต่อตัวเขาและคนรอบข้าง กรมสุขภาพจิตก็ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือและคลี่คลายทุกอย่างให้เร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น