xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย กภ.วรวรรณ เอกบุตร นักกายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นภาวะการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังที่คดไปทางด้านข้างมากกว่า 10 องศา ส่งผลให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน มีลักษณะคล้ายตัว “C” หรือตัว “S” ซึ่งภาวะโรคกระดูกสันหลังคดอาจจะไม่แสดงอาการ พบได้ตั้งแต่วัยทารกถึงผู้ใหญ่ แต่ที่พบมากที่สุดคือช่วงวัยรุ่น เกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จากการวิจัยพบว่าวัยรุ่นมีภาวะกระดูกสันหลังคด 0.35 - 13% ซึ่งขึ้นกับมุมองศาในการเก็บข้อมูล โดยมักไม่แสดงอาการออกมาในระยะเริ่มต้น แต่ตรวจพบจากการที่ผู้ปกครองสังเกตเห็นเด็กเดินตัวเอียง ไหล่และสะโพกไม่เท่ากัน อีกทั้งเมื่อโตขึ้นจะปรากฏลักษณะความผิดปกติของร่างกายอย่างชัดเจน หากปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ทำให้ร่างกายเสียสมดุลการทรงตัว ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ส่งผลถึงเรื่องความสวยงาม สภาพทางสังคมและจิตใจ อีกทั้ง มีเพิ่มโอกาสเกิดภาวะปวดหลังเรื้อรังในอนาคตได้

โรคกระดูกสันหลังคด มักไม่ค่อยแสดงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและกระดูกสันหลังอย่างชัดเจน เด็กไม่มีอาการเจ็บหรือปวด โดยผู้ปกครองจะต้องสังเกตจากสรีระในร่างกายที่ผิดปกติไป เช่น เมื่อยืนตัวตรงไหล่ทั้งสองข้างจะสูง-ต่ำไม่เท่ากัน สะบักหรือกระดูกที่เป็นคล้าย ๆ ปีกมีการนูนตัวมากกว่าอีกด้านหนึ่ง สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้น หรือสูงกว่าอีกด้าน กระดูกซี่โครงมีระดับความสูงไม่เท่ากัน ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หน้าอกสองด้านไม่เท่ากัน สังเกตว่าใส่กระโปรงแล้วมีการบิดหมุน
ภาวะกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ภาวะกระดูกสันหลังคดแบบทราบสาเหตุ พบได้ร้อยละ 20 จากผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยเกิดจากเจริญเติบโตของกระดูกสันหลัง ระบบประสาท ระบบกระดูกหรือกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ มีโรคของกระดูกกล้ามเนื้อและระบบประสาทมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง เช่น ภาวะกระดูกสันหลังคดตั้งแต่แรกเกิด (Congenital Scoliosis) เป็นความผิดปกติจากพัฒนาการของทารกในครรภ์ ในการสร้างของกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด ภาวะกระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด (functional scoliosis) เป็นความผิดปกติตรงส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ปัญหาโรคของสะโพกที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง หรือกล้ามเนื้อหดเกร็งจากพฤติกรรมและท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน จนทำให้โครงสร้างและกล้ามเนื้อเกิดการปรับตัวในลักษณะผิด หากได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุก็จะสามารถแก้ปัญหากระดูกสันหลังคดได้ ภาวะกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของเอ็นกล้ามเนื้อระบบประสาท (Neuromuscular Scoliosis) พบในเด็กที่มีความผิดปกติของไขสันหลัง สมองและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สามารถรักษาสมดุลของลำตัวและกระดูกสันหลังได้ โรคกระดูกสันหลังคดชนิดนี้มักรุนแรงมากขึ้นเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงโรคทางพันธุกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายหลายระบบมาเข้ามาเกี่ยวข้อง
2. ภาวะกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) พบได้ถึงร้อยละ 80 จากผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด พบมากในกลุ่มอายุ 10-18 ปี (Adolescent idiopathic Scoliosis) เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น กระดูกจะเจริญเติบโต เด็กมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรเฝ้าระวังเนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่กระดูกสันหลังคดกลุ่มนี้จะมีมุมที่เพิ่มมากขึ้นได้เร็ว หากกระดูกสันหลังคดอยู่ที่มุมน้อยกว่า 20 องศาใช้การรักษาโดยการเฝ้าระวัง โดยเอ็กซ์เรย์ติดตามผลทุก 6 เดือน และแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม ทำกายภาพบำบัดเฝ้าติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของหลัง เพราะกระดูกสันหลังอาจคดมากขึ้นจนทำให้ร่างกายผิดปกติ ถ้าคดระหว่าง 30-40 องศา ในอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่เสื้อเกราะสำหรับปรับความคดของกระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใส่ 23 ชั่วโมงต่อวัน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อชะลออัตราการเพิ่มขององศา แต่ถ้าไม่สามารถชะลอมุมองศาได้ แพทย์อาจวินิจฉัยให้แก้ไขด้วยวิธีการผ่าตัด

ผลเสียของภาวะกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่น หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เด็กมีรูปร่างที่ผิดรูป ไม่สวยงาม เกิดความไม่มั่นใจในร่างกายของตนเอง เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือกระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัย หากกระดูกสันหลังมีความคดมากกว่า 60 จะทำให้ช่องว่างภายในทรวงอกลดน้อยลง ทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ มีอาการหอบ หายใจไม่สะดวก หากความคดเอียงมีมากกว่า 90 องศา จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระบบทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระบบไหลเวียนของโลหิต มีประสิทธิภาพลดลงได้ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรสังเกตร่างกายบุตรหลานของท่าน เนื่องจากภาวะกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่นมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน และเกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ ต้องอาศัยการสังเกต ตรวจคัดกรอง หากพบว่ามีภาวะกระดูกสันหลังคดควรรีบเข้ารับการรักษา หากได้รับการรักษาโดยถูกวิธีและในเวลาที่เหมาะสม จะสามารถชะลออัตราการเพิ่มของมุมองศาให้กลับมาใกล้เคียงการทรงท่าที่ปกติได้












กำลังโหลดความคิดเห็น