สธ. เดินหน้าปฏิบัติการลดความแออัดภายในโรงพยาบาล สปสช. ประสานสภาเทคนิคการแพทย์ เตรียมให้บริการตรวจแล็บใกล้บ้าน ครอบคลุมตรวจวิเคราะห์ผล 24 รายการ เร่งขึ้นทะเบียนคลินิกที่ได้มาตรฐานล่าสุดผ่านการรับรองแล้ว 26 แห่ง
วันนี้ (3 ก.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้มีนโยบายให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนการให้บริการแก่ประชาชนโดยให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกประชาชนเข้ารับบริการใกล้บ้านและลดความแออัดในโรงพยาบาล
ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ผลักดันในหลายโครงการเพื่อให้ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการได้ที่จุดบริการใกล้บ้าน ลดเวลาการเดินทางมาโรงพยาบาล อาทิ การสนับสนุนให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถใช้บริการ แพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ครอบคลุม 42 กลุ่มโรค/อาการ การเร่งขยายเครือข่ายคลินิกกายภาพบำบัดร่วมเป็นหน่วยบริการรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน 4 กลุ่มโรค เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล การขึ้นทะเบียนคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นทั่วประเทศร่วมให้บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแผนงานต่อไป ภายในปี 66 นี้ สปสช. จะเปิดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถรับบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือแล็บ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการใกล้บ้าน (Lab Anywhere) ได้ ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันผลักดันกับสภาเทคนิคการแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทยอยรับรองและขึ้นทะเบียนคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ผ่านมาตรฐานเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของหน่วยบริการ ล่าสุดมีคลินิกที่ได้รับการรับรองแล้ว 26 แห่ง
สำหรับบริการ Lab Anywhere นี้ จะมี สปสช.เขตทั่วประเทศ เป็นผู้จัดเครือข่าย โดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่เข้าร่วมจะให้บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผล ทั้งกรณีมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือให้ไปเจาะเลือดที่บ้านในกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุหรือมีภาวะพึ่งพิง พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผลแล็บ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า Lab Anywhere จะให้บริการตรวจ 24 รายการ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีผู้ป่วยนอก (OP) ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากหน่วยบริการ โดยจะให้บริการตรวจ จำนวน 22 รายการ ใน 9 หมวด ได้แก่ 1.การตรวจหาความเข้มข้น และความผิดปกติของเม็ดเลือด 2.การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 3.การตรวจน้ำตาลสะสม 4.การตรวจระดับไขมันในเลือด 5.ตรวจการทำงานของตับ 6.การตรวจหาค่ากรดยูริก 7.การตรวจการทำงานของไต 8.การตรวจปัสสาวะ 9.การตรวจไวรัสตับอักเสบบี
อีกกรณีคือบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) จำนวน 2 รายการ ได้แก่ 1. บริการตรวจทดสอบปัสสาวะ ในกรณีสงสัยว่าการตั้งครรภ์ 2. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ สำหรับประชาชนอายุ 50-70 ปี ทุก 2 ปี ซึ่งทั้ง 2 รายการนี้ ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ