xs
xsm
sm
md
lg

คาดปีนี้รู้ผลวิจัยเบื้องต้น สมรรถภาพ "สูงอายุ" แต่ละช่วงวัย จับมือ พม.ดูแลถึงการเงิน-อาชีพ ลุยทำโฮมวอร์ดเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์คาดปีนี้รู้ผลเบื้องต้น ข้อมูลสมรรถภาพ "สูงอายุ" อีก 3-5 ปีชัดระดับประเทศ เดินหน้าคลินิกสูงอายุตรวจร่างกายองค์รวม ไม่เฉพาะรักษาโรคที่ป่วย ร่วม พม.ดูแลสวัสดิการ การเงินการคลัง รวมถึงอาชีพ หากร่างกายเสื่อมกว่าวัยควรเปลี่ยนงาน หรือมีงานเหมาะสมที่สูงอายุทำได้ พร้อมปรับรูปแบบสู่โฮมวอร์ดดูแลสูงอายุที่บ้าน

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำเกณฑ์การเป็น "ผู้สูงอายุ" ซึ่งจะพิจารณาจากศักยภาพของร่างกายนอกจากตัวเลขอายุ โดยแต่ละช่วงวัยร่างกายควรมีความเสื่อมเป็นอย่างไรหรือมีศักยภาพสามารถทำอะไรได้ ในงานประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์และวิทยาการผู้สูงวัย มหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุครั้งที่ 4 ว่า ปัญหาหลักของผู้สูงอายุของ คือ การหกล้มและสมองเสื่อม ปัจจุบันมีแต่ยิมของคนหนุ่มสาว เรากำลังทำยิมออกกำลังกายผู้สูงอายุ ต้องมียิมสมองอย่าให้สมองเสื่อม ยิมการทรงตัว เพราะหากล้มได้ง่ายก็เกิดกระดูกหักได้ง่าย เพราะผู้สุงอายุกระดูกเริ่มบางลง ดังนั้น เราจึงต้องดูให้รอบด้าน ทั้งสมองเสื่อม กล้ามเนื้อ การทรงตัว กระดูก และอาหารการกิน เพราะฟันผู้สูงอายุจะเหลือน้อย การกินอาหารไม่ครบ โอกาสทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารโดยไม่รู้ตัวได้

สำหรับปี 2566 เป็นปีสุขภาพผู้สูงวัยไทย รพ.ทุกแห่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.ของกรมการแพทย์ 33 แห่ง มีคลินิกผู้สูงอายุแล้ว โดยไม่ใช่แค่เปิดเป็นคลินิกรักษาโรคให้ผู้ป่วยสูงอายุเข้าถึงเร็วขึ้น และไม่ได้ตรวจแค่โรคที่เป็น แต่จะตรวจโรคอื่นๆ ด้วย เช่น มาด้วยเบาหวาน ก็อาจตรวจระบบสมอง ระบบกล้ามเนื้อ สายตา เราจะดูให้ครบวงจร แม้จะไม่เป็นโรคก็มาตรวจได้ ซึ่งการทำข้อมูลศักยภาพผู้สูงอายุนั้น สถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกำลังทำวิจัยอยู่ ซึ่งก็มีการเก็บข้อมูลจากการให้บริการคลินิกผู้สูงอายุด้วย เพื่อดูศักยภาพผู้สูงอายุ เพราะทุกคนพอสูงอายุแล้วก็ต้องเสื่อม แต่ทำอย่างไรไม่ให้เสื่อมเกินกว่าวัย ซึ่งบางคนที่เห็นอาจแก่ตามวัย แต่จริงๆ อาจแก่เกินวัย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีอะไรเป็นบรรทัดฐาน ก็ต้องทำมาตรฐานตรงนี้ ถ้ารู้ก่อนจะได้ป้องกันไม่ให้เสื่อมเร็ว


"ตอนนี้กำลังให้นักวิชาการแต่ละมหาวิทยาลัยมาคิดด้วยว่าแต่ละช่วงอายุควรจะทำอะไรได้บ้าง มีศักยภาพทำอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นอายุเลยอาจจะลำบาก แล้วเอาแต่ละช่วงอายุมาทำเป็นสถิติว่าคนอายุนี้ควรทำอย่างนี้ได้ ถ้าทำไม่ได้แปลว่าเสื่อมเร็วกว่าวัย ก็ต้องป้องกันไม่ให้เสื่อมเร็วกว่านี้ คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ แต่เมื่อได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งต้องทำการศึกษาภาพใหญ่ของประเทศอีก คาดว่าใช้เวลา 3-5 ปี" นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า อีกอย่างคือ ต้องดูเรื่องการเงินการคลังผู้สูงอายุด้วย ตั้งแต่ต้นทั้งการใช้จ่าย เราเชิญอาจารย์หลายท่าน ด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุควรจะมีที่พักลักษณะอย่างไร ไม่ควรจะทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียว ซึ่งงานมหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุวันที่ 7-9 ส.ค.นี้ ก็เอาวิชาการเรื่องนี้มาใส่ เชิญมาเลเซียและสิงคโปร์มาร่วมด้วย ประสบการณ์ดูแลผู้สุงอายุเป็นอย่างไร อย่างเรื่องการเงินการคลังก็รวบรวมข้อมูลว่า มีกองทุนอะไรต่างๆ มารองรับ อยู่ที่ไหนบ้าง หรืออาชีพของผู้สูงอายุอะไรที่รองรับ ซึ่งก็จะมีกรมกิจการผู้สูงอายุมาร่วมทำงาน บางเรื่องก็ผลักดันท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดมากที่สุดเข้าไปดูแล ส่วนงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเรากำลังทำวิจัยให้เกิดความเหมาะสม อย่างที่เรามีการตรวจความแข็งแรงกล้ามเนื้อ หากกล้ามเนื้ออ่อนลงแล้ว ความจำเริ่มเสื่อม ก็ควรต้องเปลี่ยน ถ้าประเมินตรงนี้ได้บริษัทก็จะได้สามารถเปลี่ยนงานได้ รองรับต่อไปผู้สูงอายุเกษียณมาแล้วไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเฉยๆ ก็จะมีงานที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ทุกวันนี้เราไม่รู้เหมาะสมตัวเองหรือไม่ บางครั้งทำงานจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุแล้ว เกิดความสูญเสียเสียหายถึงค่อยมาเจอ นอกจากนี้ กำลังทำโฮมวอร์ดและเทเลเมดิซีน เพราะผู้สูงอายุป่วยแล้วไม่อยากมา รพ. อยากนอนอยู่บ้าน ขาดความเชื่อมั่นจะดูแลได้ดีหรือไม่ ไม่ยอมบอกคนที่บ้านว่าป่วย ก็จะมีเทเลเมดพูดกับหมอได้ตลอดเวลา สปสช.ก็เห็นด้วยการทำโฮมวอร์ด ซึ่งจะเป็นเรื่องต่อไปที่เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น