กรมควบคุมโรคเผยไทยได้รับยารักษาฝีดาษวานรจาก WHO เพื่อวิจัย 100 คน กำหนดใช้ในกลุ่มผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมโดยมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ มีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อฉวยโอกาส มีปอดอักเสบร่วม แต่หากไม่มีความเสี่ยงจะใช้รักษาตามอาการ ร่วมยาต้านไวรัสเอชไอวี ยันไทยยังไม่มีการติดเชื้อร่วมบ้าน ยังเป็นการติดเชื้อจากสัมผัสแนบชิด
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ส่วนใหญ่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ว่า โรคฝีดาษวานร แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก และ สายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงของโรค ทำให้เสียชีวิตได้มากกว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรในไทยยังเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีความรุนแรงน้อย โอกาสเสียชีวิตจะน้อยกว่า แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์แอฟริกากลาง ส่วนการติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมกับเอชไอวีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่ได้รับยาต้านไวรัส สามารถควบคุมระดับภูมิคุ้มกันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรจะมีอาการของโรคฝีดาษคือ เป็นตุ่มหนอง ลักษณะคล้ายฝีเล็กๆ กระจายตามร่างกาย และ 2.กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี ที่ติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมาก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย จะทำให้ตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นกระจุกๆ มีจำนวนตุ่มฝีเยอะด้วย
“การเสียชีวิตอาจเกิดได้จากเชื้อเอชไอวี แต่ด้วยลักษณะที่ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วยทำให้อาการที่แสดงออกมาจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยหรือติดเชื้อเอชไอวีแต่ควบคุมได้ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเสียชีวิตจากเชื้อตัวไหน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย จะรักษาคู่กันไปด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี แต่เชื้อฝีดาษวานรยังไม่มียารักษาเฉพาะก็จะรักษาตามอาการ แต่ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังศึกษาการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรโดยเฉพาะชื่อว่า Tecovirimat หรือ TPOXX ที่มีเพียง 1 ตัวยาจากบริษัทผู้ผลิตเดียวเท่านั้น ซึ่งไทยได้รับยาดังกล่าวมาสำหรับ 100 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้และเก็บข้อมูลที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเกณฑ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรที่จะได้รับยา คือ มีการติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับภูมิคุ้มกันต่ำ มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉวยโอกาส ผู้ที่ปอดอักเสบร่วมด้วย โดยเป็นยารับประทาน ผู้ป่วย 1 คนจะกินเพียง 2 ครั้ง ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลการใช้จริง รวมถึงผลข้างเคียงจากการได้รับยา
ถามว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วม หรือติดเชื้อเอชไอวีที่ภูมิคุ้มกันสูง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องใช้ยา TPOXX หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไม่มีความเสี่ยง สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ซึ่งจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้วก็จะหายได้เอง
ถามต่อถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานรกับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ไทยยังไม่มีการติดเชื้อร่วมบ้าน ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัส หรืออยู่ร่วมบ้านกันแล้วมีเพศสัมพันธ์กัน โดยความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.สัมผัสแนบชิด เช่น มีกิจกรรมทางเพศ แม้จะสวมถุงยางอนามัย ก็ติดเชื้อได้ เพราะตุ่มหนองของผู้ป่วยอาจจะโดนผิว ทำให้เกิดการติดเชื้อ 2.สัมผัสใกล้ชิด เช่น นอนเตียงร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน การอยู่ใกล้กันหรือแค่จับมือกัน ความเสี่ยงจะลดลงมา และ 3.สัมผัสทางอ้อม เช่น ผู้ป่วยไปนอนโรงแรม แล้วพนักงานมาทำความสะอาดห้อง การกินเลี้ยงทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้มากจนแนบชิดกัน การนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกัน
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยาต้านเชื้อไวรัสฝีดาษวานร เดิมเคยมีการขึ้นทะเบียนในยุโรปเมื่อปี 2565 เพื่อใช้รักษาโรคฝีดาษคน (Small pox) แต่เมื่อพบโรคฝีดาษวานรก็ได้มีการนำใช้รักษา ปรากฎว่าได้ผลดี จึงมีการนำมาใช้กับฝีดาษวานร ซึ่ง WHO ได้ทำโครงการวิจัยยาตัวนี้อยู่ ประเทศไทยคือ 1 ในราวๆ 10 ประเทศ ที่ได้รับยาชนิดนี้มาใช้และเก็บข้อมูล