xs
xsm
sm
md
lg

2 ปี "มะเร็งรักษาทุกที่" ยังมีจุดอ่อน พบผู้ป่วยกระจุก รพ.ใหญ่ ติดขัดเบิกจ่ายหลายรายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถก 2 ปี "มะเร็งรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงสะดวกมากขึ้น ลดรอคอย เผยจุดอ่อนควรแก้ พบผู้ป่วยกระจุกตัวตาม รพ.ใหญ่ โรงเรียนแพทย์ ติดขัดเบิกจ่าย ทั้งการดูแลผลข้างเคียงการรักษา และโรคร่วมอื่นที่มาพร้อมกัน ห่วงเปลี่ยนตัวพยาบาลประสานงานไปมา ทำระบบพังจนต้องกลับไปเอาใบส่งตัว

นพ.ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานเสวนา “2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) คืออย่าให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากการส่งต่อ ยิ่งคนที่ไม่มีรถส่วนตัว เวลามา รพ.ต้องเหมารถมาไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาทต่อครั้ง หลังจากมีโครงการนี้ก็เปลี่ยนจากระบบใบส่งตัวมาเป็นระบบ cancer nurse coordinator คือให้ รพ.ติดต่อระหว่างกันเอง ไม่เป็นภาระของคนไข้หรือญาติอีกต่อไป ส่งผลดีต่อ รพ.โดยเฉพาะในภูมิภาค เพราะเดิมทีถ้าส่งตัวผู้ป่วยไป รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ต้นทางจะถูกตัดเงินจากงบรวมสำหรับรักษา แต่ปัจจุบันหน่วยบริการไหนรักษา หน่วยบริการนั้นก็เรียกเก็บเงินเอง ไม่ต้องมาเรียกเก็บจากงบค่ารักษารวมของทั้งเขตอีก


แต่ระบบ cancer nurse coordinator ยังมีจุดอ่อนคือ พยาบาลที่เป็นผู้ประสานงานมีการเปลี่ยนตัวไปมา อยากฝาก สปสช.ดูระบบนี้ให้ดี ถ้าระบบนี้พัง คนไข้ก็ต้องกลับมาเอาใบส่งตัว รวมทั้งเรื่องการลงทะเบียน แม้ในระบบ e-Claim จะมีข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ระบบไม่ควรเริ่มที่ e-Claim แต่เริ่มที่การลงทะเบียน เพราะเมื่อ รพ.เบิกเงินจาก e-Claim แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียน ทำให้เห็นแต่ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เห็นสถานการณ์ภาพรวมของผู้ป่วยทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร

อีกประเด็นคือเรื่องการเบิกจ่าย คนไข้ต้องได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดก่อน แต่บางครั้งแพทย์แค่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แต่เมื่อลงทะเบียน ฝ่ายทะเบียนอาจดึงเข้าไปในระบบ Cancer Anywhere ทั้งที่อาจไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งก็ได้ ทำให้เกิดการเบิกเงินเกินกว่าที่ควรจะเป็น และที่พบคือบาง รพ.ไม่เคยเบิกเงินจากระบบ Cancer Anywhere เลย เพราะผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายไม่เข้าใจ ดังนั้น ถ้าพบ รพ.ไหนที่มีตัวเลขต่ำ สปสช.เขต ต้องเข้าไปช่วยดู


ด้าน นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รอง ผอ.ด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ประโยชน์ของนโยบายนี้คือ เวลามีคนไข้ต่างภูมิลำเนามารักษาที่สถาบันมะเร็งฯ เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วต้องแนะนำให้คนไข้กลับไปขอใบส่งตัวจาก รพ.ต้นทางก่อน ทำให้เข้าถึงการรักษาช้า แต่เมื่อมีนโยบายนี้ทำให้รักษาต่อเนื่องได้เลยไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว แต่การเปลี่ยนจ่ายมาเป็น central reimbursement แบบ fee schedule ทำให้นอกเหนือจากรายการ fee schedule สปสช.จะไม่จ่าย อยากสะท้อนว่ามีหลายรายการที่ รพ.ยังติดขัดการในการเบิกจ่ายอยู่

ด้าน ผศ.พญ.จารุวรรณ เอกวัลลภ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังมีจุดหลายจุดที่น่าจะต้องพัฒนา เช่น การมีนโยบายนี้ทำให้คนไข้เข้ามาพบแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ใน กทม.ได้เร็วขึ้น แต่หลายครั้งพบว่าในภูมิลำเนาที่คนไข้อาศัยอยู่ก็มีศูนย์มะเร็ง มีหน่วยรังสีรักษาหรือแพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาสำหรับการรักษาด้วยยาต่อเนื่อง พอแนะนำให้กลับไปรับบริการยาได้ที่เขตนั้นๆ ก็มีคนไข้ส่วนหนึ่งไม่ยอมกลับ ดังนั้น สปสช. คงต้องมีกลไกหรือประชาสัมพันธ์ให้คนไข้เข้าใจมากขึ้น


ต่อมาเรื่องการเบิกต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แต่หลายครั้งคนไข้อาจมีปัญหาสุขภาพอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษามะเร็ง เช่น คนไข้เบาหวานเมื่อให้ยารักษามะเร็งแล้วเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง แต่ไม่มีความชัดเจนว่าเบิกจาก Cancer Anywhere ได้หรือไม่ หรือเมื่อถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาแต่มีโรคอื่นร่วมด้วย รพ.ก็ต้องดูแลให้โดยที่ไม่รู้ว่าจะเบิกค่าใช้จ่ายได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น